"ฝิ่น" ท่อน้ำเลี้ยงความไม่สงบใน อัฟกานิสถาน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในอดีตตาลีบันเคยปราบปรามฝิ่นมาก่อน แต่วันนี้กลับต้องพึ่งพามันหลังสูญเสียอำนาจ สารตั้งต้นในการผลิตเฮโรอีนเป็นท่อน้ำเลี้ยงใหญ่ของกลุ่มตาลีบันและกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ทั่วอัฟกานิสถาน และล่าสุดในงานแถลงข่าวเตรียมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ตาลีบันให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาฝิ่นและเฮโรอีนในประเทศนี้ให้หมดไป แต่หนทางไม่ง่าย เมื่อฝิ่นยึดโยงกับสงคราม ความขัดแย้ง และความยากจน เพราะแม้แต่พญาอินทรีก็ล้มเหลวในการปราบปรามพืชชนิดนี้

แกนนำ "ตาลีบัน" กลับอัฟกานิสถานในรอบ 20 ปี

อนาคตอัฟกานิสถานและโลก ในวันที่ “ตาลีบัน” หวนคืนอำนาจ

ฝิ่นสีเขียวกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาไปจนถึงเนินเขา ที่กลางทุ่งคนหนุ่มใช้มีดกรีดดอกฝิ่น น้ำยางไหลออกมา อ้อยอิ่งจับตัวแข็ง เกษตรกรจะบากฝิ่นให้เป็นแผลแบบนี้ และค่อยทยอยเก็บยางที่แห้งแล้วในวันถัดมา ยางฝิ่นมีรสขม กลิ่นเหม็นเขียว เมื่อสัมผัสกับอากาศสีของยางจะคล้ำลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม

มูไฮยูดีน เกษตรกรผู้ปลูกฝิ่นนำผลผลิตออกมาให้ดู ยางเหล่านี้เต็มไปด้วยสารแอลคะลอยด์ สารที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอาการมึนเมา กดประสาท กล้ามเนื้อคลายตัว ฝิ่นจึงเป็นสารตั้งต้นสำคัญในการผลิตเฮโรอีน

ที่จังหวัดนันการ์ฮาร์ทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน มีภูมิอากาศเหมาะสมในการปลูกฝิ่น และอันที่จริงไม่ใช่แค่ นันการ์ฮาร์ หากคือทั้งประเทศ เพราะร้อยละ 80 ของผลผลิตฝิ่นทั้งโลกมาจากที่ อัฟกานิสถาน

ปี 2020 ที่ผ่านมา คนหนุ่มลงแรงกรีดฝิ่นมากเป็นพิเศษ เพราะวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้หลายธุรกิจปิดตัว โรงเรียนปิดเรียน ฝิ่นจึงกลายมาเป็นรายได้เดียว พื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตฝิ่นมากที่สุดในโลกถูกเรียกว่า พระจันทร์เสี้ยว จากรูปร่างของประเทศสามประเทศที่เรียงต่อกันได้แก่ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และอิหร่าน ขณะเดียวกันบริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ติดเฮโรอีนมากที่สุดด้วย มีความพยายามกำจัดพืชมรณะนี้ แต่เป็นงานที่ยากเย็นเมื่อฝิ่นผูกโยงกับสงคราม ความขัดแย้งและความยากจน

สำหรับเกษตรกรชาวอัฟกัน ฝิ่นน่าสนใจตรงที่มีคุณสมบัติทนต่อสภาพอากาศ ทั้งยังให้ราคาผลผลิตสูงกว่าพืชอื่น ๆ แต่หากจะทำไร่แบบนี้ พวกเขาต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากกลุ่มติดอาวุธ กลุ่มใหญ่ที่สุดคือตาลีบัน มีอิทธิพลในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ชาวบ้านจ่ายเงินตาลีบันและกลุ่มติดอาวุธอื่นให้คอยคุ้มครองไร่ฝิ่น และบางครั้งก็เป็นตำรวจ หรือทหารที่คอร์รัปชันรับหน้าที่นั้น

ฝิ่นจึงเสมือนหม้อข้าวหลักของใครหลายคน ทั้งยังขยายเบ่งบานมากขึ้น เมื่ออัฟกานิสถานเผชิญวิกฤตโรคระบาดที่กระทบต่อปากท้องผู้คนไปอีกทอด

และวันนี้ไร่ฝิ่นที่กระจัดกระจายทั่วประเทศอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่กว่าเดิม เมื่อตาลีบันผงาดขึ้นสู่อำนาจ หลังกระบวนการถอนทหารสหรัฐฯ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตาลีบันก็รุกคืบยึดเมืองต่าง ๆ จนมาถึงกรุงคาบูล เมืองหลวง

ล่าสุดกลุ่มติดอาวุธที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกำลังเตรียมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ที่ย้อนแย้งก็คือ ในอดีตตาลีบันเคยปราบปรามฝิ่นมาก่อน แต่กลับต้องพึ่งพามันหลังสูญเสียอำนาจ

ช่วงปี 1996-2001 สังคมอัฟกันอยู่ภายใต้กฎศาสนาแบบสุดขั้ว หนึ่งในสิ่งต้องห้ามคือ ยาเสพติด ตาลีบันประกาศห้ามเพาะปลูกและผลิตสินค้าจากฝิ่น บทลงโทษรุนแรงส่งผลให้ปริมาณฝิ่นลดลงถึงร้อยละ 90 แต่การปลูกฝิ่นก็ชะงักงันอยู่ได้ไม่นาน

เหตุวินาศกรรมอาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์ส่งผลให้สหรัฐอเมริกา เปิดสงครามก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน ตาลีบันที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มอัลกออิดะห์ถูกโค่นลงจากอำนาจ

จากผู้ปกครองสู่สถานะกลุ่มติดอาวุธ ตาลีบัน ไม่ยอมแพ้และหันเข้าหาฝิ่น โดยใช้พืชนี้เป็นแหล่งทำเงินในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจคืน  ในพื้นที่ใต้อิทธิพลของตาลีบัน ชาวบ้านกล้าปลูกฝิ่นเมื่อมีตาลีบันคุ้มครอง มากกว่านั้นยังช่วยพ่อค้ายาเสพติดดูแลเส้นทางลำเลียงและโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ รายได้จากธุรกิจยาเสพติดช่วยให้พวกเขามีทุนในการซื้อหาอาวุธและยังคงก่อความไม่สงบในประเทศ โดยคาดกันว่าตาลีบันมีรายได้จากฝิ่นมากถึงปีละ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมาสหรัฐฯและนานาชาติพยายามปราบปรามปัญหายาเสพติด  นโยบายไม้แข็งอย่างการสังหารขบวนการยาเสพติดถูกนำมาใช้ ไร่ฝิ่นถูกทหารอเมริกันบุกทำลาย รวมไปถึงยังใช้นโยบายไม้อ่อนอย่างการมอบทางเลือกใหม่ ๆ ให้แก่ชาวบ้าน

ผลทับทิมสีแดงลูกอวบถูกเก็บลงมาจากต้น เกษตรกรคัดขนาดแยกเป็นกอง ๆ ก่อนบรรจุใส่ลังไปขาย ทับทิมลูกใหญ่ขนาดนี้พบได้ที่เดียวในจังหวัดกันดาฮาร์ทางตอนใต้ ส่วนหนึ่งของโครงการที่รัฐบาลอัฟกันร่วมกับสหรัฐฯ ในการแก้ปัญหายาเสพติด

ช่วงปี 2002 - 2017 สหรัฐฯ ใช้เงินไปมากถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 265,000 ล้านบาทในการขจัดฝิ่น โครงการนี้คือหนึ่งในนั้น แต่ใช่ว่าโมเดลนี้จะใช้ได้กับทุกพื้นที่ในอัฟกานิสถาน และนี่คือเหตุผลที่ฝิ่นยังคงตั้งตระหง่าน เพราะอัฟกานิสถานคือประเทศแห้งแล้งที่มีพื้นที่เพาะปลูกเพียงร้อยละ 12 ในขณะที่ประชาชนชาวอัฟกันกว่าร้อยละ 70 พึ่งพาชีวิตด้วยอาชีพเกษตรกร

ความย้อนแย้งนี้ส่งผลให้หนทางขจัดฝิ่นเต็มไปด้วยความยากลำบาก ในหลายพื้นที่มีเพียงฝิ่นที่ทนต่อสภาพอากาศและเติบโตได้ดี การบีบบังคับให้ชาวบ้านเลิกปลูกฝิ่นไม่ต่างจากการแขวนอนาคตพวกเขาไว้กับความเสี่ยง หากสภาพอากาศไม่เป็นใจ ผลผลิตไม่เป็นตามคาด เกษตรกรมีแนวโน้มที่จะกลับไปปลูกฝิ่นเช่นเดิม ปัญหานี้แก้ไม่ได้ถาวร ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่อาจแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศได้ และฝิ่นยิ่งเย้ายวนชวนปลูกมากกว่าเดิม เมื่ออัฟกานิสถานกำลังจะมีรัฐบาลใหม่เป็นตาลีบัน

นี่คืออีกภาพสะท้อนความล้มเหลวของนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน เมื่อพวกเขาพ่ายแพ้ในสงครามการต่อสู้กับตาลีบัน และพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น

รายงานจากสหประชาชาติ ปี 2020 ไร่ฝิ่นในอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากหลายปัจจัย ตั้งแต่ความไม่สงบทางการเมือง ความยากจน ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พืชชนิดนี้ยึดโยงกับหลายปัญหามากเกินไปจนยากจะกำจัด

ทั้งชาวบ้านและกลุ่มติดอาวุธล้วนพึ่งพามันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  ดอกฝิ่นยังคงแข่งเบ่งบาน อวดโฉม ตราบที่อัฟกานิสถานยังคงยากจนและวุ่นวาย

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ