เช็กอาการ-วิธีป้องกัน ‘ข้อสะโพกเสื่อม’ โรคที่เป็นได้ทุกวัย
เปิดข้อมูลอาการ และวิธีป้องกัน โรคข้อสะโพกเสื่อมที่สามารถเป็นได้ทุกวัย รู้ชัดก่อนช่วยยืดอายุใช้งานให้นานที่สุด
‘ข้อสะโพก’ เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะเมื่ออายุน้อยผิวข้อจะมีผิวเรียบ มัมวาว แต่พออายุมากขึ้นผิวข้อจะเสื่อมสภาพ รวมถึงเยื่อหุ้มข้อ เส้นเอ็นรอบข้อ และกระดูกที่ประกอบเป็นข้อ ประกอบกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นตามอายุ ทำให้โครงสร้างภายในข้อไม่ปกติ จึงมักเกิดความผิดปกติภายในข้อ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชิวิตประจำวันอย่างมาก
ดังนั้นหากเรารู้ทันโรคข้อสะโพก และรักษาได้เร็ว ย่อมช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ ทีมข่าวนิวมีเดียพีพีทีวีได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจมาดังนี้
‘มณีแดง’นวัตกรรมต้านชราฝีมือคนไทย ความหวังใหม่ครั้งแรกของโลก
ค้นพบยีนก่อ “ลมชัก” ในผู้ใหญ่ ความหวังใหม่ตรวจวินิจฉัยโรค
ข้อสะโพกคืออะไร
สำหรับ ข้อสะโพก เป็นอวัยวะที่ใช้ในการช่วยพยุงและรับน้ำหนักตัว ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะข้อสะโพกเสื่อมย่อมจะมีอาการปวด เคลื่อนไหวลำบาก ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
อาการโรคข้อสะโพกเสื่อม
- มีอาการปวดร่วมกับอาการขัดที่ข้อ
- หากไม่รับการรักษาข้อสะโพกเสื่อม อาจเกิดกระดูกงอกรอบๆ ข้อ ถ้ากระดูกอ่อนที่รองอยู่สึกหายไปหมด
- อาจทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง เมื่อกระดูกเสียดสีกัน และขาจะสั้นลง
- หากอาการปวดรุนแรงจนต้องอยู่นิ่ง ๆ ไม่สามารถหมุน หรือเหยียดข้อสะโพกได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมข้อสะโพกอ่อนแอจากการใช้งานที่น้อยลง อาจส่งผลทำให้ขาอ่อนแรง
เช็กกลุ่มใดเสี่ยง
- ผู้สูงอายุ โดยเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย
- ผู้เคยประสบอุบัติเหตุ ที่มีการบาดเจ็บโดยตรงที่ข้อสะโพก
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาบางประเภท เป็นระยะเวลานาน เช่น สเตียรอยด์ทำให้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณข้อสะโพกได้
- น้ำหนักตัวมาก หรือ เล่นกีฬา ทำกิจกรรม หรือทำงาน ที่ก่อให้การบาดเจ็บต่อข้อสะโพกเป็นเวลานาน
วิธีตรวจรักษา
ในการวินิจฉัยโรคข้อสะโพกเสื่อม แนะนำให้เข้ารับการรักษากับแพทย์ โดยแพทย์จะทำการการซักประวัติ และอาการเจ็บป่วย ดังต่อไปนี้
- การตรวจร่างกาย
- การเอกซเรย์
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- การสแกนด้วยคอมพิวเตอร์
ป้องกันข้อสะโพกเสื่อมด้วยตัวเอง
การรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอาการปวด ป้องการการยึดติด และเพิ่มสมรรถภาพในการใช้งาน การป้องกันรักษาด้วยตนเองเบื้องต้น สามารถทำได้ดังนี้
- การลดน้ำหนักกรณีที่มีน้ำหนักมาก
- หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อสะโพก เช่น การยกของหนัก เป็นต้น
- การใช้ไม้เท้าพยุงเดิน
- การบริหาร ยืด เหยียด เพื่อป้องกันภาวะข้อยึดติด โดยปฏิบัติตามแนวทางการรักษาของแพทย์
- การรับประทานยา
- การทำกายภาพบำบัด ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีการข้างต้นแล้วยังมีอาการปวดมาก
- การผ่าตัดซึ่งมีหลายวิธี โดยจะพิจารณาจากระดับความรุนแรง สาเหตุของภาวะเสื่อมร่วมกับอายุ และลักษณะการใช้งาน
ผ่าตัดลดเสี่ยง
สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัดโรคข้อสะโพกเสื่อม มีหลากหลายวิธีดังนี้
- การผ่าตัดส่องกล้องล้างข้อสะโพก
- การผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก เป็นการผ่าตัดเพื่อหมุนพื้นผิวของข้อที่ปกติเข้าสัมผัสกัน จะใช้เมื่อมีบริเวณใดบริเวณหนึ่งเสียหาย แต่บริเวณอื่นปกติ
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เพื่อทดแทนกระดูกอ่อนส่วนที่เสื่อมด้วยข้อเทียม
- การรักษาด้วยวิธีนี้ได้รับความนิยม คือ กระดูกอ่อนด้านกระดูกเบ้าสะโพก และหัวกระดูกต้นขา เนื่องจากวัสดุที่ใช้ผลิตข้อสะโพกเทียมมีการพัฒนาจากเดิม ทำให้มีอายุการใช้งานที่ดีขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล และ โรงพยาบาลสิรินธร สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร