" 3 เรื่องควรคิด" ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถอีวี
“กรุงศรี ออโต้” แนะ 3 เรื่องควรคิด ก่อนเลือกซื้ออีวี
รถอีวียังคงเป็นกระแสแรงข้ามปี ทั้งในด้านยอดขายที่ได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการอุดหนุนด้านภาษี และความคึกคักจากการเข้ามารุกตลาดไทยของแบรนด์ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (BEV) ในปีนี้จะอยู่ที่ระหว่าง 25,000-35,000 คัน ซึ่งเป็นการเติบโตกว่า 2 เท่าจากปี 2565 ที่ผ่านมา
เปิดรายละเอียด-ราคา เบนท์ลีย์ คอนติเนนทัล จีที รถหรูสมรรถนะสูง
ธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในไทย แนวโน้มเติบโตไวแต่ 'ไม่ง่าย'
ดีเดย์ 10 ม.ค. ดอกเบี้ยเช่าซื้อ รถยนต์-จยย. จะเป็นธรรมกว่าเดิม !!
แต่การจะตัดสินใจซื้อรถอีวีสักคัน อาจต้องใช้การตัดสินใจมากกว่ารถยนต์ที่คุ้นเคย เพราะก็ถือว่ายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ใช้ ซึ่งมีคำถามมากมายว่าจะคุ้มค่าเหมาะสมกับการใช้งาน รวมถึงมีสิ่งพื้นฐานรองรับหรือไม่ ลองพิจารณา 3 ตัวช่วยหลักๆ ก่อนตัดสินใจ
1. เลือกแบรนด์และรุ่นที่เหมาะกับตนเอง
ปัจจุบันรถอีวีมีให้เลือกหลากหลาย แบรนด์ดังที่เราคุ้นเคยและแบรนด์ทางเลือกต่างก็ทยอยเปิดตัวโมเดลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมแล้วถึงกว่า 20 แบรนด์รถยนต์ และ 50 แบรนด์รถจักรยานยนต์
ผู้ซื้อรถอีวีจึงสามารถเลือกแบรนด์และรุ่นที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์และกำลังซื้อของตนเอง ในขณะที่ผู้ให้บริการสินเชื่อยานยนต์ก็ให้บริการสินเชื่ออีวีที่ครอบคลุมทุกประเภทรถ ผู้ที่ต้องการจะซื้อรถจึงไม่ต้องกังวลในการขออนุมัติสินเชื่อ
2. เช็กความคุ้มครองประกันภัย
ประกันภัยรถอีวีแตกต่างกับประกันภัยรถทั่วไปอย่างไร?
อันที่จริง ประกันภัยรถที่เราชำระเบี้ยทุกปีนั้น คือ ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งให้ความคุ้มครองรถทุกประเภทเหมือนกันใน 3 ส่วน คือ บุคคลภายนอก บุคคลในรถ และความเสียหาย/สูญหาย/ไฟไหม้ของตัวรถยนต์ที่เกิดจากอุบัติเหตุ
ในส่วนของแบตเตอรี่ของรถอีวี ซึ่งเทียบได้กับเครื่องยนต์ของรถสันดาปภายใน จะเป็นการรับประกันจากผู้ผลิต ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละแบรนด์และโมเดล ผู้ซื้อรถอีวีจึงควรตรวจสอบความคุ้มครองอย่างถี่ถ้วน เพื่อวางแผนค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยหากต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติม ก็สามารถเลือกซื้อประกันคุ้มครองอะไหล่ (Extended Warranty) ได้เช่นกัน
3. หาตัวช่วยเพิ่มความอุ่นใจ เกิดเหตุฉุกเฉิน
กรณีของรถอีวี ผู้ใช้มือใหม่มักกังวลเรื่องการชาร์จไฟฟ้า ดังนั้น การหาข้อมูลเพื่อวางแผนการเดินทางจึงเป็นเรื่องจำเป็น ปัจจุบัน ผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ได้พัฒนาแอปพลิเคชันโดยมีฟีเจอร์การค้นหาสถานีชาร์จเข้ามาแล้ว หนึ่งในนั้นคือ แอปพลิเคชัน GO by Krungsri Auto ก็สามารถใช้ฟีเจอร์ “สถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Station)” เพื่อตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งของสถานีชาร์จ สถานะพร้อมใช้งาน และประเภทเครื่องชาร์จของแต่ละสถานีได้แบบเรียลไทม์
ที่มา : กรุงศรี ออโต้