รู้จัก ! PM 2.5 เมื่อฝุ่นละอองปกคลุมกรุงเทพฯ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากที่หลายวันมานี้มีหลายคนสังเกตว่ามีหมอกควันปกคลุมทั่วกรุงเทพฯ แต่เพจดังได้ยืนยันว่าไม่ใช่หมอกควันแต่อย่างใด แต่เป็นมลพิษทางอากาศ อย่าง ฝุ่นพิษขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ทำให้กรีนพีซ ได้ออกมาเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษชี้แจงเรื่องนี้และ PM2.5 เข้ามาคำนวณในดัชนีคุณภาพอากาศ

วันนี้ (24 ม.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจดังอย่าง “ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว” ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “ที่อากาศ 2-3 วันที่ผ่านมา มันขมุกขมัวนั้นไม่ใช่หมอก แต่คือ PM 2.5 คือฝุ่นอนุภาคขนาดจิ๋ว ที่สามารถผ่านขนจมูก ขี้มูก โพรงจมูก คอ หลอดลมใหญ่ ขนพัดโบก เสมหะ หลอดลมเล็ก หลอดลมย่อย ไปตกที่ถุงลมได้โดยตรง ดังนั้นมันสามารถพาอะไรก็ตามที่อยู่ในตัวมัน เช่นหากเป็นฝุ่นที่มีสารเคมี ก็เอาสารเคมีไป ตกในปอดได้ง่ายขึ้น ดังนั้นช่วงนี้ใครที่ทำงานกลางแจ้งอาจจะต้องระมัดระวังในกรณีมีโรคทางเดินหายใจอยู่เดิม”  โดยอ้างอิงที่มาจาก http://aqicn.org/c…/thailand/bangkok/chulalongkorn-hospital/ พร้อมทั้งแนะนำหน้ากากที่สามารถใส่ป้องกันได้
 

ขณะที่เพจดังอย่าง "Drama-addict" ได้โพสต์ยืนยันว่า หมอกลงเช้านี้ที่ กทม นั่นไม่ใช่หมอก แต่เป็นฝุ่นควันอนุภาคขนาดเล็กจิ๋ว ซึ่งมักเกิดจากไฟป่าหรือมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม หากมีในระดับสูงแล้วสูดเข้าไปจะเป็นผลเสียกับสุขภาพได้ ซึ่งของไทยตอนนี้ แดงเถือกเลย แต่ถ้าดูจากแอพลลิเคชั่นพวกเช็คมลภาวะอากาศ จะยังปรากฎสัเขียวเหมือนอากาศดีอยู่ เพราะเขาใช้ค่า PM 10 ซึ่งเป็นอนุภาคที่ใหญ่กว่าเป็นค่าชี้วัด ส่วนของเว็บไซต์ต่างประเทศ เขาใช้ค่า PM 2.5

ด้านกรีนพีซประเทศไทย ได้ออกมาเรียกร้องให้ กรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อมูลที่ชัดเจนด้านมลพิษทางอากาศ โดยนำ PM2.5 เข้ามาคำนวณในดัชนีคุณภาพอากาศ เพื่อประชาชนจะได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริงและพร้อมป้องกันตัวจาก PM2.5 และขอให้ประชาชนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) เพื่อยกระดับมาตรฐานการวัดคุณภาพอากาศในประเทศไทย พร้อมกับอธิบายว่า PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM 2.5) คือฝุ่นที่เล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง PM 2.5 แบ่งเป็นฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรง และจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจน

สำหรับสาเหตุการเกิดมลพิษมาจาก การคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะไอเสียจากยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ ทั้ง ดีเซลและแก๊สโซฮอล์เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของ PM 2.5 การเผาในที่โล่ง มีการคาดการณ์ว่า มีการเผาในที่โล่งปล่อยฝุ่นพิษ PM 2.5 มากถึง 209,937 ตันต่อปี รวมถึง หมอกควันพิษในภาคเหนือตอนบนของไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งผลิตป้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่  ส่วนการผลิตไฟฟ้า มีการคาดการณ์ว่า ปล่อย PM 2.5 ราว 31,793 ตันต่อปี ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 231,000 ตันต่อปี และออกไซด์ของไนโตรเจน 227,000 ตันต่อปี แม้ว่าภาคการผลิตไฟฟ้าจะเป็นแหล่งกําเนิด PM 2.5 เป็นลําดับรองจากการเผาในที่โล่งและการขนส่ง แต่การปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนต่อปีจากภาคการผลิตไฟฟ้านั้นมีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาแหล่งกําเนิดต่างๆซึ่งนําไปสู่เกิด PM 2.5  และอุตสาหกรรมการผลิต หนึ่งในพื้นที่ที่พบมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุดคือ พื้นที่เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จังหวัดระยอง พบสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากสารเคมีและอุตสาหกรรม หรือในเขตควบคุมมลพิษหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี พบฝุ่นละอองจากกิจกรรมการผลิตปูนขาวและปูนซีเมนต์

ขณะที่จากการศึกษาโดย Institute for Health and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง จึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง ก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรในประเทศไทย ประมาณ 50,000 คนต่อปี

อ่านเพิ่มเติม 
“PM 2.5” ฝุ่นละอองขนาดเล็กแต่เป็นเรื่องใหญ่ต่อสุขภาพ 
กรมควบคุมมลพิษแจง กรุงเทพฯเกิดสภาพอากาศนิ่ง ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ