สหรัฐฯ-อังกฤษ ช่วยสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ให้ออสเตรเลีย หวังต่อกร จีน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากเกาหลีเหนือและเกาหลีมีการทดสอบขีปนาวุธพร้อมกัน ล่าสุดมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ใหญ่ และจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคอย่างแน่นอน เป็นสิ่งที่จีนเรียกว่า ความพยายามในการพาโลกกลับไปสู่สงครามเย็น คือ การประกาศความร่วมมือของ 3 ประเทศได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียในการปกป้องความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

เกาหลีใต้เปิดฉากทดสอบยิงขีปนาวุธจากเรือดำน้ำสำเร็จ

กลาโหม เผย นายกฯ สั่งชะลอซื้อ “เรือดำน้ำจีน”

ประเด็นสำคัญที่สุดของข้อตกลงที่ทำให้จีนและอีกหลายประเทศไม่พอใจคือ การที่สหรัฐฯ จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการทหารชั้นสูงที่สุดให้กับออสเตรเลีย นั่นคือ การพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่สามารถใช้เป็นฐานยิงอาวุธนิวเคลียร์จากใต้น้ำได้ ที่บอกว่าเป็นเทคโนโลยีการทหารชั้นสูง เพราะขณะนี้มีเพียง 6 ประเทศในโลกที่มี ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่า สหรัฐฯทำเช่นนี้ ก็เพื่อต่อกรกับอิทธิพลของจีน ที่ขณะนี้กำลังขยายปกคลุมไปทั่วภูมิภาค

การจับมือของพันธมิตรที่ประกอบด้วย สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ถูกมองว่า มีขึ้นเพื่อต่อสู้กับอิทธิพลของจีนที่ขณะนี้กำลังแผ่ขยายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก จะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารครั้งสำคัญของออสเตรเลีย เพราะประเทศนี้กำลังจะมีเรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ไปจนถึงเรือดำน้ำที่ใช้เป็นฐานในการยิงขีปนาวุธในอนาคต

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดการแถลงข่าวร่วมกับบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ผ่านระบบออนไลน์ ผู้นำสหรัฐฯ ชี้ว่า ความร่วมมือเกิดขึ้นจากความเห็นตรงกันที่ทั้ง 3 ชาติ ตระหนักว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

 

ความร่วมมือนี้มีชื่อว่า ออคัส (Aukus) โดยครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีควอนตัม และระบบการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์  แต่สิ่งที่หลายฝ่ายสนใจมากที่สุดคือ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ที่ออสเตรเลียไม่เคยมีมาก่อน และสหรัฐฯ ระบุว่า พวกเขาจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้

สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เปิดแถลงข่าวระบุว่า เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ จะถูกสร้างขึ้นที่เมืองแอดิเลด เมืองท่าในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย

ด้านฝั่งสหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เน้นย้ำว่า ออสเตรเลียนั้นเป็นเพื่อนเก่าและเป็นพันธมิตรของสหราชอาณาจักรอยู่แล้ว

แต่ไม่ได้เกินความคาดหมายไปนัก ที่ออสเตรเลียจะได้รับเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ชาติในโลกที่มีศักยภาพทางการทหารสูงถึงระดับนี้

 

ความร่วมมือล่าสุดนี้ส่งผลให้ออสเตรเลียต้องฉีกสัญญาที่เคยทำไว้กับฝรั่งเศส

ย้อนไปปี 2016 ฝรั่งเศสชนะการประมูล ส่งผลให้ทั้งสองประเทศร่วมลงนามในสัญญาสร้างเรือดำน้ำจำนวน 12 ลำ ให้กับกองทัพเรือของออสเตรเลีย สัญญาดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยมากถึง 1.6 ล้านล้านบาท นับเป็นสัญญามูลค่ามากที่สุดที่ทางกองทัพออสเตรเลียเคยทำ

โครงการเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากออสเตรเลียต้องการใช้วัสดุในประเทศ จนนำมาสู่ทางเลือกใหม่ที่ออสเตรเลียเลือกจับมือกับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร แต่กระนั้นทั้งสามชาติระบุว่า ยังคงยินดีที่จะร่วมมือกับฝรั่งเศส เพื่อเสริมความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

นับเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับออสเตรเลีย เพราะอนาคตทางการทหารจะอยู่ที่ขีปนาวุธที่ยิงจากเรือดำน้ำ ไม่ใช่ยิงจากฐานบนพื้นดิน นี่คือคำกล่าวจากไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ประเทศที่ขณะนี้เป็นที่หนึ่งด้านศักยภาพการทหาร และมองว่าความร่วมมือจากสามชาติ จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด

ปัจจุบันมีเพียง 6 ประเทศในโลกที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ และแน่นอนว่าเรือดำน้ำเหล่านี้มีฐานยิงขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ด้วยได้แก่ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, อินเดีย และจีน ซึ่งทั้ง 6 ประเทศล้วนมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง และออสเตรเลียมีแนวโน้มว่าจะเป็นประเทศต่อไปที่มีเทคโนโลยีชนิดนี้ แต่ต่างตรงที่ออสเตรเลียไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ และผู้นำเองก็ยืนยันแล้วว่า ออสเตรเลียจะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ใดๆ ขึ้นในประเทศ

 

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ อาวุธสุดยอดทางการทหาร

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์สำคัญอย่างไร? เงียบเชียบ ยากจะตรวจจับ เคลื่อนไหวได้เร็ว อีกทั้งยังสามารถดำน้ำได้นาน คือ ข้อเด่น แตกต่างจากเรือดำน้ำที่ใช้พลังงานจากเครื่องยนต์ดีเซล หรือที่เรียกว่า เรือดำน้ำพลังงานดีเซล

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ใช้แหล่งพลังงานหลักจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่ได้รับการปรับแต่งให้มีขนาดเล็ก เพื่อที่จะบรรจุลงในเรือดำน้ำได้ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ สามารถทำงานได้ดีถึงแม้จะอยู่ใต้น้ำ เรือดำน้ำที่ใช้เทคโนโลยีประเภทนี้จึงสามารถอยู่ใต้น้ำได้ยาวนานหลายเดือน ภายในเรือมีอุปกรณ์หลายอย่างรวมถึงเครื่องสร้างออกซิเจนจากน้ำทะเล ลูกเรือสามารถดำรงชีวิตใต้ทะเลลึกถึง 90 วัน ก่อนที่จะต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ หรือกลับฐานเพื่อเติมเสบียง

โดยสามารถดำลงไปได้ลึกถึง 600 เมตร ส่วนความเร็วในการเคลื่อนที่คือประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงสามารถหลบหลีกการโจมตีจากทั้งเรือและอากาศยานได้ดี องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ศัตรูยากจะตรวจจับการเคลื่อนไหว

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

เรือดำน้ำพิฆาต (Hunter-Killer subs / SSN) ใช้เพื่อโจมตีเรือหรือเรือดำน้ำของศัตรู และสามารถยิงจรวดโจมตีเป้าหมายบนพื้นดินได้ด้วย การปฏิบัติการเรือดำน้ำประเภทนี้ที่โลกได้เห็นชัดๆคือ เมื่อปี 1982 ที่เรือดำน้ำของอังกฤษ HMS Conqueror ที่ถูกส่งไปรบในสงคราม Falkland

ด้วยเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ เรือดำน้ำ HMS Conqueror สามารถมีพลังงานเพียงพอ และเงียบพอในการไล่ติดตามและจมเรือรบ General Balgrano ของกองทัพอาเจนตินาได้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อังกฤษชนะสงครามในครั้งนั้น

สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีนี้ได้ และมีการถ่ายทอดให้อังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และอังกฤษก็ได้ใช้มันในสงคราม Falkland จากนั้นเป็นต้นมาสหรัฐฯ ไม่เคยถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้ประเทศใดอีกเลย จนกระทั่งวันนี้ที่สัญญาว่าจะให้กับออสเตรเลีย

และที่จะให้ออสเตรเลียคาดว่าจะมากกว่า คือ  เรือดำน้ำที่เป็นฐานยิงขีปนาวุธ (Ballistic Missile subs / SSBN) อาวุธลับขั้นสุดยอดของชาติมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐ หน้าที่ของมันคือเป็นฐานยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ แต่จนถึงปัจจุบัน SSBN ยังไม่เคยทำหน้าที่เลย เพราะหากเกิดขึ้นจริง โลกอาจเข้าสู่สงครามได้

เรือดำน้ำ ส่วนหนึ่งในความพยายามคานอำนาจพญามังกร

เทคโนโลยีล้ำยุคขนาดนี้ ทำไมโจ ไบเดน จึงตัดสินใจถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับออสเตรเลีย

สำนักข่าวแทบทุกสำนักในสหรัฐบอกว่า นี่เป็น Rare Step หรือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อย เพราะสหรัฐถือว่านี่คือเทคโนโลยีทางการทหารขั้นสูงสุด

ครั้งสุดท้ายที่สหรัฐฯ ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้คือ เมื่อปี 1958 หรือเมื่อ 60 ปีที่แล้ว โดยมอบให้กับสหราชอาณาจักร พันธมิตรที่สำคัญที่สุดหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และเริ่มเข้าสู่ยุคสงครามเย็น

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า นี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามต่อกรกับอิทธิพลจีนในอินโด-แปซิฟิก เพราะในภูมิภาคนี้ มีเพียงจีนประเทศเดียวที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

จีนมีเรือดำน้ำพิฆาตรวม 6 ลำ แต่ละลำสามารถยิงขีปนาวุธแบบร่อนและยิงตอร์ปิโดได้ หากในอนาคต ออสเตรเลียซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ จะมีศักยภาพทางการทหารในระดับเดียวกับจีน จึงเป็นการคานอำนาจที่สหรัฐฯ ตั้งใจ

ในมุมมองของ แอชลีย์ ทาวน์เชนด์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายต่างประเทศ จากศูนย์สหรัฐฯ ศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ชี้ว่า แม้แต่ออสเตรเลียเองก็ไม่คาดคิดว่าพวกเขาจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้

 

หลังสหรัฐฯประกาศถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้ออสเตรเลีย ประเทสเพื่อนบ้านอย่างนิวซีแลนด์ออกมาเคลื่อนไหวทันที

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกฯ หญิงแห่งนิวซีแลนด์ประกาศว่า เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลียจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าน่านน้ำนิวซีแลนด์  

ข้อกำหนดนี้เป็นไปตามแนวทางของประเทศที่วางสถานะตัวเองเป็น Nuclear-free มาตั้งแต่ปี 1980  โดยในวันนี้ นายกฯ หญิงเน้นย้ำผ่านแถลงการณ์ว่า จุดยืนของนิวซีแลนด์ที่มีกฎหมายห้ามไม่ให้พาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ทุกชนิดเข้าประเทศ ไม่ว่าจะทางบก น้ำ หรืออากาศ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ