สหรัฐฯ ส่งทีมช่วยคณะเผยแพร่ศาสนาชาวอเมริกัน ถูกลักพาตัวในเฮติ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับประเทศเฮติออกมาต่อเนื่อง ที่ใหญ่ที่สุดคือเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเมื่อ ผู้นำประเทศประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิส ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมและอุกอาจ โดยกลุ่มคนที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติบุกเข้าไปในบ้านพักและยิงเขาด้วยอาวุธหนักจนเสียชีวิต ล่าสุดเกิดเหตุลักพาตัวกลุ่มมิชชันนารี หรือกลุ่มเผยแพร่ศาสนาชาวอเมริกันขณะอยู่ระหว่างการเดินทางเยี่ยมสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า คาดฝีมือของกลุ่มแก๊งอาชญากรรม

เหตุสังหารปธน.เฮติ จับกุมหัวหน้าการ์ด อดีตส.ว.อาจมีเอี่ยว

ทูตพิเศษสหรัฐฯในเฮติ ยื่นลาออก ประท้วงผลักดันผู้อพยพกลับประเทศ

กลุ่มมิชชันนารีที่ถูกลักพาตัวได้แก่ นักบวชหญิงและชายจำนวน 12 คน และมีเด็กอีก 5 คน รวมสมาชิกทั้งหมด 17 คนที่ถูกลักพาตัว พวกเขาเป็นสมาชิกขององค์กรช่วยเหลือคริสตศาสนิกชน Christian Aid Ministries ที่มีสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐ องค์กรนี้มุ่งช่วยเหลือผู้นับถือศาสนาคริสต์ทั่วโลก และยังสนับสนุนเด็กชาวเฮติกว่า 9,000 คน

มีรายงานว่าแก๊งลักพาตัวได้ก่อเหตุเมื่อวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม ระหว่าง 8 โมงถึง10 โมงเช้าตามเวลาท้องถิ่น ระหว่างที่เหยื่อกำลังเดินทางไปสนามบินในกรุงปอร์โตรแปงซ์เพื่อกลับสหรัฐฯ

สำนักข่าว The Washington Post เปิดเผยว่าระหว่างถูกจับกุมตัว หนึ่งในมิชชันนารีได้ส่งข้อความขอความช่วยเหลือในแอปพลิเคชั่น WhatsApp เพื่อติดต่อไปยังองค์กรต้นสังกัด  โดยระบุว่า คนขับรถของพวกเขาถูกลักพาตัว และพวกเขาไม่รู้ว่ากำลังจะถูกนำตัวไปที่ไหน อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าข้อความที่ส่งมาเป็นข้อความตัวอักษรหรือวิดิโอ

กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐยังคงไม่เปิดเผยรายละเอียดการลักพาตัว แต่โฆษกได้ออกมายืนยันว่า “ความปลอดภัยของผู้ถือสัญชาติอเมริกันในต่างแดนถือเป็นความสำคัญอันดับแรก”

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแถลงข่าวว่าทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่ FBI ไปยังเฮติ เพื่อร่วมมือกับตำรวจในท้องที่ปฏิบัติภารกิจปล่อยตัวคณะมิชชันนารีที่ถูกลักพาตัว ในกรณีการลักพาตัว เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างระมัดระวัง เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลาม

เหตุลักพาตัวครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ได้ทำข้อตกลงว่าจะสนับสนุนทรัพยากรให้กองกำลังตำรวจของเฮติ เพื่อเสริมสร้างความวางใจจากสาธารณะ  รวมถึงสนับสนุนงบประมาณ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 500 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหากลุ่มอาชญากรที่ใช้ความรุนแรง

หนึ่งในเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่เข้าพบผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเฮติ คือ อุชรา ซียา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงพลเรือน ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน  ซึ่งหากย้อนไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม เธอเพิ่งจะโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ว่า “การถอนรากถอนโคนกลุ่มอาชญากรรมเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อความมั่นคงของประเทศเและความปลอดภัยของประชาชน

รายละเอียดเกี่ยวกับการลักพาตัวครั้งนี้ยังมีไม่มาก มีเพียงการเปิดเผยจากตำรวจเฮติที่ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว AP โดยระบุว่า ผู้ลงมือก่อเหตุน่าจะเป็นแก๊งค์มาโซโว 400 กลุ่มแก๊งค์อาชญากรที่มีประวัติลักพาตัวคนไปเรียกค่าไถ่โดยเฉพาะชาวต่างชาติ

มีรายงานชิ้นหนึ่งระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม กลุ่มนี้ก่อเหตุลักพาตัวไปแล้วกว่า 600 ครั้ง วิธีกา รคือ วางสิ่งกีดขวางบนท้องถนน ปล้นสะดมผู้โดยสารบนรถยนต์หรือรถบัส ก่อนจะลักพาตัวคนไป โดยจำนวนเงินเรียกค่าไถ่มีจำนวนตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ เดือนเมษายนที่ผ่านมา มีนักบวชและแม่ชีชาวฝรั่งเศสถูกลักพาตัวและสันนิษฐานว่า แก๊งค์มาโซโว 400 อาจเป็นคนลงมือ เมื่อปีที่แล้ว ตำรวจเฮติได้เผยภาพ วิลสัน โจเซฟ ผู้นำแก๊งค์มาโซโว 400 เพื่อนำจับในข้อหาฆาตกรรม พยายามฆ่า ลักพาตัว และโจรกรรม

 

แก๊งอาชญากรรมเฮติ ผลผลิตจากรัฐล้มเหลว

กลุ่มแก๊งอาชญากรรมคือหนึ่งในผลผลิตของการเมืองที่วุ่นวายและไร้เสถียรภาพในเฮติ จนถูกจัดให้อยู่ในรัฐล้มเหลว เฮติ คือ ประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติเฮติ มีมรดกทางวัฒนธรรมที่ยาวนาน จนได้รับการขนานนามว่าเป็นอัญมณีแห่งเทือกเขาแอนทิลีสของภูมิภาคอเมริกาใต้ ในยุคที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส เฮติเป็นอาณานิคมที่ร่ำรวยที่สุดของโลก โดยเป็นพื้นที่ผลิตสินค้าส่งออกอย่างน้ำตาล กาแฟ ยาสูบ ฝ้าย และสินค้าพื้นเมืองอีกจำนวนมาก

หลังได้รับเอกราช มีการประกาศเลิกทาส ดูเหมือนเฮติจะมีอนาคต หากไม่เจอกับการถูกลงโทษด้วยการต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาลให้เจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส และถูกซ้ำเติมด้วยการถูกตัดสัมพันธ์จากสหรัฐและชาติตะวันตก เนื่องจากประเทศเหล่านั่นเกรงว่าการเลิกทาสในเฮติจะทำให้ทาสในอเมริกาลุกฮือ เศรษฐกิจของเฮติได้รับผลกระทบอย่างหนักในศตวรรษที่19 สินค้าที่เคยทำเงินสมัยอาณานิคมไม่สามารถสร้างรายได้ให้เฮติได้อีกต่อไป

ปัญหาเศรษฐกิจส่งผลถึงปัญหาอื่น ๆ ผู้คนยากจน เข้าไม่ถึงการศึกษา การเมืองเต็มไปด้วยการแย่งชิงอำนาจและการคอรัปชั่น คนที่มีการศึกษาจำนวนมากหนีออกนอกประเทศ ประชาชนที่อยู่ในประเทศถูกทิ้งให้เผชิญกับปัญหาอาชญากรรมและขาดแคลนรายได้มาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันอัญมณีแห่งเทือกเขาแอนทิลีสของภูมิภาคอเมริกาใต้ถูกจัดให้เป็นประเทศที่ยากจนมากที่สุดในซีกโลกตะวันตก และยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการลักพาตัวสูงที่สุดของโลก และกลุ่มอาชญากรได้ก่อเหตุเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากเหตุสังหารประธานาธิบดี โฌเวเนล โมอิส ในเดือนกรกฎาคม

จากรายงานของสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศเฮติ  ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2021 มีเหยื่อจากเหตุการณ์ลักพาตัวถึง 328 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ที่มีเหยื่อทั้งหมด 234 คน แก๊งอาชญากรต่าง ๆ ในเฮติลักพาตัวทั้งเด็กนักเรียน แพทย์ ตำรวจ และช่วงหลังๆเริ่มมีการลักพาตัวชาวต่างชาติบ่อยขึ้น รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

สองวันหลังจากเกิดเหตุลักพาตัวมิชชันนารีอเมริกัน ประชาชนชาวเฮติในกรุงปอร์โตรแปงซ์ได้ทำการประท้วงหยุดงาน ขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการ กิจการร้านรวงหรือแม้แต่โรงเรียนก็ไม่เปิดทำการ ยังมีประชาชนอีกกลุ่มที่ออกมาประท้วงบนท้องถนน เพราะในขณะนี้พวกเขาไม่มีความปลอดภัยในชีวิต แม้แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถจัดการกับแก๊งลักพาตัวได้

เมื่อประเทศไม่มีความหวัง คนทำอย่างไร?

ส่วนหนึ่งคือ หนีไปประเทศอื่นเพื่อชีวิตที่ดีหว่า ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีชาวเฮติจำนวนมากพยายามอพยพเข้าสหรัฐ แต่ก็ถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ภาพเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้อพยพชาวเฮติที่ใช้วิธีการเดินเท้าจากเม็กซิโกข้ามชายแดนเข้าสหรัฐ ในจุดท้าย ๆ พวกเขาต้องข้ามแม่น้ำรีโอ แกรนด์ ที่คั่นกลางระหว่างเมืองซิวดัด อกูนา (Ciudad Acuna) ของเม็กซิโกและเมืองเดลริโอในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ  ในระหว่างการข้ามแม่น้ำ ปรากฏว่าตำรวจสหรัฐที่ประจำการแนวชายแดนขี่ม้าพร้อมใช้แส้เฆี่ยนตีพวกเขาเพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการข้ามแดน หลายคนบอกว่า เป็นวิธีการปฏิบัติที่ไร้ศีลธรรมและไม่ควรทำกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ