ลุกปัสสาวะบ่อยกลางดึก สัญญาณบอกโรคและภาวะหยุดหายใจ
หลายคนต้องตื่นบ่อยเวลากลางคืนเพื่อปัสสาวะ แต่รู้หรือไม่ ปัสสาวะบ่อยเกิน 2 ครั้งต่อคืนก็เสี่ยงโรคได้โดยเฉพาะภาวะการหยุดหายใจ เช็กก่อนนอน หมั่นสังเกตตัวเอง ลดความเสี่ยงหัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ
ปกติการนอนสามารถเกิดได้ต่อเนื่อง 6-8 ชม. โดยที่ไม่ต้องลุกมาปัสสาวะเลย เพราะร่างกายจะผลิตปัสสาวะน้อยลงในช่วงเวลากลางคืน ทำให้สามารถนอนหลับต่อเนื่อง โดยไม่ต้องตื่นมาปัสสาวะกลางดึก มีบางการศึกษาพบว่าการตื่นมาปัสสาวะตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป สามารถทาให้เกิดอาการง่วงเพลียกลางวัน
อาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนเกิดได้จากหลายสาเหตุ
- เบาจืด เป็นอาการของผู้ที่มีปัสสาวะในปริมาณสูงมากกว่า 2.5 ลิตรต่อวัน (คนทั่วไปไม่เกิน 2 ลิตรต่อวัน)
- โรคหัวใจ
- บริโภคคาเฟอีนก่อนนอน
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ Sleep Apnea ซึ่งพบได้บ่อยมากที่สุดในทุกสาเหตุแต่ถูกมองข้าม
ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ หรือมีการหายใจแผ่วเบาขณะหลับ ที่สืบเนื่องจากภาวะทางเดินหายใจส่วนต้นในช่องคอมีการยุบตัวระหว่างการหลับ เป็นเหตุให้ ความดันในช่องอกเพิ่มขึ้น เลือดดำจะไหลกลับเข้าหัวใจมากกว่าปกติ ร่างกายเกิดการเข้าใจผิดว่า ปริมาตรน้ำในร่างกายเยอะเกินไป แต่แท้จริงแล้วปริมาตรน้ำในร่างกายยังเท่าเดิม การรับรู้ที่ผิดไปนี้ จึงกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเคมีที่มีผลต่อการทางานของไต ลดการดูดกลับของสารน้ำและเกลือโซเดียมจากท่อไต จึงทำให้มีปัสสาวะออกเป็นจำนวนมากนั้นเองค่ะ
ในบางสาเหตุสามารถแก้ไขได้โดยการปรับพฤติกรรมได้
- ลดการดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ ก่อนเข้านอน 2-4 ชั่วโมง
- ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน และอาหารที่มีรสเค็มหรือมีปริมาณเกลือสูง
- จดบันทึกสถิติการดื่มน้ำและการปัสสาวะในแต่ละวัน
- ผู้ที่มีอาการบวมน้ำ ควรยืดหรือเหยียดขาให้สูงกว่าระดับหัวใจในช่วงก่อนนอนหรือใช้หมอนหนุนบริเวณขาขณะนอนหลับ เพื่อลดการสะสมของของเหลวบริเวณขา หรืออาจใส่ถุงน่องที่ช่วยลดอาการขาบวมร่วมด้วยได้
- จัดสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการนอนหลับ เช่น ไม่มีเสียงรบกวน แสงสว่างน้อยปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือ เลือกชุดเครื่องนอนและที่นอนที่ทำให้นอนหลับสบาย
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำสมาธิ เล่นโยคะ ฟังเพลงที่ชอบ
ดังนั้น หากท่านตื่นเข้าห้องน้ำบ่อยตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปต่อคืน ท่านอาจจำเป็นต้องรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเรื่องการนอนหลับ เพื่อพิจารณาตรวจการนอนหลับ (polysomnogram study) หาสาเหตุว่า ท่านมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ด้วยหรือไม่ และเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อาจตามมาจากการหยุดหายใจขณะหลับ เช่น หัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย