ใครๆ ก็ไม่อยาก “สมองเสื่อม” แท้จริงแล้ว ภาวะสมองเสื่อมคืออะไร

ภาวะ “สมองเสื่อม” คือ อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานของสมองที่เสื่อมลงหลายๆ ด้าน ทั้งด้านความจำ ความคิด การใช้เหตุผล การใช้ภาษา การเรียนรู้สิ่งใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การตัดสินใจ อารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพ ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ทั้งในด้านการงาน การเข้าสังคม และชีวิตส่วนตัว การทำกิจวัตรประจำวัน จนกระทั่งในที่สุดผู้ป่วยหลายๆ คนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
ภาวะ “สมองเสื่อม” เกิดจากการสูญเสียเซลล์สมอง โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจึงลุกลามไปยังสมองส่วนอื่น ๆ เป็นความถดถอยในการทำงานของสมอง ภาวะ “สมองเสื่อม” ไม่ได้เป็น “โรค” แต่เป็น “ภาวะ” หนึ่งของสมองที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ได้แก่
1) โรคอัลไซเมอร์
2) ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง เช่น สมองเสื่อมจากภาวะสมองขาดเลือด อาจเกิดจากการตีบหรือตันของหลอดเลือด หรือเกิดจากลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง หรือสมองเสื่อมจากภาวะเลือดออกในสมอง ผู้ป่วยมักมีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคความดันโลหิตสูง บางรายมีหลอดเลือดโป่งพองในสมอง ทำให้หลอดเลือดในสมองแตกในที่สุด ซึ่งปัจจัยการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ อายุที่เพิ่มขึ้น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ โรคอ้วน ไม่ออกกำลังกาย ฯ
3) มีเนื้องอกในสมอง
4) สมองเสื่อมจากภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง เกิดจากมีน้ำเลี้ยงในสมองคั่งทำให้ช่องในสมองขยายใหญ่ขึ้นจนไปเบียดเนื้อสมอง จนทำให้มีภาวะสมองเสื่อม
5) โรคพาร์กินสัน
6) การติดเชื้อที่มีผลทางสมอง เช่น ซิฟิลิส ไวรัสสมองอักเสบและไวรัสเอดส์ ทำให้เซลล์สมองตาย และเกิดภาวะสมองเสื่อม
7) การติดสุราเรื้อรังเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม
8) ภาวะสมองขาดออกซิเจน เช่น มีอาการชักซ้ำติดต่อกัน หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นระยะเวลานาน
9) ขาดสารอาหารบํารุงสมองจําพวกวิตามินบี 12
10) เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
ในส่วนของโรคอัลไซเมอร์นั้น นับเป็นสาเหตุสำคัญของกลุ่มอาการสมองเสื่อม เป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมมากที่สุด พบได้ถึงร้อยละ 60-70 ของภาวะสมองเสื่อม โดยทุกๆ 68 วินาที จะมีผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นหนึ่งรายในโลก คาดว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยกว่า 50 ล้านคน สำหรับในประเทศไทย ในปี 2558 มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 600,000 คน และคาดว่าในปี 2573 จำนวนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,117,000 คน และโรคอัลไซเมอร์นั้นเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) เป็นโรคที่เกิดจากการตายของเซลล์สมอง โดยไม่มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นทดแทน ทำให้การทำงานของสมองเสื่อมลง ซึ่งการที่เซลล์สมองบางส่วนตายไป มีผลทำให้การส่งสารสื่อประสาทลดลง ผู้ป่วยโรคนี้จะสูญเสียความทรงจำและการเรียนรู้ เมื่อเวลาผ่านไปอาการจะถดถอยไปเรื่อยๆ เนื่องจากเซลล์สมองตายเพิ่มมากขึ้น ได้มีความพยายามในการวิจัยเพื่อหาสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ เมื่อนำสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มาตรวจดู พบว่า มีสารชนิดหนึ่ง ชื่อว่า “เบต้าอะไมลอยด์” (Beta-amyloid) โดยสารนี้เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่สะสมในสมอง และเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดออกไปได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ โปรตีนชนิดนี้จะเข้าไปเกาะติดกับเซลล์ประสาทในสมอง ปริมาณสะสมเพิ่มขึ้น เรื่อยๆ จนกระทั่งเซลล์ประสาทค่อยๆ เสื่อมลง หมดสภาพการทำหน้าที่ในที่สุด ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำและสภาวะการเรียนรู้ไป
ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่
1) พันธุกรรม
2) การดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลทำลายเนื้อเยื่อสมองและเซลล์ประสาทสมอง และยังทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองด้วย
3) โรคแทรกซ้อนในสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตก โรคหลอดเลือดสมองตีบ ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงเซลล์สมองไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้เซลล์สมองขาดสารอาหารและฝ่อในที่สุด
อาการต่างๆ ของโรคอัลไซเมอร์ โรคอัลไซเมอร์ส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมความคิด ความทรงจำ และการใช้ภาษา ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น หลงลืมซึ่งจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หลงลืมสิ่งของที่ใช้เป็นประจำ มีปัญหาในการใช้ภาษา ลืมคําศัพท์ง่าย ๆ นึกคำหรือประโยคที่จะพูดไม่ออก นึกชื่อสถานที่สิ่งของไม่ออก จำบุคคลที่เคยรู้จักไม่ได้ ลืมสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมบทสนทนาหรือเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ทำอะไรซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ เช่น ถามคำถามเดิมซ้ำๆ วางของผิดที่ผิดทาง เอาไปวางในที่ที่ไม่น่าจะไปวาง เช่น เอานาฬิกาไปใส่ในโถน้ำตาล สับสนเรื่องเวลา สถานที่ และหลงทาง ความสามารถในการตัดสินใจต่ำ การตัดสินใจกลายเป็นเรื่องยาก ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้น้อยลง ลังเลที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด กระวนกระวาย วิตกกังวล หวาดระแวง ซึมเศร้า หรือมีอาการสับสนเป็นช่วงๆ อาการเหล่านี้เป็นมากขึ้นจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ โดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในระยะแรกใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี ญาติมักจะไม่สังเกตเห็นความผิดปกติมากนัก อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นตามลำดับ
สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์
1) สัญญาณเริ่มแรก
- จำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ค่อยได้
- จำชื่อคนหรือชื่อสถานที่ไม่ได้
- บวกลบคูณหารเลขง่าย ๆ ไม่ได้
2 สัญญาณระยะท้าย ๆ
- ลืมว่าแปรงฟันหวีผมทำอย่างไร
- ลืมชื่อ ข้าวของเครื่องใช้ประจำวัน เช่น จาน โต๊ะ บ้าน ส้ม
- เดินหลงทางไปจากบ้าน
การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ผู้เชี่ยวชาญให้การยอมรับในการตรวจวินิจฉัยภาวะอัลไซเมอร์ คือ มีการตรวจด้วยเครื่อง PET Scan โดยการใช้สาร C11-PIB (Pittsburgh Compound B) ซึ่งเทคนิคการตรวจด้วยสาร Pittsburgh Compound B นี้ มีข้อดี คือ ตรวจหาสารเบต้าอะไมลอยด์ในสมองผู้ป่วยได้ตั้งแต่ระยะที่ยังไม่ปรากฏอาการ รวมทั้งผู้ป่วยไม่ต้องเจาะไขสันหลังเพื่อตรวจดูภาวะผิดปกติของโรคอัลไซเมอร์ ให้ผลการตรวจที่แม่นยำและผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัว ด้วยเทคนิคการตรวจนี้ สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 15 ปี ทำให้รู้ล่วงหน้าว่า ตนเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ ช่วยให้วางแผนและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เหมาะสมได้
โรคอัลไซเมอร์ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาเป็นการบรรเทาอาการของโรค มีเพียงการให้ยาเพื่อชะลออาการเสื่อมของสมองในระดับเล็กน้อยและระดับปานกลาง ไม่ให้เข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมระดับรุนแรง และเพื่อยืดระยะเวลาให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้นานที่สุดเท่านั้น อย่างไรก็ดี เราสามารถร่วมกันสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยได้ ใส่ใจ เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย จัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมเพื่อให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และประคับประคองให้ผู้ป่วยอยู่ดีมีสุขมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
ที่มา : 1) ข้อมูลสถิติ : สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข (ข่าวเพื่อสื่อมวลชน 21 กันยายน 2559)
2) บทความ โรคอัลไซเมอร์ : สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีรักษา และแนวทางป้องกัน ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
3) คู่มือ ทำความเข้าใจกับภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย