ไบเดนสั่งหน่วยข่าวกรอง หาต้นตอโควิด-19 ให้เจอใน 90 วัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปธน.สหรัฐฯ เข้มงวดสืบหาต้นตอโควิด-19 สั่งหน่วยข่าวกรองต้องได้คำตอบหรือพบความคืบหน้าใน 90 วัน

เมื่อวันพุธ (26 พ.ค.) ประธานาธิบดี โจ ไบเดน กล่าวว่า เขาได้สั่งให้หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่าในการสืบหาต้นกำเนิดของโรคโควิด-19 และต้องรายงานให้เขาทราบภายใน 90 วัน

คำประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากรายงานข่าวกรองของสหรัฐฯ พบว่า มีนักวิจัยของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (WIV) ล้มป่วยเข้าโรงพยาบาลในเดือน พ.ย. 2019 ทำให้เกิดการกลับมาถกเถียงกันอีกครั้ง ว่าต้นตอของโควิด-19 อาจมาจากแล็บอู่ฮั่น

ข่าวกรองสหรัฐฯ พบข้อมูลใหม่ ปลุกกระแสทฤษฎีโควิด-19 มาจากจีน

จีนปฏิเสธเสียงแข็ง ไม่มีนักวิจัยแล็บอู่ฮั่นเข้าโรงพยาบาล

ปัจจุบันหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เชื่อว่าต้นตอโควิด-19 มีความเป็นไปได้อยู่ 2 ทฤษฎี คือ เกิดจากการสัมผัสกับสัตว์ที่ตลาดในอู่ฮั่น หรือเกิดจาการปล่อยเชื้อจากห้องปฏิบัติการในอู่ฮั่น แต่ยังคงขาดแคลนหลักฐานและข้อมูลสนับสนุนทั้งสองทฤษฎี

เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ เอวริล ไฮน์ส ให้ข้อมูลว่า หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ยังไม่ทราบว่า “ไวรัสโควิด-19 มาจากที่ไหนเมื่อใดอย่างไร”

ไบเดนกล่าวว่า สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อกดดันจีนต่อไป “เพื่อให้เกิดการสอบสวนระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบโปร่งใส และต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”

คารีน ฌอง-ปิแอร์ รองเลขาธิการฝ่ายข่าว กล่าวว่า “เราพูดกันมานานแล้วว่า จีนจำเป็นต้องเปิดให้เข้าถึงห้องปฏิบัติการมากขึ้น ร่วมมือกับนักวิจัยต่างประเทศอย่างเต็มที่มากขึ้น ... การเข้าถึงจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดครั้งนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจวิธีเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดครั้งต่อไป”

Wall Street Journal เป็นสำนักข่าวแรกที่รายงานข่าวเกี่ยวกับนักวิจัยแล็บอู่ฮั่นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ทางการจีนได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง และยังคงยืนยันความบริสุทธิ์ของจีนว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นตอของโรคโควิด-19

ขณะที่ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ส่งทีมเข้าไปสืบหาต้นตอของการระบาด และสรุปในรายงานว่า โอกาสที่โควิด-19 จะรั่วไหลจากแล็บอู่ฮั่น ซึ่งกำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาในค้างคาวนั้น “ต่ำมาก”

แต่การสอบสวนของ WHO ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และรัฐบาลประเทศอื่น ๆ หลายสิบประเทศ เกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลที่จำกัด นอกจากนี้ WHO ยังถูกกล่าวหา ว่าให้เกียรติจีนมากเกินไปตลอดระยะเวลาของการสืบหาข้อมูล การศึกษาครั้งนั้นมีนักวิทยาศาสตร์จีนเข้าร่วมถึง 17 คน ซึ่งหลายคนมาจากหน่วยงานของรัฐ

 

เรียบเรียงจาก CNN

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ