"ถ่ายเป็นเลือด"แยกให้ออกบอกริดสีดวง-มะเร็งลำไส้หรือไม่?
สัญญาณเตือนสุขภาพอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าระบบภายในมีปัญหาและอาการค่อนข้างหนักแล้ว คือ "ถ่ายเป็นเลือด" แล้วถ่ายเป็นเลือดมีอาการร่วมแบบไหนควรรีบพบแพทย์ และเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?
การถ่ายอุจจาระเป็นเลือด คือการมีเลือดปนออกมาทางทวารหนัก โดยเป็นได้ทั้ง ถ่ายเป็นเลือดสด หรือเป็นเลือดเก่า ทั้งลักษณะเป็นหยด หรือ ปนอยู่ในก้อนอุจจาระ หรืออุจจาระลักษณะเป็นสีดำ ฃฃซึ่งลักษณะที่แตกต่างกันนี้อาจบ่งบอกถึงสาเหตุและโรคที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากมีอาการถ่ายเป็นเลือด ควรสังเกตสี ลักษณะ อาการอื่นที่ร่วมด้วย เพื่อสามารถนำไปประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ได้
“ริดสีดวง” ไม่ใช่สัญญาณ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” เช็กอาการของโรคที่ถูกต้อง
ท้องผูกบ่อย 1 ใน 5 สัญญาณมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งอันดับต้นที่คนไทยเสียชีวิต
การถ่ายเป็นเลือดสามารถเป็นอาการของโรคได้หลายโรค
- ริดสีดวงทวาร ถ่ายเป็นเลือดเป็นอาการหลักของโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งเกิดจากการเบ่งอุจจาระเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก ท้องเสีย ทำให้เส้นเลือดดำที่ปลายทวารหนักบวมและไม่ยุบลงไป เกิดเป็นตุ่มริดสีดวง บางคนที่ริดสีดวงอักเสบมากๆ จนหลุดออกมาด้านนอก ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเวลาเดินหรือนั่งอย่างมาก หลังจากนั้นเวลาขับถ่ายก็จะมีเลือดออกมาเป็นหยดหลังการถ่าย หรือมีเลือดเปื้อนทิชชู่ตอนเช็ดทำความสะอาด ส่วนอุจจาระเป็นสีปกติ บางคนไม่รู้สึกเจ็บปวด อาการจะเป็นแบบเป็นๆ หายๆ แต่บางคนก็รู้สึกเจ็บบริเวณทวารหนัก คันบริเวณก้น และขับถ่ายลำบากร่วมด้วย
- ลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อ มักร่วมกับอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง มีไข้ เกิดจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคบิดทั้งมีตัวและไม่มีตัว ซึ่งมีอาการสำคัญคือถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายบ่อยๆ มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกร่วมกับมีเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด ซึ่งต้องทำการรักษาต่อไป
- เลือดออกในทางเดินอาหาร มีทั้งทางเดินอาหารส่วนบน โดยอุจจาระจะมีสีดำคล้ายยางมะตอย มีกลิ่นคาว และเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง โดยจะเป็นเลือดสดปนกับอุจจาระ
- ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ โดยมีเลือดออกเคลือบอยู่ในอุจจาระเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่บางชนิดสามารถพัฒนาเป็นมะเร็งได้ เป็นเนื้องอกที่เกิดจากกรรมพันธุ์ผิดปกติ มักพบในผู้ชายมากกว่าเพศหญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี และสามารถพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยติ่งเนื้องอกนี้เกิดได้ทุกส่วนของลำไส้ใหญ่ มีรูปร่างกลม สีออกชมพู อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อน
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ ถ้าเป็นระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการ ถ้าเป็นมากขึ้นอาจมาด้วยอาการ ท้องผูกสลับถ่ายเหลวและถ่ายมีเลือดปนในก้อนอุจจาระ มีภาวะซีด ร่วมกับปวดท้องได้ ส่วนใหญ่พบในคนที่อายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยบางคนมาหาหมอเพราะเสียเลือดจนเป็นโลหิตจาง ส่วนมากจะพบมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ในช่องท้องมากกว่าลำไส้ตรง มะเร็งชนิดนี้เกิดจากการรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำและส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ มักรักษาไม่หายขาด ต้องใช้การส่องกล้องหรือวิธีอื่นเพื่อตรวจหาโรค และตัดเนื้อร้ายออกเพื่อป้องกันการลุกลามของโรค
เบ่งแล้วเจ็บ มีเลือดออก “ริดสีดวงทวาร” ทรมานที่บอกใครไม่ได้
ถ่ายเป็นเลือด เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์? เนื่องจากอาการของริดสีดวงทวารหนัก และเนื้องอก มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย บางครั้งมีความคล้ายคลึงกัน แต่หากมีอาการดังนี้ ควรมาพบแพทย์
- ถ่ายมีมูกขาวๆ ปนกับเลือดสีคล้ำๆ
- มีภาวะซีดร่วมด้วย
- ถ่ายอุจจาระบ่อย ถ่ายไม่สุด หรืออาการถ่ายไม่ค่อยออก
- รู้สึกปวดในรูทวารหนักตลอดเวลา
- มีอาการท้องผูก สลับท้องเสีย
- ขนาดของอุจจาระเล็กลงอย่างต่อเนื่อง
- น้ำหนักลดลง
- มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
การถ่ายเป็นเลือด นอกจากจะเป็นสัญญาณอันตรายถึงโรคต่าง ๆ แล้ว แต่อาจมาจากสาเหตุอื่นได้เช่น จากการกินอาหารที่มีเลือดสัตว์เป็นส่วนประกอบ หรือกินยาบำรุงเลือดก็เป็นได้ ดังนั้นหากมีอาการถ่ายเป็นเลือด หรือสีคล้ายเลือดเล็กๆ น้อยๆ และไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ อาจลองทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำให้มากขึ้น และออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาจช่วยให้อาการดังกล่าวดีขึ้น แต่หากไม่แน่ใจ ให้มาพบแพทย์เพื่อ ตรวจอุจจาระเพื่อค้นหาภาวะเลือดออก หรือ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ก็จะเป็นการดี ทั้งนี้เพื่อแพทย์จะได้ทำการรักษาได้อย่างเหมาะสม
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช และ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ไม่ใช่แค่ท้องเสีย! “อุจจาระร่วง” โรคที่เป็นกันบ่อย ไม่ดูแลอันตรายถึงชีวิต