ภาวะ PTSD ความผิดปกติทางอารมณ์หลังเหตุรุนแรง วิธีเยียวยารักษา
สัญญาณภาวะ PTSD ความผิดปกติทางอารมณ์หลังเหตุการณ์ความรุนแรง เผยระยะเฉียบพลันและ หลังเกิดเหตุการณ์มาแล้ว 1 เดือน! เผยวิธีเยียวยา ลดความหวาดกลัวทางจิตใจ
PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือเกิดขึ้นกับผู้ที่ประสบพบเหตุร้ายด้วยตัวเอง หรือเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์และเห็นเหตุการณ์สะเทือนใจนั้นโดยตรง หรือเป็นญาติใกล้ชิดกับผู้ประสบเหตุและได้รับรู้รายละเอียดข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนเกิดความเครียดและมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตตามมา ซึ่งผู้ที่ได้รับบาดแผลทางจิตใจจากเหตุเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษา
5 ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงาน ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ รีบแก้ก่อนซึมเศร้า
ผู้สูงอายุฝึกสมองด้วยศิลปะ ช่วยลดซึมเศร้า ชะลออัลไซเมอร์
PTSD มีอาการออกมา 2 ระยะ
- ระยะที่ 1 เกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังเหตุการณ์ เรียกว่า Acute Stress Disorder (ASD) หรือ โรคเครียดฉับพลัน ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะ ASD สามารถหายเองได้ หรือไม่เป็นอะไรเลยในเดือนแรก แต่หลังเกิดเหตุการณ์มาแล้ว 1 เดือนอาการนี้ยังไม่หายไปจะเรียกว่า PTSD
- ระยะที่ 2 คือหลังเกิดเหตุการณ์มาแล้ว 1 เดือน ที่เรียกว่า PTSD อาจแสดงอาการออกมาได้ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ
- เหตุการณ์นั้นตามมาหลอกมาหลอน (re-experiencing) ผู้ที่รอดตายจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หนีจากสงคราม หนีจากคนที่ตามมาทำร้าย จะยังรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นกำลังจะเกิดขึ้นอีก รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเองและตกใจกลัวหรือหลับตาทีไรก็ยังเห็นภาพนั้น
- อาการตื่นตัวมากเกินไป (hyperarousal) สำหรับผู้ป่วยโรคนี้ แม้ว่าเหตุการณ์น่ากลัวจะผ่านไปแล้ว แต่ร่างกายก็ยังไม่ยอมเลิกตื่นตัว ทำให้เรายังรู้สึกกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง ใจสั่น ตกใจง่าย สะดุ้งง่าย ไม่มีสมาธิ เครียดง่ายกับเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อมีอะไรมาสะกิดให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น
- คอยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์ (avoidance) หรือมีอารมณ์เฉยชา หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูด หรือนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้หวาดกลัว เช่น ประสบภัยพิบัติมาจึงไม่กล้าดูข่าวนี้ในโทรทัศน์ หรือไม่กล้าไปในสถานที่ประสบเหตุ เพราะเมื่อเห็นแล้วจะรู้สึกกระวนกระวายขึ้นมาอีก
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เป็น PTSD ยังอาจมีอาการอื่นได้อีก เช่น ซึมเศร้า โทษตัวเองว่ามีส่วนทำให้เกิดเหตุร้าย หรือรู้สึกผิดที่หนีเอาตัวรอด (survivor guilt) วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ ดื่มเหล้าเบียร์มากกว่าเดิมเพื่อดับความกระวนกระวายใจ หงุดหงิดง่าย ทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย
เด็กก็เป็นโรค PTSD ได้!
ความแตกต่างของโรค PTSD ในเด็กและผู้ใหญ่ คือปัญหาเรื่องการสื่อสารและการแสดงออก เมื่ออาการนี้เกิดขึ้นในผู้ใหญ่จะมีการแสดงอาการที่ตรงไปตรงมา สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมอย่างชัดเจน และยังสามารถอธิบายอาการได้ว่าเขามีความคิดอย่างไร เห็นภาพอะไร หรือกำลังรู้สึกอะไรอยู่
แต่เมื่อโรค PTSD เกิดขึ้นในเด็ก แม้จะมีการแสดงออกทางกายที่เหมือนกับผู้ใหญ่ แต่การสื่อสารและการอธิบายอาการที่เป็นอยู่จะค่อนข้างยากสำหรับเด็ก ดังนั้นผู้ปกครองอาจวินิจฉัยโรคได้จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งมักพบว่าเด็กจะเสียทักษะทางพัฒนาการบางอย่างที่เคยทำได้และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง
สัญญาณ "ซึมเศร้าในผู้สูงอายุ" รายงานพบวัย 60+ เสี่ยงป่วยกว่า 30%
วิธีบำบัดโรค PTSD
- การบำบัดทางจิตใจ ด้วยการให้ความรู้สุขภาพจิต การผ่อนคลายร่างกายและอารมณ์ การฝึกวิธีสร้างความมั่นคงทางจิตใจด้วย แล้วปรับเปลี่ยนความคิดที่ทำให้เกิดความกังวล และฝึกการจัดการกับอารมณ์ ซึ่งในผู้ป่วยอาจจะใช้วิธีวาดภาพระบายสี หรือใช้งานศิลปะเป็นสื่อใช้แสดงความรู้สึกต่างๆ ออกมา โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ที่ต้องมีการจัดชั่วโมงให้ผู้ปกครองเข้าร่วมด้วย
- การรักษาด้วยยา นอกเหนือจากการรักษาด้วยการบำบัดทางจิตใจแล้ว จิตแพทย์อาจให้ยาในกลุ่มยาแก้ซึมเศร้าร่วมด้วย โดยยากลุ่มนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์จึงจะเริ่มออกฤทธิ์ และต้องรับประทานยาต่อเนื่องควบคู่กับการทำจิตบำบัดไปด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 2
“ศิลปะบำบัด” บำบัดจิตเวช ช่วยลดอาการซึมเศร้า แก้ปัญหาทางอารมณ์
ปรับวิธีคิดแก้นิสัยขี้ระแวง ลดความเครียด เลี่ยงโรควิตกกังวล ซึมเศร้า