มะเร็งปอดพบระยะแรก โอกาสหายขาดสูง 90% เผยวิธีรักษาป้องกันโรคลุกลาม
มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกเป็นอันดับต้นๆ ความน่ากลัวคือ ไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจนในช่วงแรก จึงทำให้ผู้ป่วยจะมีอัตราการเสียชีวิตสูง และแน่นอนหากตรวจได้ตั้งแต่ในระยะแรก มีโอกาสรักษาให้หายขาดสูงถึง 90%
สาเหตุสำคัญมะเร็งปอด คือ การสูบบุหรี่ การตรวจคัดกรองจึงมักทำในคนที่สูบบุหรี่เป็นหลักเพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ในปัจจุบันพบว่า นอกเหนือจากผู้ที่สูบบุหรี่แล้ว ยังมีคนกลุ่มอื่นสามารถเป็นมะเร็งปอดได้ เช่นผู้ที่รับควันบุหรี่บ่อยครั้ง ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารจำพวกใยหิน สารกัมมันตรังสี ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ รวมทั้งผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งอื่นๆ
"มะเร็งปอด"ระยะแรก ไอเรื้อรังควรเช็กสาเหตุ เพราะมะเร็งไม่ได้เกิดแค่สูบบุหรี่
ระยะมะเร็งปอด เผยชนิดไหนลุกลามกระจายเร็วกว่า เจอเร็วรักษาได้ดีกว่า

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดตั้งแต่เริ่มต้น นิยมใช้ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ หรือ low-dose computed tomography (low-dose CT) เพราะมีความไวสูง เมื่อเทียบกับเอกซเรย์ปอดแบบธรรมดา สามารถตรวจหาก้อนมะเร็งได้ แม้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กหรือถูกบดบังโดยอวัยวะอื่น ทำให้แพทย์ตรวจพบก้อนมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ให้การรักษาได้ทันท่วงที และหายขาดได้ ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง
ใครบ้างที่ควรตรวจความเสี่ยงมะเร็งปอด
- ผู้ที่ไอแบบไม่มีสาเหตุ เป็นระยะเวลานานมากกว่า 1 เดือน
- ผู้ที่มีความกังวลต่อการเกิดมะเร็งปอด
- ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือเคยมีประวัติสูบบุหรี่ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ชิดกับคนสูบบุหรี่
- ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารจำพวกใยหิน สารกัมมันตรังสี ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งอื่นๆ
ผู้ที่มีความเสี่ยงข้างต้นควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งปอดพัฒนาไปมาก โดยระยะเริ่มต้นสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเอากลีบปอดออก โดยเน้นการผ่าตัดส่องกล้อง เพราะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ส่วนระยะที่ 3 หรือ 4 อาจรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้าหรือยาภูมิคุ้มกันบำบัด รังสีรักษาร่วมด้วย
5 การรักษาช่วยหยุดยั้งมะเร็งปอด
- ผ่าตัดแบบเปิดช่องอก (Thoracotomy) มักผ่าแนวกลางหรือเข้าทางด้านข้าง อาจต้องตัดกล้ามเนื้อหลายมัดและถ่างขยายกระดูกซี่โครงในการผ่าตัด เหมาะกับผู้ที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่เกิน 8 เซนติเมตร ผู้ป่วยที่ต้องตัดปอดทั้งข้าง หรือผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดซับซ้อนอาจต้องตัดต่อหลอดเลือด ขนาดแผลอยู่ที่ 15 – 20 เซนติเมตร ใช้เวลาฟื้นตัวนาน
- ผ่าตัดส่องกล้องมะเร็งปอด (Video Assisted Thoracosocpic Surgery: VATS) ปัจจุบันใช้กล้องวีดิทัศน์เข้ามาช่วยในการผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยที่มีก้อนขนาดไม่ใหญ่มากและไม่กดเบียดอวัยวะข้างเคียง ในช่วงมะเร็งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โดยเจาะรูขนาดเล็กบริเวณช่องซี่โครงเพื่อใส่กล้องและอุปกรณ์ช่วยผ่าตัดเข้าไปตัดก้อนมะเร็ง แผลจะมีขนาดเล็กยาวประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว
- ผ่าตัดส่องกล้องมะเร็งปอดแบบจุดเดียว (Uniportal VATS Surgery) โดยเจาะรูบริเวณข้างลำตัวเพื่อใส่เครื่องมือเข้าไปทำการผ่าตัด มักใช้ในการผ่าตัดปอดแบบลิ่ม คือตัดเนื้องอกพร้อมเนื้อปอดข้างเคียงออกเป็นรูปลิ่ม การตัดปอดแบบกลีบ การตัดปอดที่มีเนื้องอกทั้งข้าง ซึ่งแผลจะมีขนาดเล็กประมาณ 3.5 เซนติเมตร เจ็บน้อย พักฟื้นไม่นาน
- เคมีบำบัด (Chemotherapy) ใช้ในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ทำให้ฝ่อลงและไม่แพร่กระจาย เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ที่มีการลุกลามหรือกระจายไปยังอวัยวะอื่น ทั้งนี้อาจมีการผ่าตัดร่วมด้วยขึ้นอยู่กับการประเมินโดยแพทย์เป็นสำคัญ
- ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการรักษามะเร็งปอดด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่เข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายให้กำจัดเซลล์มะเร็ง เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ทั้งนี้อาจใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด รังสีรักษา หรือมีการผ่าตัดร่วมด้วยตามคำแนะนำของแพทย์
เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เกิดจากปัจจัยและโรคอะไรได้บ้าง?
การสอนกระบวนการฟื้นตัวไวระหว่างการผ่าตัด (Enhanced Recovery After Surgery: ERAS) ให้กับผู้ป่วยมะเร็งปอดก่อนผ่าตัดเป็นสิ่งสำคัญ เริ่มจากให้ความรู้มะเร็งปอด การบำบัดลดบุหรี่ก่อนผ่าตัด สอนกายบริหารระหว่างผ่าตัด ทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวลุกนั่งและใช้ชีวิตหลังผ่าตัดได้เร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ผลลัพธ์การผ่าตัดรักษาเป็นที่น่าพอใจ
ยิ่งพบมะเร็งปอดได้เร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาหายขาด และรอดชีวิตมากกว่าการพบมะเร็งปอดในระยะลุกลาม ผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีน้ำหนักลดผิดปกติย่อมรักษาได้ผลดีกว่าผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้การรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย ย่อมช่วยเพิ่มโอกาสในการหายจากโรคได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท และ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
สูบบุหรี่เสี่ยงมะเร็งปอด 80 % เผยปัจจัยกระตุ้นถึงแม้ไม่สูบก็ป่วยได้