"หูดหงอนไก่" จากไวรัส HPV รีบเช็กสายพันธุ์ ก่อนพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูก
หูดหงอนไก่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) สามารถติดเชื้อได้หลายสายพันธุ์พร้อมกัน อาจพัฒนาสู่มะเร็งปากมดลูกได้
หูดหงอนไก่ พบได้บ่อยส่วนใหญ่จะพบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และหากคนใดคนหนึ่งมีการติดเชื้อโรคหูดหงอนไก่ ร้อยละ 25-65 ของคู่นอนจะมีการติดเชื้อตามไปด้วย หูดหงอนไก่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ แบ่งเป็นชนิดความเสี่ยงสูงซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้แก่ สายพันธุ์ 16, 18 เป็นต้น และชนิดความเสี่ยงต่ำซึ่งไม่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11 เป็นต้น
สารพัด "โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์" ควรป้องกันและสังเกตอาการ
วัคซีน HPV ผู้ชายก็ฉีดได้ ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อก่อโรคมะเร็ง
แต่หูดหงอนไก่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก เพราะธรรมชาติของการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีอาจติดเชื้อได้หลายสายพันธุ์พร้อมกัน หากติดสายพันธุ์ชนิดความเสี่ยงสูงร่วมด้วยก็จะมีโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกขึ้น
ร่างกายกำจัดเชื้อเองได้
การติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการเพราะร่างกายสามารถกำจัดเชื้อได้เอง ยกเว้นผู้ที่มีภูมิต้านทานในร่างกายต่ำ อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่มีอาการก็สามารถถ่ายทอดเชื้อไปให้ผู้อื่นได้ สังเกตได้จากคู่แต่งงานที่มาพบแพทย์ พบว่าฝ่ายหญิงจะมีการติดเชื้อหูดหงอนไก่ แต่ฝ่ายชายไม่มีหูดหงอนไก่เกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
"หูด" จากไวรัส HPV เป็นได้ทุกเพศทุกวัย หายได้ถ้ารักษาอย่างถูกต้อง
ระยะฟักตัวและลักษณะเฉพาะ
เชื้อหูดหงอนไก่มีระยะในการฟักตัวประมาณ 3 สัปดาห์จนถึง 8 เดือน เชื้อไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปรบกวนการแบ่งตัวของเซลล์ชั้นล่างสุดของเยื่อบุ ทำให้เซลล์ที่แบ่งตัวเปลี่ยนรูปร่างและหน้าที่จนควบคุมไม่ได้ เกิดเป็นเนื้องอกนูนออกมา
ลักษณะเฉพาะของหูดหงอนไก่ คือ เป็นติ่งเนื้อสีชมพูหรือขาว ผิวขรุขระเป็นหยักคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ บริเวณที่พบส่วนมากจะเป็นบริเวณปากช่องคลอด รองลงมาคือที่แคมคลิตอริส รอบทวารหนัก ผนังช่องคลอด และปากมดลูก ในขณะที่บางรายมีเลือดออกจากก้อน คัน ตกขาวผิดปกติ หรือแม้แต่แสบร้อนที่อวัยวะเพศ หูดหงอนไก่จะสามารถขยายจำนวนได้โดยได้รับการกระตุ้นจากความร้อน ความชื้น
การตรวจวินิจฉัยระยะเริ่มแรก
- ถ้าเป็นติ่งเนื้อสีชมพูงอกบานออกทางด้านนอกคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ สำหรับผู้ชายมักเป็นที่ด้านในของหนังหุ้มปลายองคชาติ ผู้ชายรักเพศเดียวกันพบรอบทวารหนัก ผู้หญิงพบที่ปากช่องคลอด
- หูดชนิดแบนราบพบที่ปากมดลูก ลักษณะแบนราบ ส่วนใหญ่เกิดจาก HPV 16 เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก
- หูดชนิดกลุ่มลักษณะเป็นตุ่มขนาด 3–4 มิลลิเมตร สีน้ำตาลแดง ม่วง หรือดำ ผิวเรียบ หรือขรุขระเล็กน้อย
- หูดก้อนใหญ่ลักษณะเป็นหูดขนาดใหญ่ที่โตเร็วมาก จนกลายเป็นก้อนใหญ่ปกคลุมอวัยวะเพศทั้งหมด
ปัจจุบัน การรักษาหูดหงอนไก่ทำได้หลายวิธีทั้งการใช้ยา การผ่าตัด การจี้เย็น จี้ร้อนด้วยไฟฟ้า ทำเลเซอร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน แต่มีโอกาสเกิดซ้ำขึ้นได้ โดยทั่วไปหูดที่มีขนาดเล็กกว่า ย่อมจัดการได้ง่ายกว่า ถ้าขนาดเล็กกว่า 1 ตารางเซนติเมตร แพทย์จะพิจารณาสั่งยาให้ทานยา และพบว่าคนไข้ดีขึ้น โรคหูดหงอนไก่เมื่อเคยเป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นได้อีกถึงร้อยละ 70 ในระยะเวลา 6 เดือนหลังเข้ามาพบแพทย์ในครั้งแรก สาเหตุที่กลับมาเป็นซ้ำจะเกิดจากการติดเชื้อซ้ำจากคู่นอน
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน