พายุ รัฐประหาร บทบาทอาเซียนต่อวิกฤตการณ์ในเมียนมา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตั้งแต่กองทัพทัตมะดอว์ก่อรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จนถึงการลงถนนประท้วงและการใช้กำลังเข้าปราบปราม ประชาคมอาเซียนถูกจับตามองโดยทันทีว่าจะมีบทบาทในการคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาอย่างไร

สหรัฐฯกังวล เมียนมาเพิ่มข้อหา “ซูจี” อาเซียนมีท่าทีไม่ตรงกัน

นานาชาติร่วมมือกดดัน กองทัพเมียนมา

ในช่วงเวลา 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกมีท่าทีที่แตกต่างกันไป ไทย และ เวียดนาม บอกว่าเรื่องภายในของเมียนมาร์และเชื่อว่าจัดการกันได้ ส่วนมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย มีท่าทีต่างออกไปโดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งดูเหมือนว่าแข็งขันที่สุด

เริ่มจากผู้นำ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซีย ได้เจอกับนายกรัฐมนตรีมุห์ยิดดิน ยัสซิน ของมาเลเซีย ก่อนจะออกมาประกาศว่า อาเซียนต้องไม่อยู่เฉย ต้องเข้าไปมีส่วนช่วยคลี่คลายวิกฤตการเมืองในเมียนมาร์

หลังจากนั้นผู้นำอินโดนีเซียก็มอบหมายให้เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ เดินสายไปเข้าเฝ้าสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ที่ดำรงตำแหน่งประธานสมาชิกประชาคมอาเซียนประจำปีนี้ และเดินทางไปพบนายวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ในวันต่อมา

ซึ่งการเดินสายของนางเร็ตโนได้ผล บรูไนรับลูกต่อด้วยการต่อสายพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเมียนมา หรือสิงคโปร์เองที่ออกแถลงการณ์ประณามรุนแรงขึ้น และเรียกร้องให้อาเซียนจัดการประชุมหารือด่วน

แต่ต่อมาความพยายามของอินโดนีเซียเริ่มถูกชาวเมียนมาต่อต้าน ที่ถูกต่อต้านเพราะข้อเสนอของเธอ ที่บอกว่าจะกดดัน ร้องขอให้กองทัพเมียนมาเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว

คนไม่พอใจเพราะว่า เป็นการกดดันที่ผิดประเด็น เพราะถ้ากดดันให้เลือกตั้งใหม่เท่ากับว่า การรัฐประหารถูกต้องชอบธรรม สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ทหารถอยไปและคืนอำนาจให้รัฐบาลนางอองซานซูจีที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ชาวเมียนมาที่ไม่พอใจขอเสนอนี้ออกมาประท้วงที่หน้าสถานทูตอินโดนีเซียประจำกรุงเทพและที่ย่างกุ้ง

ส่วนนางเร็ตโน รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นคนวิ่งล๊อบบี้ให้อาเซียนต้องทำอะไรบางอย่าง

ล่าสุดโฆษกประจำกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียออกมาแถลงว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและจากการหารือกับสมาชิกอาเซียน เธอจะยังไม่เดินทางไปเมียนมาในระยะอันใกล้นี้ แต่ก็ไม่ปฏิเสธหรือปิดทางการเข้าเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาในอนาคต

และวันนี้ที่ย่างกุ้ง ชาวเมียนมาได้รวมตัวกันประท้วงที่หน้าสถานทูตไทย เพื่อต่อต้านแผนของอาเซียนที่ริเริ่มโดยอินโดนีเซีย

ซึ่งวันนี้เป็นวันที่นายวันนา หม่อง ละวินรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา ได้เดินทางมาพบนายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย

โดยนายกรัฐมนตรีไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของการพูดคุย เพียงแต่บอกว่า เป็นการคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ กระทรวงต่างประเทศจะดำเนินการ และในฐานะมิตรประเทศ ก็ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน ดังนั้นไทยในฐานะกลุ่มอาเซียนก็ต้องส่งกำลังใจให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และพร้อมให้ความร่วมมือในฐานะประชาคมอาเซียนด้วยกัน

ด้านนางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย ที่วันนี้อยู่ที่กรุงเทพฯ เช่นกัน แม้จะประกาศว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่ดีที่จะเดินทางไปเมียนมา แต่วันนี้เธอได้เข้าพบกับนายวันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเมียนมาด้วยเช่นกัน โดยกระทรวงต่างประเทศของไทยระบุว่า จริงๆ แล้วรัฐมนตรีทั้งสองไม่ได้มีกำหนดการที่จะพบกัน แต่ท้ายที่สุดทั้งคู่ได้พบปะเจรจากัน โดยไม่มีนายกรัฐมนตรีประยุทธ์เบื้องตันยังไม่มีรายละเอียดของการพูดคุยของทั้งคู่ออกมา

สิ่งที่อินโดนีเซียพยายามเสนอ คือการเลือกตั้งใหม่ ทางนี้ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการประนีประนอม เป็นข้อเสนอที่มองว่า กองทัพเมียนมาร์รับได้ แต่ปัญหาคือ คนเมียนมาร์จะไม่ยอม พวกเขาต้องการให้ทหารคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน ให้ยอมรับผลการเลือกตั้งไม่ง่ายสำหรับกลุ่มอาเซียนในการแสดงบทบาทและจุดยืน

ในทางหนึ่งอาเซียนมีสิ่งที่ยึดถือมานานคือ ไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศสมาชิก

แต่ถ้าไม่ทำเลยก็ไม่ได้เพราะก็จะถูกประณามว่าเมินเฉย โดยเฉพาะถ้าเกิดการปราบปรามประชาชน

การที่อาเซียนจะมีบทบาทที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาขณะนี้จึงไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะในอดีตเคยมีเหตุการณ์ที่อาเซียนเป็นผู้เล่นสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเมียนมา

นั้นคือในช่วงปี 2008 เมียนมาถูกถล่มอย่างหนักพายุไซโคลนนาร์กีส จุดที่กระทบหนักคือลุ่มน้ำอิระวดี คร่าชีวิตผู้คนทันทีเกือบ 1 แสน 4 หมื่นคน  2 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย

เมียนมาในช่วงนั้นถูกคว่ำบาตร คนแร้นแค้น ยากจนอยู่แล้ว พอเจอกับไซโคลนก็ยิ่งหนักหนาสาหัส ผู้คนนับล้านขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ถนนหนทางถูกตัดขาด ไม่ต้องพูดถึงอนาคตที่ไกลกว่านั้นเพราะพื้นที่การเกษตรเสียหายจนหมดเป็นความเสียหายระดับหายนะที่เมียนมาจัดการโดยลำพังไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากประชาคมโลก

แต่รัฐบาลทหารเมียนมาที่นำโดยนายพลตานฉ่วยในขณะนั้นปฏิเสธ ยืนกรานไม่ยอมรับความช่วยเหลือใดๆ ส่วนหนึ่งเพราะปิดประเทศมานาน กลัวว่า ความช่วยเหลือจากต่างชาติจะมาพร้อมกับการแทรกแซงการเมืองของเมียนมา

ตอนนั้นเมียนมาไม่ออกวีซ่าให้ตัวแทนรัฐบาลต่างชาติ เจ้าหน้ายูเอ็น หน่วยงานด้านบรรเทาทุกข์หรือผู้สื่อข่าวเลย

ในปีนั้น อาเซียน ที่มีไทยเป็นประธาน และมีนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ นั่งเป็นเลขาธิการอาเซียน ได้ต่อสายคุยเพื่อให้เมียนมายังเปิดบางช่องทางเพื่อรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ และความเป็นอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาเชื่อใจ

ต่อมา นายสุรินทร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทำงานเฉพาะกิจ และได้รับอนุญาตให้บินเข้าเมืองย่างกุ้งได้

เปิดทางให้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ นายบันคีมูน และหน่วยงานบรรเทาทุกข์นานาชาติเดินทางและส่งความช่วยเหลือเข้าไปในเมียนมาได้ในที่สุด

สนามบินดอนเมืองในตอนนั้นได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางในการรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ เพื่อส่งต่อไปยังเมียนมา ทั้งอาหาร ยา และอุปกรณ์ช่วยเหลืออื่นๆ

เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กองทัพเมียนมาเริ่มเปิดประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำมาสู่การปล่อยตัวนางอองซานซูจีและจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2015 ซึ่งถือเป็นเป็นการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกหลังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐทหารมาหลายสิบปี

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ