เมียนมาเคือง ไม่ได้ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ชี้ทำลายความเท่าเทียม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การประชุมสุดยอดอาเซียนเริ่มขึ้นแล้วในวันนี้ และเป็นไปตามมติที่ออกมาก่อนหน้า คือ เมียนมาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมด้วย แน่นอนว่ามติดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่พลเอก มิน อ่อง หล่าย โดยล่าสุดทางกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาได้ออกมากล่าวโจมตีว่า การกระทำของอาเซียนครั้งนี้เป็นการทำลายคุณค่าความเท่าเทียมกันของชาติสมาชิก

"มิน อ่อง หล่าย" ถูกกีดกันเข้าประชุมอาเซียน

ผู้นำสหรัฐฯ จ่อร่วมประชุมอาเซียนในรอบ 4 ปี

สุทธิชัย หยุ่น : "มิน อ่อง หล่าย" หักดิบอาเซียน

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้เป็นการประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ จัดขึ้นโดยมีบรูไนเป็นเจ้าภาพ และชาติสมาชิกจะประชุมกัน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม ไปจนถึงวันที่ 28 ตุลาคมนี้  มติที่ชาติสมาชิกตกลงร่วมกันคือ จะไม่อนุญาตให้มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วย

อย่างไรก็ตามทางเมียนมายังสามารถส่งผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศที่ไม่มีความเกี่ยวข้องด้านการเมืองเข้าร่วมประชุมได้ แต่จากการประชุมในวันนี้ทางเมียนมาไม่ได้ส่งใครมาเข้าร่วม

ภาพที่ปรากฏจึงเป็นหน้าจอการประชุมของเมียนมาที่ว่าง ๆ แบบนี้ มีเพียงชื่อประเทศเท่านั้น ไม่มีใครมาเป็นผู้แทน

มติดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่คณะรัฐบาลเมียนมา โดยหนึ่งวันก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้น บนเพจเฟซบุ๊กของกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า รัฐบาลเมียนมาไม่อาจยอมรับการถูกลดทอนบทบาท รวมถึงระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ขัดต่อหลักการของอาเซียน ที่ชาติสมาชิกต้องมีความสำคัญเท่าเทียมกัน

ตอกย้ำด้วยบทสัมภาษณ์จาก ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวท้องถิ่นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า อาเซียนปฏิบัติต่อชาติสมาชิกอย่างไม่เท่าเทียม และในเมื่อการประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นวาระที่ผู้นำประเทศต้องเข้าร่วม การลดทอนให้เมียนมาเหลือเพียงผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ จึงส่งผลกระทบต่ออธิปไตยและภาพพจน์ของประเทศอย่างร้ายแรง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา อาเซียนออกมติกีดกันมิน อ่อง หล่าย ไม่ให้ร่วมประชุม เป็นมติที่ไม่ค่อยจะได้เห็นนักจากกลุ่มประเทศที่ยึดถือนโยบายหรือหลักการไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในซึ่งกันและกัน มติดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับในทางบวกจากฝั่งรัฐบาลเงา หรือ NUG ซึ่งเป็นการรวมกันของสมาชิกที่ไม่ได้เข้าสภา เพราะถูกมิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารก่อนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามหากย้อนไปเมื่อเดือนเมษายน มิน อ่อง หล่าย เคยเดินทางไปร่วมประชุมอาเซียนมาแล้ว และนำมาสู่การกำหนดฉันทามติ 5 ข้อร่วมกัน ในการแก้ปัญหาการเมืองเมียนมา ได้แก่

1.จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่

2.การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

3.ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

4.อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)

5.ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แต่ปัญหาคือ เมียนมาไม่ยอมทำตามสักข้อ รวมถึงข้อ 5

 

ผู้แทนพิเศษที่อาเซียนแต่งตั้งคือ เอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไนถูกกีดกัน โดยรัฐบาลทหารเมียนมาบ่ายเบี่ยงที่จะให้ผู้แทนพิเศษอาเซียน ได้พบปะกับนางอองซาน ซูจี โดยอ้างว่าไม่สามารถให้พบกับบุคคลที่อยู่เป็นผู้ต้องหาในคดีหนักหลายคดีได้ รวมถึงที่ผ่านมายังคงมีรายงานการปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากองค์การช่วยเหลือนักโทษการเมือง หรือ AAPP ระบุว่า  ตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีชาวเมียนมาเสียชีวิตจากการปราบปรามแล้ว 1,199 ราย ถูกคุมขังอีกไม่ต่ำกว่า 7,000 ราย

นี่เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้อาเซียนไม่พอใจ เป็นที่มาของมติไม่เชิญพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่ายเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กำลังเกิดขึ้น

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คริสติน ชราเนอร์ บัวร์เกอเนอร์ ผู้แทนพิเศษด้านกิจการเมียนมาของสหประชาชาติ เพิ่งระบุว่า หากมิน อ่อง หล่าย ให้ความสำคัญกับอนาคตของเมียนมาจริงตามที่พูด ก็ควรคืนอำนาจให้กับประชาชน พร้อมย้ำกับนานาชาติว่า อย่ายอมแพ้กับการแก้ปัญหาเมียนมา และลำพังแค่การยอมรับสถานะรัฐบาลของมิน อ่อง หล่าย ยังไม่เพียงพอที่จะยุติความรุนแรง

คริสติน ชราเนอร์ บัวร์เกอเนอร์ เพื่งจะหมดสมัยในตำแหน่ง ผู้แทนพิเศษด้านกิจการเมียนมาของสหประชาชาติ หลังทำงานมา 3 ปี ล่าสุดทางสหประชาชาติแต่งตั้ง โนลีน เฮย์เซอร์ นักการทูตอาวุโสชาวสิงคโปร์ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

หลังการประชุม ผู้นำอาเซียนได้ออกความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุมของเมียนมา และพูดถึงสถานการณ์เมียนมาในขณะนี้

นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุนเซ็น ผู้ที่จะรับหน้าที่ประธานอาเซียนปีหน้า ได้กล่าวถึงเมียนมาว่า “วันนี้อาเซียนไม่ได้ขับไล่เมียนมาจากกรอบงานของอาเซียน แต่เมียนมาทิ้งสิทธิ์ของตนเอง”

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เร็ตโน มาร์ซูดิ กล่าวว่า อาเซียนเตรียมตำแหน่งพร้อมให้เมียนมา แต่เมียนมาเลือกที่จะไม่เข้าร่วม

เร็ตโนบอกว่า ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโค วิโดโด แสดงความเสียใจที่เมียนมามีทัศนคติไม่ต้อนรับความพยายามทางการทูตของอาเซียน

นายกรัฐมนตรีประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำอาเซียนที่นับว่ามีความสนิทสนมกับนายพลอาวุโสมินอ่องหล่ายมากที่สุด ได้เรียกร้องให้เมียนมาทำตามข้อตกลงห้าประการของอาเซียน ย้ำว่าข้อตกลงนี้สำคัญกับภาพลักษณ์ของอาเซียน และยังเป็นบททดสอบเพื่อการแก้ปัญหา

พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า “บทบาทอันสำคัญของอาเซียนในการพูดถึงสถานการณ์นี้มีความจำเป็นอย่างมาก และการแก้ปัญหานี้จะส่งผลกับความน่าเชื่อถือของอาเซียนในประชมคมโลก”

 

ด้านศาสตราจารย์ ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า นี่เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่อาเซียนจะได้รับความร่วมมือจากนานาชาติ และจากในประเทศเมียนมา

ศาสตราจารย์ ดร. ฐิตินันท์  ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “นโยบายไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป เพราะกองทัพติดอาวุธของเมียนมาได้บริหารจัดการย่ำแย่เสียจนภาพลักษณ์ของอาเซียนตกต่ำในสายตานานาชาติ”

ความพิเศษอีกประการของการประชุมครั้งนี้คือ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์ด้วย นับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่ผู้นำสหรัฐฯ ร่วมประชุมอาเซียน โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2017 ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จัดขึ้นที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ คาดกันว่าเป้าประสงค์มีขึ้นเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของชาติพันธมิตรในการรับมือกับอิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ตลอดการประชุมที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 วันนี้ ผู้นำจีน และรัสเซียก็จะเข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นคาดว่า ผู้นำสหรัฐฯ ยังต้องการประสานความร่วมมือกับ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อความมั่นคงในภูมิภาค หลังจากเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเพื่งจะลงนามข้อตกลงสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลียไป

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ