ทางเลือกรักษา ผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก ไร้แผลหายขาดได้
ไทรอยด์ โรคเรื้อรังที่มีโอกาสหายได้ หากอยู่ในการดูแลของแพทย์ การผ่าตัดนับเป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาได้ผลหายขาดกว่า 95 % ซึ่งวิวัฒนาการทางแพทย์ขณะนี้ สามารถผ่าตัดแบบไร้แผลได้โดยการสอดกล้องทางปาก
ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อมีลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ส่วนล่างของกลางลำคอ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ทำหน้าที่ในการเผาผลาญให้เกิดพลังงานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน การเกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อัตราส่วนประมาณ 4ต่อ1 และก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งประมาณ 5 – 10% หากพบว่าต่อมไทรอยด์โตอาจทำการผ่าตัดออกเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของต่อมไทรอยด์
เช็ก 10 อาการเตือน “ไทรอยด์” รู้ทันรักษาได้ ก่อนเสี่ยงหัวใจล้มเหลว
สัญญาณ “มะเร็งต่อมไทรอยด์” มะเร็งที่แพร่ไปต่อมน้ำเหลือง-กระดูกได้ง่าย
การรักษาไทรอยด์
ขึ้นอยู่กับเซลล์ที่เจาะออกมาว่าเป็นเซลล์ปกติหรือเซลล์มะเร็ง หากเป็นเซลล์ปกติและก้อนมีขนาดเล็ก อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ต้องติดตามผลเป็นระยะ หรือผ่าออกได้หากเป็นความต้องการของคนไข้ แต่อาการและข้อบ่งชี้ต่อจากนี้ จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเท่านั้น
- เจาะเซลล์ด้วยวิธี FNA (Fine Needle Aspiration) แล้วพบความผิดปกติของเซลล์ที่เข้าได้กับมะเร็งต่อมไทรอยด์ หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
- อัลตราซาวนด์ต่อมไทรอยด์แล้วพบความผิดปกติที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
- มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ร่วมกับมีอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก มีการกดเบียดอวัยวะแถวลำคอ
สำหรับมะเร็งต่อมไทรอยด์ หากผ่าตัดเอาก้อนและต่อมไทรอยด์ออกจนหมดแล้ว คนไข้จะต้องกลืนแร่สารรังสีไอโอดีน ตรวจซ้ำตลอดทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี และกินฮอร์โมนไทรอยด์เสริม จะทำให้คนไข้มีโอกาสหายขาดจากโรคถึงร้อยละ 95
มีทางเลือกการผ่าตัดไทรอยด์ทั้งหมด 4 วิธี ตามความเหมาะสมของอาการและการวินิจฉัยของแพทย์
- ผ่าตัดแบบเปิดบริเวณกลางลำคอเหมาะกับก้อนที่มีขนาดใหญ่กว่า หรือโตทั้งสองข้าง หรือคนไข้เคยผ่าตัดบริเวณคอมาแล้ว วิธีนี้จะสามารถนำก้อนออกมาได้สะดวกมากกว่า ไม่มีอาการแทรกซ้อน การหยุดเลือดสามารถทำได้ง่าย แต่จะมีรอยแผลบริเวณกลางลำคอ
- ผ่าตัดด้วยกล้องบริเวณรักแร้/หน้าอก เหมาะสำหรับก้อนที่มีขนาดเล็ก และต้องการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์บางส่วนออก เพราะการผ่าตัดทำได้ทีละข้าง สามารถซ่อนบาดแผลจากการผ่าตัดได้
- ผ่าตัดแบบเปิดบริเวณหลังใบหู เหมาะสำหรับก้อนที่มีขนาดเล็ก การผ่าตัดจะมุ่งตรงไปที่เนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ มีบาดแผลเล็กซ่อนอยู่หลังใบหู
- ผ่าตัดแบบไร้แผล ส่องกล้องทางช่องปาก เหมาะสำหรับก้อนที่มีขนาดเล็ก มีระยะทางระหว่างช่องปากและไทรอยด์สั้นที่สุดเมื่อเทียบกับการผ่าตัดส่องกล้องด้วยวิธีอื่น ไม่มีรอยบาดแผลที่ผิวหนัง เสียเลือดน้อย
การผ่าตัดแบบไร้แผลเป็นอย่างไร ?
การผ่าตัดไทรอยด์ส่องกล้องทางช่องปากโดยไร้แผลเป็น(Transoral Endoscopic Thyroidectomy Vestibular Approach; TOETVA แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดสามารถทำหัตถการได้สะดวกและง่ายขึ้นจากการส่องกล้อง อีกทั้งยังลดระยะเวลาการผ่าตัดและทำให้คนไข้เจ็บปวดน้อยและฟื้นตัวเร็ว
ใครบ้างที่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดชนิดนี้ได้
- ขนาดก้อนไทรอยด์ มีขนาดไม่เกิน 4 – 6 เซนติเมตร
- ไม่ใช่มะเร็งไทรอยด์
- ผู้ป่วยไม่เคยรับการผ่าตัดที่บริเวณคอหรือคางมาก่อน
- ผู้ป่วยไม่เคยรับการฉายแสงบริเวณคอมาก่อน
- ผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการดมยาสลบเพื่อผ่าตัด
“ไทรอยด์เป็นพิษ” ส่งผลต่อร่างกายทั้งระบบ เสี่ยงหัวใจวาย-สูญเสียการมองเห็น
โรคไทรอยด์ 4 เรื่องควรรู้ อัตราเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า
ปัจจัยทำโรคไทรอยด์กำเริบ ความเครียดมีผลหรือไม่ ?
เตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- เตรียมความพร้อมของร่างกายและจิตใจ เพื่อลดความวิตกกังวล และป้องกันอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้
- ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (Complete Blood Count), ตรวจปัสสาวะ, ภาพเอกซเรย์ทรวงอก, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอื่น ๆ ถ้าจำเป็น รวมทั้งซักถามประวัติโรคประจำตัว อาการแพ้ต่าง ๆ
- เตรียมสภาพร่างกาย โดยแนะนำผู้ป่วยให้ทำความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณลำคอและช่วงบนของหน้าอกก่อนทำการผ่าตัด ฟันปลอม เลนส์เทียม ของมีค่าต่าง ๆ ถอดออกก่อนเข้าห้องผ่าตัด
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
หลังการผ่าตัด
- หลังผ่าตัดจะมีผ้าก๊อซกดใต้คางประมาณ 2 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดคั่ง
- ผู้ป่วยอาจรู้สึกติด ๆ ขัด ๆ ตึง ๆ คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมบริเวณคอหรือมีเสียงเปลี่ยนได้ ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์
- ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะและควรจะรับประทานยาดังกล่าวให้หมด ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลเมื่อจำเป็นได้ และจะมีสายให้น้ำเกลือติดอยู่ที่แขน เมื่อผู้ป่วยรับประทานได้ดีพอควร แพทย์จะเอาสายให้น้ำเกลือออก
- ควรหลีกเลี่ยงการขากเสมหะแรง ๆ การออกแรงมาก การเล่นกีฬาที่หักโหม หรือยกของหนักหลังผ่าตัดภายใน 7 วันแรก เพราะอาจทำให้แผลผ่าตัดแยกออกได้
- ควรรับประทานอาหารอ่อน อย่างน้อย 1 สัปดาห์
- การรักษาขั้นตอนต่อไปขึ้นอยู่กับผลการตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งพยาธิแพทย์จะรายงานให้แพทย์ที่ทำการผ่าตัดทราบภายใน 3 – 5 วัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : ทางเลือกรักษา ผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก ไร้แผลหายขาดได้ " target="_blank">โรงพยาบาลกรุงเทพ และ โรงพยาบาลพญาไท
ไทรอยด์อ้วน-ผอม ต่างกันอย่างไร ? เช็กสัญญาณโรคไทรอยด์
“ตาโปน” แบบไหน ? สัญญาณเตือนโรค ไทรอยด์เป็นพิษ-มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
5 สารอาหารสำหรับผู้ป่วยไทรอยด์ รักษาสมดุลฮอร์โมนโรคไม่กำเริบ