WWF รายงาน พบสิ่งมีชีวิตใหม่ 224 สปีชีส์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยังคงมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ แต่ส่วนใหญ่หายาก ประชากรน้อย เสี่ยงสูญพันธุ์ ตอกย้ำความสำคัญการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เผยแพร่รายงานการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ทั้งพืชและสัตว์ ในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งครอบคลุม 5 ประเทศ คือ เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา ไทย และเมียนมา โดยการค้นพบนี้เป็นการค้นพบตั้งแต่ปี 2020 แต่เพิ่งรายงานออกมา

สิ่งมีชีวิตใหม่ที่ค้นพบในลุ่มน้ำโขงมีทั้งหมด 224 สปีชีส์ แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 1 สปีชีส์ สัตว์เลื้อยคลาน 35 สปีชีส์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 17 สปีชีส์ ปลา 16 สปีชีส์ และพืช 155 สปีชีส์

พบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่กว่า 20 สายพันธุ์ในโบลิเวีย

ประชากรสัตว์ป่าทั้งโลกลดลง 2 ใน 3 ในช่วงไม่ถึง 50 ปีที่ผ่านมา

WWF ระบุว่า พื้นที่ลุ่มน้ำโขงนั้น เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่มีเอกลักษณ์และใกล้สูญพันธุ์จำนวนมาก นับตั้งแต่ปี 1997 หรือ 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่รวมแล้วมากกว่า 3,000 สปีชีส์ ซึ่งสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แถบนี้

ตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ที่ค้นพบที่น่าสนใจ เช่น กะท่าง หรือนิวต์ (Newt) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่หน้าตาละม้ายคล้ายกิ้งก่า สายพันธุ์ที่พบใหม่คือ “กะท่างน้ำดอยภูคา (Doi Phu Kha Newt)” เป็นนิวต์สีส้ม-น้ำตาล มีสันกลางหัวยาว และมีสันคล้ายอักษรตัววี (V) บนหัว ปัจจุบันมีรายงานพบที่เดียว คือที่ดอยภูคา จ.น่าน ประเทศไทย

หรือจะเป็น “กบหัวโต Leptobrachium lunatum” ที่พบในกัมพูชาและเวียดนาม ลักษณะเด่นคือเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ ดวงตาสีแดง และมีม่านตาสีส้มเป็นรูปจันทร์เสี้ยว เป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ lunatum ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินที่แปลว่า “พระจันทร์”

ในกลุ่มพืช ที่น่าสนใจคือ Amomum foetidum เป็นพืชตระกูลขิง พบในร้านขายต้นไม้ในสกลนคร มีฉายาว่า “แมงแคงแห่งอาณาจักรพืช” ซึ่งแมงแคงเป็นภาษาถิ่นอีสานและลาวใช้เรียกแมลงชนิดหนึ่ง ลำตัวแบน มีกลิ่นฉุน ฉายาดังกล่าวจึงสื่อถึงกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของพืชสายพันธุ์ใหม่นี้

พืชอีกชนิดที่โดดเด่นในรายงานการค้นพบคือ Begonia chenii เป็นพืชตระกูลบีโกเนีย มีดอกสีแดง ผลคล้ายเบอร์รี พบในแถบรัฐคะฉิ่น บริเวณพื้นที่สูงของเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการทำเหมืองและการตัดไม้ผิดกฎหมายสูง เป็นภัยคุกคามที่เลวร้ายต่อพืชสายพันธุ์ใหม่นี้

ยังคงอยู่ในหมวดพืช เพราะมีสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่อีกหนึ่งชนิดที่น่ามหัศจรรย์ นั่นคือ Laobambos calcareus หรือ “ไผ่อวบน้ำ (Succulent Bamboo)” เป็นไผ่สายพันธุ์แรกของโลก ที่พบว่าสามารถกักเก็บน้ำไว้ในเซลล์ตามส่วนต่าง ๆ โดยลำต้นของมันจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ คาดว่าเป็นการปรับตัวเพื่อช่วยให้อยู่รอดได้ในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง พบใน จ.คำม่วน ของ สปป.ลาว

ขยับมาที่กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน ที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ มีการค้นพบ Pareas geminatus หรือ “งูกินทากแฝด (Twin Slug Snake)” เพราะมีลักษณะคล้ายงูกินทากแฮมป์ตัน แต่มีเอกลักษณ์ของตัวเองเพราะมีเกล็ดสีเหลืองอมน้ำตาลพร้อมลวดลายที่ไม่เหมือนงูสายพันธุ์อื่น มีแถบสีดำไล่มาตั้งแต่บริเวณคอจนถึงหลังดวงตา

ที่เวียดนามยังมีการค้นพบ Achalinus zugorum หรือ “งูเกล็ดแปลกของซัก (Zug’s odd-scaled snake)” ตั้งชื่อตามนักสัตววิทยา จอร์จ ซัก และแพทริเซีย ซัก มีความแปลกกว่างูชนิดอื่นคือ มีเกล็ดที่ไม่ทับซ้อนกัน มีฟันที่ไว้ใช้สำหรับล่าเหยื่อที่มีร่างกายอ่อนนุ่ม และมีตาที่มองเห็นได้ดีเป็นพิเศษในที่มืด

อีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจคือ “ค่างโพพา (Popa langur)” สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงหนึ่งเดียวในรายงานการค้นพบครั้งนี้ ซึ่งเมื่อปลายปี 2020 มีสื่อหลายสำนักเคยรายงานการค้นพบไปก่อนแล้ว โดยพบบริเวณภูเขาไฟโพพาในเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวที่พบค่างสปีชีส์นี้

ค่างโพพามีลักษณะเด่น 2 ประการคือ ลายวงกลมสีขาวรอบดวงตา และหนวดที่ชี้ไปด้านหน้า ปัจจุบัน ค่างโพพาถูกเสนอชื่อให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในบัญชีแดงของ IUCN เนื่องจากเชื่อว่ามีประชากรเหลือเพียง 200-250 ตัวเท่านั้น

เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็ม 4 ผ่านเครือข่ายมือถือ เริ่ม 27 ม.ค. นี้

เค. โยคานันด์ หัวหน้าด้านสัตว์ป่าและอาชญากรรมต่อสัตว์ป่าของ WWF ประจำภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกล่าวว่า “สปีชีส์ใหม่เหล่านี้เป็นผลผลิตที่พิเศษและสวยงามจากวิวัฒนาการนับล้านปี ... น่าเสียดายที่พวกมันอยู่ภายใต้การคุกคามที่รุนแรง โดยที่หลายชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการค้นพบเสียอีก”

WWF ระบุว่า พฤติกรรมของมนุษย์ในปัจจุบัน มีความเสี่ยงอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอย่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย การนำโรคมาสู่มนุษย์ และการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

“ลุ่มน้ำโขงยังคงเป็นพื้นที่ที่มีการค้นพบใหม่ ๆ แต่การค้นพบเหล่านี้ก็เน้นย้ำถึงปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการค้าสัตว์ป่า ... เราต้องทำงานร่วมกัน และอย่างรวดเร็ว เพื่ออนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเหล่านี้และถิ่นที่อยู่ของพวกเขาที่ทำให้พื้นที่แถบนี้มีเอกลักษณ์ เพื่อให้เรายังคงสามารถค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ ต่อไปได้ในอนาคต” WWF ระบุ

"เช็ก 5 อาการโอมิครอน" ที่แพทย์ตรวจพบในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด

เรียบเรียงจาก BBC / The Guardian / WWF

ภาพจาก WWF

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ