อาหารโซเดียมแฝงไม่ต้องเค็มก็เสี่ยง “โรคไต” ได้ กินแซ่บต้องระวัง!
กินเค็ม กินรสจัด แน่นอนว่าเสี่ยงโรคไต แต่รู้หรือไม่ ? อาหารบางอย่างไม่ต้องเค็มเลย ก็เสี่ยงได้เช่นกัน เผยอาหารโซเดียมแฝงอันตราย กินเยอะ กินซ้ำเป็นประจำ อันตราย
“โรคไต” หนึ่งโรคเรื้อรัง ที่หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงคือการกินอาหารหรือเครื่องดื่มหวานๆ นับเป็นโรคที่มีอัตราผู้ป่วยสูงขึ้นจนกลายเป็นโรคอันดับต้นๆ ของคนไทยเลยทีเดียว อย่างที่ทราบดีว่า กินเค็มเยอะเสี่ยงโรคไตเพิ่มนั้นเป็นเรื่องจริง แต่! ไม่ใช่แค่ความเค็มที่ทำให้ไตร้องไห้เท่านั้น แต่ยังมีอาหารบ้างอย่างที่ไม่เค็ม แต่ทำร้ายไตได้จากโซเดียม หากกินเป็นประจำ กินซ้ำ กินนาน
โซเดียมอันตรายต่อไต ?
ปกติหน้าที่ของไตคือช่วยปรับโซเดียมในร่างกายให้สมดุล แต่หากร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงเกินไป

จนไตไม่สามารถขับออกได้ทัน ก็จะเกิดโซเดียมสะสมในเลือดสูง ส่งผลให้ร่างกายต้องเก็บรักษาน้ำมากขึ้น น้ำในหลอดเลือดจึงเพิ่มขึ้น ไตจึงต้องทำงานหนักเพื่อจะพยายามขับโซเดียมและน้ำส่วนเกินออก สิ่งที่ตามมาก็คือ ทำให้เกิดความดันสูงขึ้นในหน่วยไต และเมื่อระดับความดันสูงขึ้น ก็จะก่อให้เกิดแรงดันในกลุ่มหลอดเลือดฝอยที่อยู่ในเนื้อไต เมื่อแรงดันสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ นำไปสู่ภาวะไตเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น
โซเดียมสูงไม่ได้แฝง
เมื่อพูดถึงอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพไต หลายคนก็มักจะโฟกัสไปที่อาหารรสชาติเค็มจัดที่ปรุงรสด้วยเกลือหรือน้ำปลา แต่จริงๆ แล้ว อาหารที่มีโซเดียมสูงนั้นอาจไม่ได้มาพร้อมกับรสชาติเค็ม แต่แฝงอยู่ในอาหารหลากหลายรูปแบบและหลากหลายรสชาติ อาทิ
- เครื่องปรุงรส ที่นอกจากเกลือ น้ำปลา หรือซีอิ๊ว แล้ว ยังพบโซเดียมมากใน ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มไก่ต่างๆ
- อาหารแปรรูป อย่าง แฮม เบคอน ขนมกรุบกรอบ ผลไม้กระป๋อง รวมถึงอาหารหมักดอง เช่น ผักกาดดอง หรือไข่เค็ม
- สารปรุงแต่งอาหาร ที่แม้ว่าจะไม่ได้มีรสเค็ม แต่ก็ทำร้ายไต เช่น ผงฟู สารกันบูด หรือสารกันเชื้อราในขนมปัง
- อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
แม้ว่าการกินเค็มหรือกินอาหารที่มีโซเดียมสูงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคไต แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่นำไปสู่ความเสี่ยงในการเป็น “โรคไต” ได้เหมือนกัน เช่น
- การทานอาหารรสหวานจัด นอกจากอาหารเค็มจัดแล้ว การทานอาหารรสหวานจัดก็ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไตทำงานหนักได้เหมือนกัน
- ขาดการออกกำลังกาย เพราะการไม่ออกกำลังกายนำมาซึ่งโรคเรื้อรังต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ หรือดันโลหิตสูง ซึ่งส่งผลให้ไตทำงานหนัก จนเกิดปัญหาไตเสื่อมเร็วได้
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป เพราะไตมีหน้าที่ในการฟอกของเสียในร่างกาย ซึ่งต้องใช้น้ำเป็นตัวนำพาไปสู่กลไกการกรองของไตจนกลายมาเป็นปัสสาวะ หากดื่มน้ำน้อยเกินไป ไตอาจขับของเสียได้ไม่หมด เกิดของเสียคั่ง สะสมไปนานๆ จนตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่ว หรือโรคนิ่วในไตได้นั่นเอง
นอกจากนี้การทำงานหนัก เครียดมาก ร่างกายไม่ได้รับการฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเองอย่างเต็มที่ รวมไปถึงความเครียดที่ส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของออกซิเจนที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ ไต ที่ต้องทำงานหนัก... ไม่ได้รับการฟื้นฟูเพียงพอ ไตจึงเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล