.
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ต้องเสด็จจากแผ่นดินไทย กลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะรถพระที่นั่งวิ่งผ่านวัดเบญจมบพิตร ไปยังสนามบินดอนเมือง พระองค์ทรงได้ยินเสียงใครคนหนึ่งตะโกนขึ้นมาดังๆว่า "ในหลวง ! อย่าละทิ้งประชาชน ! " และเสียงนั้นจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระองค์ทรงวิริยะอุตสาหะศึกษาเล่าเรียน เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ และดูแลประชาชนของพระองค์ตราบจนลมหายพระทัยสุดท้ายเลยทีเดียว..และเนื่องด้วยพระบรมราชชนก ซึ่งได้รับการถวายพระสมัญญานาม ‘พระราชบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย’ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ จึงได้ตั้งพระปณิธานว่า “คนไทยทุกคนต้องได้รับโอกาสการรับการบริการรักษาอย่างดีที่สุด ได้รับการบำบัดป้องกันอย่างดีที่สุด เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า” ซึ่งพระองค์ทรงหมายความเช่นนั้นจริงๆ
ปู่ดาว วองอ (เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2481) พออายุได้ 15 ก็ตรวจพบว่าเป็นโรคเรื้อน จึงไม่ได้เรียนต่อและต้องอยู่แต่บ้าน กับแม่และพี่สาวที่ทำอาหารขาย เมื่อชาวบ้านรู้ว่ามีคนเป็นโรคเรื้อนซึ่งเป็นโรคติดต่อในบ้าน จึงเริ่มค้าขายกันไม่ได้ ปู่ดาวกลัวว่าคนในครอบครัวจะอดตายเพราะค้าขายไม่ได้ จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านมากรุงเทพฯ แต่เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ความหวังที่จะมารักษาตัวกลับดับวูบเมื่อมีคนบอกว่าคนเป็นโรคนี้ควรจะกินยาตายเสียมากกว่า เพราะเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษา และใครๆก็กลัว
หากเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จมาเยี่ยม ‘สถาบันราชประชาสมาสัย’ ซึ่งเป็น 1 ในโครงการในพระราชดำริ ให้เป็นสถานดูแลบำบัดฟื้นฟู และค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อน รวมทั้งฝึกอาชีพให้ผู้ป่วยด้วย และได้พบกับปู่ดาว ซึ่งมารอยื่นถวายฎีกาเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระองค์ทั้งที่มีใครหลายคน ณ ที่นั้นพยายามกีดกันเพราะกลัวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ จะทรงติดโรคเรื้อนจากปู่ดาว
แต่ทว่านอกจากพระองค์จะไม่ทรงรังเกียจแล้ว พระองค์ยังจับมือปู่ดาวที่กุดด้วนเพราะโรคร้ายขึ้นมาทอดพระเนตร และตรัสถามว่า..มือเป็นอย่างนี้แล้วกินข้าวได้อย่างไร ปู่ดาวตอบว่า..เวลากินข้าวก็เอาช้อนใส่มือแล้วรัดหนังสติ๊กแล้วจึงตักข้าวกิน พระองค์จึงทรงรับว่าจะช่วยปู่ดาว และนับจากวันนั้นชีวิตของปู่ดาวที่ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะโรคร้ายจนคล้ายกับตกนรกแล้ว จึงได้มีโอกาสกลับขึ้นมาอยู่บนดินเช่นคนอื่นๆ เพราะพระเมตตาของพระองค์โดยแท้
ใช่แต่เพียงปู่ดาวเท่านั้นที่พระองค์ทรงช่วยเหลือไว้ให้กลับมาใช้ชีวิตต่อไปได้เช่นคนอื่นๆ หากทว่าพระองค์ยังทรงช่วยเหลือประชาราษฎร์อีกมากมายนับไม่ถ้วน โดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นใคร โดยตั้งแต่ปีแรกที่ทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็เสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วทุกตารางนิ้วของแผ่นดินไทย และทรงพบว่าปัญหาเรื่องสุขภาพของประชาชนนั้นมีมากมาย เพราะการแพทย์ยังไม่ทั่วถึง พระองค์จึงทรงตั้งคณะแพทย์ให้ตามเสด็จไปดูแลตรวจรักษาประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารทันที รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บริษัทอู่เรือกรุงเทพฯ จำกัด ต่อเรือยนต์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อพระราชทานให้สภากาชาดไทยใช้เป็นเรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ลำแรกของโลก ทำหน้าที่รักษาพยาบาลประชาชนที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำต่างๆ ซึ่งไม่มีถนนเข้าถึง และอยู่ห่างไกลโรงพยาบาลประจำจังหวัดมาก โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ ทั้งสิ้น โดยพระราชทานชื่อว่า "เวชพาหน์" (อ่านว่า เวด-ชะ-พา)
และนอกจากนี้ก็ยังมี..
โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน : เพื่อตรวจรักษาราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่าใดๆทั้งสิ้น
โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ : เพื่อบรรเทาความเจ็บป่วยของราษฎรที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเดิมทีนิคมนี้มีสถานีอนามัยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน : เพื่อส่งทันตแพทย์อาสาสมัครออกช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็ก นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดาร
โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัย : ด้วยทรงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีศัลยแพทย์ จึงได้มีการ
รวบรวมจัดทำทำเนียบศัลยแพทย์อาสา แล้วก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์ขึ้น ต่อมาทรงรับวิทยาลัยศัลยแพทย์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย’ ในภายหลัง
โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน : เนื่องจากทรงพบว่ามีราษฎรที่เจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้เป็นจำนวนมาก จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดหน่วยแพทย์อาสาสมัครผลัดกันออกไปปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เสด็จแปรพระราชฐาน
โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์ : เพื่อคัดเลือกคนในหมู่บ้านรับการฝึกอบรมการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การรักษาโรคอย่างง่าย เพื่อสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมหมู่บ้านได้
อีกทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้ง ‘ทุนอานันทมหิดล’ เพื่อให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถได้มีโอกาสเรียนจนถึงที่สุด เพื่อนำความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนาวงการแพทย์ไทย และช่วยรักษาผู้ป่วยในประเทศให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยความพิเศษของทุนการศึกษานี้คือเป็นทุนที่ไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ‘ผู้ให้ทุน’ และ ‘ผู้ได้รับทุน’ คือเป็นทุนให้เปล่าอีกด้วย
นับเป็นความตั้งพระทัยในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรอย่างแท้จริง โดยทรงยึดมั่นที่จะสืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก ‘พระบิดาแห่งการแพทย์’ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ‘พระมารดาของการแพทย์ชนบท’ ในการที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป...
บทความโดย...ฐานวดี สถิตยุทธการ