โควิด-19 รอบสัปดาห์ พบผู้ติดเชื้อ 353 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม
สถานการณ์โควิด-19 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อ 353 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม หมอธีระเผยสถานการณ์โควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา สายพันธุ์ KP.3.1.1 นั้นยังครองการระบาด ขณะที่ XEC มีสัดส่วนตรวจพบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดรับไม้ต่อชัดเจนช่วงปลายปี ย้ำโควิดยังมีอัตราเสียชีวิตมากกว่าไข้หวัดใหญ่ ย้ำไม่ใช่หวัดธรรมดา
กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โควิด-19 รายสัปดาห์ ระบุว่า ข้อมูลของสัปดาห์ที่ 40 ปี 2567 ระหว่างวันที่ 6-12 ตุลาคม 2567 มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นประมาณ 25.6% เฉลี่ยรายวัน 50 รายต่อวัน
มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี 2567 อยู่ที่ 39,675 ราย ปอดอักเสบ 123 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 57 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต ขณะที่มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งแต่ต้นปี 2567 อยู่ที่ 211 ราย
5 สารอาหารเสริมภูมิคุ้มกัน รักษาสมดุลลำไส้ ต้านเชื้อโรค
ทั้งนี้การติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK+) ไม่นับยอดรวมกับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่รักษาในโรงพยาบาล
ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เปิดเผย สถานการณ์โควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาล่าสุดจะเห็นได้ว่า สายพันธุ์ KP.3.1.1 นั้นยังครองการระบาด โดยพบราว 57.2%ในขณะที่ XEC มีสัดส่วนตรวจพบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตอนนี้อยู่ที่ 10.7%คาดว่า XEC จะรับไม้ต่อจาก KP.3.1.1 น่าจะเห็นชัดเจนช่วงปลายปี
แม้ XEC จะมีการกลายพันธุ์ที่ส่วนเปลือกต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อย แต่การที่มีอัตราขยายตัวสูงนั้น คาดว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงที่ส่วนของ Nucleocapsid ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เราเห็นปรากฏการณ์นี้ เพราะตลอดช่วงที่ผ่านมา การส่งไม้ต่อของแต่ละสายพันธุ์มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งกรดอะมิโนบริเวณส่วนหนามเปลือกนอกของไวรัสทั้งสิ้น
นพ.ธีระ ยังเปิดเผยถึงจำนวนการเสียชีวิตจากโควิด-19 vs ไข้หวัดใหญ่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขชี้ให้เห็นว่า ปี 2566 ทั้งปี มีคนที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 14 ราย ในขณะที่ปี 2567 นี้ จำนวนเสียชีวิต นับจนถึง 9 ตุลาคม 2567 พุ่งขึ้นไปถึง 45 ราย ส่วนโควิด-19 นั้น จำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าไข้หวัดใหญ่อย่างมาก
นับจนถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา 5 ตุลาคม 2567 ปีนี้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ไปแล้วถึง 211 ราย มากกว่าไข้หวัดใหญ่ปีนี้ถึง 4.7 เท่า พร้อมย้ำว่า โควิด-19 จึงไม่กระจอก ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่เหมือนไข้หวัดใหญ่
การป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนั้นเป็นหัวใจสำคัญ มี symptom awareness เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับคนที่มีอาการไม่สบาย หากป่วยมีอาการที่สงสัย ควรตรวจโควิดด้วยเสมอ ถ้าได้ผลลบ ก็ควรตรวจซ้ำไปจนถึงอย่างน้อยวันที่ 5 หลังจากเริ่มมีอาการป่วยวัคซีนโควิด-19 ช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง และลดเสี่ยงเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว คนสูงอายุ วัคซีนปัจจุบันที่ทั่วโลกแนะนำให้ใช้คือ รุ่นที่ปรับสายพันธุ์ให้ตรงกับ JN.1 หรือ KP.2 ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่นั้น ก็ควรรับวัคซีนประจำปี ปีละครั้ง เพราะป่วยแล้วรุนแรง และเสียชีวิตได้เช่นกัน
ประเมินว่า ไทยเรากำลังจะออกจากช่วง grace period จำนวนเคสโควิด-19 จะเริ่มเพิ่มขึ้น และจะมากในช่วงปลายปี เนื่องจากกิจกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากในช่วงเทศกาล
พื้นฐานพฤติกรรมส่วนบุคคลเป็นตัวกำหนดความเสี่ยงของเราและคนใกล้ชิด