คนรุ่นใหม่ตุรกีไม่ทน ขอแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในต่างแดน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตุรกีคืออีกหนึ่งประเทศที่กำลังเผชิญปัญหา Brain Drain หรือภาวะสมองไหล เมื่อคนรุ่นใหม่จำนวนมากเลือกไปอาศัยและทำงานยังต่างประเทศ แรงขับมาจากการที่ตุรกีไม่มีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมทางการเมือง รัฐควบคุมสื่อ ทั้งยังเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน หนุ่มสาวชาวตุรกีจึงเลือกทิ้งบ้านเกิดไว้ข้างหลัง

“คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกสิ่งที่ดีกว่าได้”

นี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ในตุรกีจำนวนมากกำลังครุ่นคิด ดิ้นรน หาวิธีการเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในต่างประเทศ เมอร์เว นักศึกษาปริญญาเอกด้านการสื่อสาร กำลังจะย้ายแผ่นดินแม่คือประเทศตุรกี ไปแผ่นดินใหม่คือ ประเทศฮังการี

เธอบอกว่า ที่ต้องย้ายเพราะการใช้ชีวิตในอิสตันบูลนั้นยากเกินไป ขาดแรงบันดาลใจและไม่มีความหวังจึงตัดสินใจไปใช้ชีวิตใหม่ที่บูดาเปสกับแฟนหนุ่มชาติเดียวกัน

เปิดเหตุผลกลุ่มลับ "อยากย้ายประเทศ"

“ดีอีเอส” ตั้งทีมจับตา “กลุ่มย้ายประเทศ” หลังมีร้องเรียนสร้างความแตกแยก

ทั้งวัยและวุฒิ เมอร์เวคือหนึ่งกำลังสำคัญของชาติ แต่การที่เธอเลือกย้ายประเทศ นั่นหมายความว่าตุรกีกำลังมีปัญหาบางอย่าง และขาดแคลนบางสิ่ง

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “Brain Drain” หรือ สมองไหล

Brain Drain คือการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มประชากรที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะเฉพาะตัว

คำนี้ถูกใช้ในระดับสากลครั้งแรกหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อบรรดานักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปพากันอพยพไปยังสหรัฐฯ

ในประวัติศาสตร์ Brain Drain ยังนิยามถึงการถูกบังคับต้องอพยพเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ เช่นในศตวรรษที่ 15 เมื่อสเปนขับไล่ชาวยิวออกนอกประเทศ หลังชาวยิวมีอิทธิพลในการควบคุมการเงินมากไป

รวมถึงในศตวรรษที่ 17 เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสที่เป็นคาทอลิกขับไล่ชาวฝรั่งเศสที่นับถือนิกายโปรแตสแตนท์ออกนอกประเทศมากถึงหลักล้านคน

แตกต่างจากจากในอดีต Brain Drain ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโดยความสมัครใจของผู้คนเอง ดังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตุรกี

ปี 2019 มีคนออกนอกประเทศมากถึง 330,289 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 40 มีอายุระหว่าง 20 - 34 ปี เรียกได้หรือไม่ว่าคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยไม่มีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่

นอกเหนือจากใช้ความรู้ความสามารถสมัครเข้าทำงานหรือศึกษาต่อยังต่างประเทศแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่นิยมของคนรุ่นใหม่ตุรกีคือการขอลี้ภัย เป้าหมายคือกลุ่มประเทศยุโรป ข้อมูลจากสหภาพยุโรป ในปี 2015 มีชาวตุรกีขอลี้ภัย 2,995 คน ข้ามมาปี 2020 จำนวนนี้เพิ่มเป็น 18,145 คน

มีเหตุผลมากมายที่ทำให้ชาวตุรกีเลือกย้ายประเทศ ตุรกีมีผู้นำเคร่งศาสนา สวนทางกับคนรุ่นใหม่ที่ศรัทธาในพระเจ้ากันน้อยลง ที่นี่รองรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียมากถึง 3 ล้านคน แรงงานต่างชาติเข้ามาเติมแต่คนตุรกีว่างงานกันเพิ่ม รวมไปถึงยังเผชิญปัญหาหนี้ต่างประเทศที่รัฐบาลและเอกชนกู้เงินจากต่างประเทศจนเกิดภาวะเงินเฟ้อ

แต่เหตุผลสำคัญที่สุดคือ ตุรกีปราศจากเสรีภาพในการแสดงออกตั้งแต่โซเชียลมีเดียไปจนถึงการเมือง

นี่คือหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้ไม้แข็งเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การเริ่มทยอยออกของคนรุ่นใหม่เริ่มอย่างจริงจังหลังประท้วงใหญ่ในตุรกีเมื่อปี 2013

จุดเริ่มต้นของการประท้วงเกิดขึ้นที่สวนสาธารณะเกซี เริ่มต้นจากเพียงการต่อต้านแผนการปรับปรุงสวน ก่อนจะขยายวงเป็นการต่อต้านรัฐบาล

รัฐบาลส่งตำรวจสกัดการชุมนุม และเลยไปถึงการใช้แก๊สน้ำตาและการใช้กำลังทุบตีผู้ประท้วง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บอีกหลายพันคน

ความมุ่งมั่นที่จะย้ายประเทศเด่นชัดขึ้นเมื่อตุรกีเกิดรัฐประหารในปี 2016 เฟตุลเลาะห์ กูเลน ครูสอนศาสนาผู้มีอิทธิผลพยายามล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีเรเจป เทย์ยิป เออร์โดกัน แต่ไม่สำเร็จ

หลังจากนั้น ประธานาธิบดีเออร์โดกันสั่งคุมขังทหารและนักการเมืองหลายพันคน คนที่ถูกสงสัยว่าต่อต้านผู้นำถูกไล่ออกจากงาน ควบคู่กันไป คือ การควบคุมสื่อ

สื่อเกือบร้อยสำนักถูกรัฐบาลสั่งปิด รวมไปถึงยังแบนเว็บไซต์ วิกิพีเดียและโซเชียลมีเดีย

รายงานจากสมาคมผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เสรีภาพของตุรกีอยู่ในอันดับ 153 จาก 180 ประเทศ ความอึดอัดคับข้องใจนี้คือแรงขับให้คนรุ่นใหม่เลือกทิ้งตุรกีไว้ข้างหลัง และในระยะยาวตุรกีจะเผชิญกับปัญหามากมาย เมื่อมันสมองของประเทศไม่ได้อยู่ที่นี่

ตุรกีมีการเลือกตั้ง แต่คนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมักถูกจับกุม ที่นี่มีกฎหมายมาตรา 299 ห้ามผู้ใดหมิ่นประมาทประธานาธิบดี มิฉะนั้นอาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 4 ปี

แต่บางครั้งคนที่ถูกจับกุมก็ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือตั้งใจวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำประเทศเลย

เช่น เมื่อปี 2019 คนขับรถบัสรายหนึ่งถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นนี้ เพราะผู้โดยสารเห็นว่ากระดาษหนังสือพิมพ์ที่ปูตรงบันไดขึ้นรถนั้นเป็นภาพของประธานาธิบดีเออร์โดกัน

ลำพังคดีหมิ่นประมาทผู้นำในปี 2019 ปีเดียวมีมากถึง 30,066 คดี นี่คืออีกหนึ่งความยากลำบากที่คนรุ่นใหม่ในตุรกีต้องเผชิญ หลายคนจึงวาดฝันอนาคตไว้ยังที่อื่น 

จะหนีพิษเศรษฐกิจ หนีจากประธานาธิบดีเออร์โดกัน หนีคอร์รัปชัน หรือกรอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใด ขณะนี้จำนวนคนรุ่นใหม่ผู้แสวงหาชีวิตที่ดีกว่ากำลังเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ

ผลประโยชน์ตกอยู่ที่บรรดาประเทศปลายทางที่ได้คนเก่ง คนมีความสามารถไปช่วยเติม คงเหลือไว้แต่ประเทศต้นทางที่กำลังสูญเสียทรัพยากรไปเรื่อยๆ

เปิดแผนเอกชน นำเข้า “วัคซีนทางเลือก” คาด "โมเนอร์นา" ผ่าน อย. เดือนนี้

นายกฯ นั่งควบ ผอ.ศูนย์แก้โควิดเฉพาะกิจกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ