6 วัคซีนโควิด-19 ในต่างประเทศที่ใช้งานจริงแม้ยังวิจัยไม่สมบูรณ์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รวม 6 วัคซีนโควิด-19 ที่ถูกนำมาใช้จริงแล้วในบางประเทศแม้ผลการทดลองยังไม่ชัดเจน 100%

ความหวังมวลมนุษยชาติ วัคซีนโควิด-19 “BNT162”

คู่รักนักวิจัย เบื้องหลังความสำเร็จวัคซีนโควิด-19 ของ Pzifer และ BioNTech

ข่าวผลการทดสอบทางคลินิกเฟส 3 ของวัคซีนโควิด-19 “BNT162” ของบริษัท Pfizer และ BioNTech ซึ่งมีประสิทธิภาพกว่า 90% สร้างความยินดีให้กับทั้งโลก แต่ยังคงต้องมีการศึกษาและตรวจขทานเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจในประสิทิภาพก่อนนำมาใช้งานจริง

อย่างไรก็ตาม มีวัคซีนโควิด-19 อยู่ 6 ชนิด ที่บางประเทศอนุมัติให้นำมาใช้งานได้จริงแล้ว แม้การวิจัยและพัฒนาจะยังไม่ถึงจุดสิ้นสุดก็ตาม สร้างความกังวลไม่น้อยให้กับประชาชนในประเทศนั้น ๆ

  1. วัคซีน “Ad5-nCoV”

วัคซีนโควิด-19 ตัวนี้พัฒนาโดยบริษัท CanSino Biologics บริษัทยาชีวเภสัชภัณฑ์ของจีน โดยร่วมมือกับ Institute of Biology ของ Academy of Military Medical Sciences

ในเดือนพฤษภาคม บริษัทได้เผยแพร่ผลลัพธ์การทดลองด้านความปลอดภัยเฟสที่ 1 ซึ่งผลลัพธ์น่าพอใจ และในเดือนกรกฎาคมพวกเขารายงานว่าการทดสอบทางคลินิกเฟสที่ 2 แสดงให้เห็นว่า วัคซีนโควิด-19 ดังกล่าวช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งได้

ต่อมา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน กองทัพจีนประกาศอนุมัติให้ใช้วัคซีน Ad5-nCoV ได้ในบุคลากรทางการทหาร โดยมีสถานะเป็น "ยาที่มีความจำเป็นพิเศษ"

ตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบัน วัคซีน Ad5-nCoV ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3

  1. วัคซีน “Sputnik-V”

สถาบันวิจัย Gamaleya ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขของรัสเซีย เปิดตัวการทดลองทางคลินิกในเดือนมิถุนายน พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่มีชื่อเรียกว่า Gam-Covid-Vac

ต่อมา วันที่ 11 สิงหาคม ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศว่า หน่วยงานกำกับดูแลด้านการดูแลสุขภาพของรัสเซียได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ตัวดังกล่าวในประชาชนจริง ๆ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น Sputnik-V

ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่การทดสอบทางคลินิกเฟส 3 จะเริ่มขึ้น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนยืนยันว่า การตัดสินใจนี้อาจมีความเสี่ยงสูง

สำหรับการทดสอบทางคลินิกเฟสที่ 3 ตอนแรกวางแผนไว้ว่าจะใช้อาสาสมัครเพียง 2,000 คน แต่ได้ขยายเป็น 40,000 คนแล้ว

เมื่อวันที่ 4 กันยายน นักวิจัยของ Gamaleya ได้เผยแพร่ผลการทดสอบเฟส 1/2 พบว่า Sputnik-V ทำให้ร่างกายแอนติบอดีต่อต้านโควิด-19 ได้ และมีผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน กองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย ประกาศหลักฐานเบื้องต้นจากการทดสอบเฟสที่ 3 ว่า วัคซีน Sputnik-V มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโควิด-19 จริง โดยนักวิทยาศาสตร์รัสเซียคาดการณ์ว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ถึง 92% จากกลุ่มตัวอย่าง 20 คน

เส้นทาง “Sputnik-V” วัคซีนโควิด-19 ที่ทั้งโลกกังขา

  1. วัคซีน “EpiVacCorona”

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม Vector Institute ศูนย์วิจัยทางชีววิทยาของรัสเซีย ได้ลงทะเบียนการทดสอบทางคลินิกเฟสที่ 1/2 สำหรับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ชื่อ EpiVacCorona วัคซีนดังกล่าวประกอบด้วยโปรตีนไวรัสในปริมาณเล็กน้อยหรือที่เรียกว่าเปปไทด์ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์การทดลอง EpiVacCorona ได้เริ่มขึ้นแล้วในตอนนั้น

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศว่า รัสเซียได้อนุมัติให้ใช้ EpiVacCorona ได้ตามกฎข้อบังคับ ทำให้เป็นวัคซีนตัวที่สองที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานจริงอย่างเป็นทางการต่อจากวัคซีน Sputnik-V

แต่เช่นเดียวกับวัคซีน Sputnik-V วัคซีน EpiVacCorona ได้รับการอนุมัติใช้งานจริงก่อนที่จะมีการทดสอบเฟสที่ 3

  1. วัคซีนชนิด Inactivated (ยังไม่ตั้งชื่อ)

Wuhan Institute of Biological Products ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ร่วมกับบริษัท Sinopharm ของจีน

จากการทดสอบทางคลินิกในเฟสที่ 1/2 พบว่า วัคซีนโควิด-19 ไร้ชื่อตัวนี้สร้างแอนติบอดีในร่างกายของอาสาสมัครได้ โดยบางคนมีอาการไข้และผลข้างเคียงอื่น ๆ

ขณะนี้กำลังทำการทดสอบเฟสที่ 3 ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา บริษัทฯ กล่าวในภายหลังว่า รัฐบาลยูเออีได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนไร้ชื่อที่ยังอยู่ในขั้นทดลองแก่ประชาชนหลายแสนคน และเมื่อวันที่ 14 กันยายน ยูเออียังอนุมัติให้ฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรสาธารณสุขได้ในกรณีฉุกเฉิน

  1. วัคซีนชนิด Inactivated (ยังไม่ตั้งชื่อ)

Sinopharm ยังเริ่มทดสอบวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ตัวที่สอง ซึ่งพัฒนาร่วมกับ Beijing Institute of Biological Products หลังจากดำเนินการทดลองทางคลินิกระยะแรกในจีนแล้ว พวกเขาได้เปิดตัวการทดสอบเฟสที่ 3 ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอาร์เจนตินา

ต่อมา บริษัทฯ กล่าวในภายหลังว่า รัฐบาลยูเออีได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนทดลองตัวที่สองนี้แก่ประชาชนหลายแสนคน และเมื่อวันที่ 14 กันยายน ยูเออียังอนุมัติให้ฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรสาธารณสุขได้ในกรณีฉุกเฉินเช่นเดียวกับวัคซีนตัวก่อนหน้า

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประธานของ Sinopharm กล่าวว่า บริษัทกำลังเตรียมการผลิตวัคซีนทั้ง 2 ตัว โดยมีแผนจะผลิตให้ได้ 1 พันล้านโดสต่อปี

จีน เตรียมทดสอบวัคซีน โควิด-19 ในยูเออี

  1. วัคซีน “CoronaVac”

บริษัท Sinovac Biotech ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของจีน เริ่มทดสอบวัคซีน CoronaVac ในเดือนมิถุนายน

บริษัทประกาศว่า การทดสอบเฟสที่ 1/2 ในอาสาสมัคร 743 คน ไม่พบผลเสียที่รุนแรง และสามารถทำให้ร่างกายสร้างระบบภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ได้

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม Sinovac ได้เปิดตัวการทดสอบเฟสที่ 3 ในบราซิล ตามด้วยประเทศอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย ตุรกี

วันที่ 19 ตุลาคม เจ้าหน้าที่บราซิลกล่าวว่า วัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัยที่สุดในบรรดาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 5 ชนิดที่นำมาทดสอบทางคลินิกในเฟส 3

ปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้อนุมัติให้วัคซีน CoronaVac สามารถนำมาใช้งานได้ในกรณีฉุกเฉิน และในเดือนตุลาคม ทางการเมืองเจียซิงทางตะวันออกของจีน ประกาศว่า พวกเขากำลังส่งมอบวัคซีน CoronVac ให้กับผู้คนที่ทำงานที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เช่น บุคลากรการแพทย์ เจ้าหน้าที่ท่าเรือ และพนักงานบริการสาธารณะ

ในขณะเดียวกัน Sinovac ได้ประกาศเตรียมผลิตวัคซีนดังกล่าวสำหรับจำหน่ายทั่วโลก โดยบรรลุข้อตกลงในการจัดหาวัคซีนให้กับอินโดนีเซียในปริมาณอย่างน้อย 40 ล้านโดสภายในเดือนมีนาคม 2021

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา รัฐบาลบราซิลประกาศหยุดการทดลองของ Sinovac ชั่วคราวเนื่องจากมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ รายละเอียดของการหยุดชั่วคราวนั้นไม่เป้นที่แน่ชัด ทำให้เกิดความสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมือง แต่ล่าสุดมีการประกาศให้ดำเนินการทดลองได้ตามปกติแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การคิดค้นพัฒนาวัคซีนโควิด-19 นั้น ส่วนหนึ่งอาจทำเพื่อประโยชน์ของผู้คนทั้งโลก แต่ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องของชื่อเสียง ผลประโยชน์ การเมือง อำนาจต่อรอง แฝงอยู่

“วัคซีน” เป็นความหวังของของมนุษยชาติในสถานการณ์โควิด-19 นั้นจริงอยู่ แต่ก็ต้องตั้งคำถามเช่นกันว่า การนำวัคซีนโควิด-19 ที่ยังไม่ผ่านการทดลองครบทุกขั้นตอนมาใช้งานจริงในประชาชนหรือบุคลากรนั้นเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ และหากเกิดความผิดพลาดขึ้น ใครกันจะเป็นผู้รับผิดชอบ?

 

เรียบเรียงจาก New York Times

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ