“ภาวะหลับใน” หาสาเหตุได้จากการตรวจสุขภาพการนอน
การดูแลเรื่องการนอนหลับพักผ่อนให้มีคุณภาพ คือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ห่างไกลความเสี่ยงและอันตรายที่อาจรุนแรงถึงชีวิตจากภาวะหลับในได้
ภาวะหลับในหรือการหลับระยะสั้นๆ (Microsleep) เป็นปรากฏการณ์การสับสนระหว่างการหลับและการตื่น โดยการหลับเข้ามาแทรกการตื่นอย่างเฉียบพลันโดยไม่รู้ตัวในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 1-2 วินาที
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหลับใน ได้แก่
อดนอน การนอนน้อยหรือนอนไม่พอต่ำกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลับใน เพราะสมองส่วนธาลามัสอาจหยุดทำงานสั้นๆ ชั่วคราว ส่งผลให้เกิดความง่วงกระทันหัน (Sleep Attack) งีบหลับไม่รู้ตัว ไม่ตอบสนองต่อการรับรู้จนเกิดภาวะหลับในได้
คุณเสี่ยงเป็น “โรคตา” หรือไม่? เช็ก 8 โรคตาต้องระวัง
“โรคตาในผู้สูงอายุ” ความเสื่อมที่คุณต้องเตรียมรับมือ
นอนไม่เป็นเวลา นอนดึกตื่นสาย ส่งผลเสียต่อร่างกาย คือ ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง รู้สึกอ่อนเพลียนอนไม่เต็มอิ่ม เช่น เข้านอนตี 4 ตื่นนอนเที่ยงวัน คุณภาพการนอนไม่ดีเท่ากับเข้านอน 4 ทุ่ม ตื่นนอน 6 โมงเช้า เป็นต้น
เวลาเข้านอนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ส่งผลให้สมองงงและเกิดความเสื่อม เพราะปกติสมองจะจำเวลานอนและเกิดความง่วงในเวลานั้น ถ้าเปลี่ยนเวลาเข้านอนบ่อยๆ จะทำให้เวลานอนไม่ง่วง นอนน้อยลง หลับไม่เต็มอิ่ม เช่น ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์เข้านอนดึกมากหลังตี 2 ตื่น 9 โมงเช้า ส่วนวันธรรมดาเข้านอน 4 ทุ่ม ตื่นนอนตี 5 เป็นต้น
กรรมพันธุ์ ส่งผลให้บางคนอยู่ในกลุ่มนอนยาว (Long Sleepers) มีความต้องการนอนนานถึง 10 ชั่วโมงจึงจะสดชื่น หรือบางคนอยู่ในกลุ่มนอนระยะสั้น (Short Sleepers) เพียง 4-5 ชั่วโมงก็ตื่นมาได้อย่างสดชื่น แต่พบได้ในจำนวนน้อยมาก ดังนั้นหากไม่มั่นใจควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการนอน
หากเกิดสัญญาณเตือนดังต่อไปนี้ อาจบ่งบอกว่าคุณเสี่ยงหลับใน
ตื่นตอนเช้าไม่สดชื่นอยากนอนต่อ
ง่วงเหงาหาวนอนบ่อยๆ ต่อเนื่องระหว่างวัน
มึนศีรษะ มองภาพไม่ชัด ตาปรือ รู้สึกลืมตาไม่ขึ้น มองข้ามสัญญาณไฟจราจร
ขาดสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการขับขี่ที่ไม่สามารถควบคุมเส้นทางได้
เมื่ออยู่นิ่งๆ เผลอหลับแบบไม่รู้ตัว
อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า กระวนกระวาย
อย่างไรก็ตาม ภาวะหลับในไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การพักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้เป็นเวลา และเข้านอนในเวลาที่ดีและสม่ำเสมอในทุกๆ วัน ย่อมช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะหลับในได้ แต่ถ้าหากนอนเพียงพอแล้วยังรู้สึกง่วง ไม่สดชื่น ควรเข้ารับการตรวจ Sleep Test เพื่อวินิจฉัยการนอนโดยละเอียดกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ