หลอดเลือดหัวใจตีบตัน รู้ทันโรครีบรักษาก่อนสายเกินแก้
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันอันตรายถึงชีวิต รู้เท่าทันและรักษาอย่างถูกวิธีสามารถช่วยได้
นับจากวินาทีแรกที่ได้ยินเสียงหัวใจเต้น นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกถึงความมีชีวิตของคนเรา หัวใจจึงเป็นอวัยวะสำคัญที่ควรใส่ใจดูแล ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เราได้ยินเสียงหัวใจเต้นอยู่ได้นานที่สุด แต่เพื่อให้เสียงหัวใจเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ บ่งบอกถึงสุขภาพที่ดีของชีวิต
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากผนังหลอดเลือดหัวใจมีความหนามากขึ้น ทำให้เลือดไหลผ่านไม่สะดวก ส่งผลให้หัวใจขาดเลือดได้ในที่สุด
ไขมันในเลือดสูง ทำเสี่ยงโรคหลอดเลือดตีบตัน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หนึ่งในกลุ่ม NCDs ตัวร้ายอันตรายถึงชีวิต
ซึ่งความหนาของผนังหลอดเลือดหัวใจที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นผลจากไขมันหรือพังผืดไปเกาะ หากเป็นไขมันมักมาจากไขมันในร่างกายเป็นตัวกระตุ้น แต่ถ้าเป็นพังผืดอาจมาจากความเสื่อมหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้าไปกระตุ้น
ซึ่งสาเหตุของโรคเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน เป็นต้น
รู้จักโรค NCDs โรคที่คุณสร้างมันขึ้นมาเองทุกวันๆ
รอบรู้เรื่องโรคเบาหวาน หนึ่งในกลุ่ม NCDs ลดคุณภาพชีวิต
รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
วิธีการรักษาที่ได้รับนิยมมักจะใช้วิธีการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือที่รู้จักกันว่า “การทำบายพาสหัวใจ” โดยแพทย์จะใช้เส้นเลือดภายในทรวงอกด้านซ้ายและเส้นเลือดแดงบริเวณแขนซ้าย หรือเส้นเลือดดำบริเวณขา ตั้งแต่ข้อเท้าด้านในจนถึงโคนขาด้านในมาเย็บต่อเส้นเลือดเพื่อนำเลือดแดงจากเส้นเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ขาดเลือดโดยข้ามผ่านเส้นเลือดส่วนที่ตีบ กรณีแพทย์ตัดสินใจทำการผ่าตัด ส่วนใหญ่จะทำเมื่อเส้นเลือดตีบและอุดตันแล้วประมาณ 70% ขึ้นไป แต่หากมีไขมันมาเกาะโดยไม่มีหินปูน และมีอายุ 30 – 40 ปี อาจรักษาด้วยการทานยาอาจช่วยให้ไขมันลดลง หรือกรณีที่อุดตันเส้นเดียวก็ทานยาหรือใส่ขดลวดบอลลูนได้
ผ่าตัดบายพาสหัวใจ
สำหรับการทำผ่าตัดบายพาสหัวใจ เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันในปัจจุบัน มี 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ โดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off – Pump CABG) หรือแบบ “ไม่ต้องหยุดหัวใจ”
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ แบบต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (On Pump CABG) เพื่อ “หยุด” การทำงานของหัวใจทั้งหมด
นอกจากนี้การผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ ทำให้ใช้ปริมาณเลือดน้อยลง ลดระยะเวลาการผ่าตัดและการดมยาสลบให้สั้นลง ตลอดจนระยะเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นกว่าการผ่าตัดบายพาสหยุดหัวใจ
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและมาตรวจตามนัดทุกครั้ง
- รับประทานผัก ผลไม้ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 – 3 ลิตร
- รับประทานอาหารแต่พออิ่มและควรพักหลังอาหารประมาณ 1/2 – 1 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดีที่สุด คือ การเดิน เริ่มโดยเดินช้า ๆ ก่อนแล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะทาง แต่อย่าให้เกินกำลังตนเอง
- ทำจิตใจให้สงบ หาโอกาสพักผ่อน หาวิธีลดความเครียด หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตื่นเต้น เช่น ดูเกมการแข่งขันที่เร้าใจ ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและเค็มจัด
- งดดื่มสุรา น้ำชา กาแฟ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงงานหนัก งานรีบเร่ง และงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องนาน ๆ
- เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกให้หยุดกิจกรรมนั้น ๆ ทันที แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ใส่ใจดูแลหัวใจตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้จังหวะหัวใจที่บ่งบอกถึงสุขภาพที่ดีอยู่กับเราไปได้นาน ๆ ปราศจากอาการโรคหัวใจ
ขอบคุณข้อมุลสุขภาพจาก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ