เยอรมนีเตรียมทำฟาร์มหมูดัดแปลง ผลิต "หัวใจหมู" ไว้ปลูกถ่ายให้มนุษย์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมวิจัยในมิวนิกเตรียมทำฟาร์มหมูดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อผลิตหัวใจหมูไว้ปลูกถ่ายให้กับมนุษย์ที่ต้องเปลี่ยนอวัยวะโดยเฉพาะ

หลังจากเมื่อเดือนที่แล้วมีข่าวว่าทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐฯ สามารถหลูกถ่ายหัวใจหมูให้ผู้ป่วยโรคหัวใจได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกโดยใช้หัวใจหมูที่ผ่านการตกแต่งยีน 10 ตำแหน่งให้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้

ล่าสุด เอ็กฮาร์ด วูล์ฟ นักวิทยาศาสตร์ และทีมวิจัย จากมหาวิทยาลัยลุดวิก-แม็กซิมิเลียนส์ (LMU) ในมิวนิก ประเทศเยอรมนี วางแผนที่จะโคลนและผสมพันธุ์สุกรดัดแปลงพันธุกรรมในปีนี้ เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวใจสำหรับปลูกถ่ายให้มนุษย์

ครั้งแรกของโลก! ปลูกถ่าย “หัวใจหมู” ให้ผู้ป่วยโรคหัวใจระยะสุดท้าย

ปฏิวัติวงการแพทย์! สหรัฐฯ ปลูกถ่ายไตหมูในมนุษย์สำเร็จครั้งแรกในโลก

นักวิทย์สร้างตัวอ่อนครึ่งคนครึ่งลิง หวังแก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะปลูกถ่าย

วูล์ฟกล่าวว่า ทีมของเขามีเป้าหมายที่จะเพาะสุกรสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งดัดแปลงพันธุกรรมมาจากสายพันธุ์เกาะโอ๊คแลนด์ เพื่อให้พร้อมสำหรับการนำมาทดลองปลูกถ่ายหัวใจจริงภายในปี 2025

บริษัทสิงคโปร์พัฒนาชุดตรวจโควิด-19 PCR ตรวจ “โอมิครอน” ได้ใน 90 นาที

“แนวคิดของเราคือดำเนินการตามแบบจำลองที่ง่ายกว่า ซึ่งก็คือการดัดแปลงพันธุกรรม 5 ตำแหน่ง” วูล์ฟกล่าว

งานวิจัยดังกล่าวได้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงอย่างดุเดือดในเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการบริจาคอวัยวะต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป และมีการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์อย่างเข้มข้น

วูล์ฟทำการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่คน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Xenotransplant” มาเป็นเวลา 20 ปี เขาบอกว่า ทีมของเขาจะใช้เทคโนโลยีการโคลนนิ่งเพื่อสร้าง “สัตว์รุ่นแรก” เท่านั้น ซึ่งจะมีการผสมพันธุ์ต่อไปในอนาคต

วูลฟ์กล่าวว่า สุกรดัดแปลงรุ่นแรกจะสำเร็จภายในปีนี้ และหัวใจของพวกมันจะได้รับการทดสอบปลูกถ่ายในลิงบาบูนก่อน จากนั้นทีมจะทำเรื่องขออนุมัติการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปี

หัวใจของหมูเหล่านี้จะถูกนำมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าอวัยวะล้มเหลวซึ่งไม่มีทางเลือกในการรักษาอื่น ๆ ตามข้อมูลจากมูลนิธิปลูกถ่ายอวัยวะของเยอรมนี ณ สิ้นปี 2564 ในเยอรมนีที่รอหัวใจปลูกถ่ายอยู่ประมาณ 8,500 คน

สำหรับข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นนั้น ฝ่ายที่สนับสนุนการปลูกถ่ายอวัยวะหมูให้กับมนุษย์บอกว่า อวัยวะปลูกถ่ายจากสัตว์เหล่านี้สามารถช่วยชี้วิตคนได้อีกมาก และช่วยลดจำนวนผู้ที่ต้องรอคิวการปลูกถ่ายหัวใจ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านกล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของสัตว์ ลดคุณค่าของสุกรจากสิ่งมีชีวิตให้กลายเป็นเพียงแหล่งอะไหล่สำรองของมนุษย์ ยังไม่นับลิงที่ถูกใช้ในการทดลองปลูกถ่ายที่ต้องตายด้วยความเจ็บปวด

ในเดือน ก.พ. 2019 ในเยอรมนีมีการยื่นคำร้องของกลุ่ม Doctors Against Animal Experiments ที่เรียกร้องให้ทางการแบนการวิจัยการปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์สู่คน โดยรวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านได้กว่า 57,000 รายชื่อ

คริสตินา เบิร์ชโทลด์ โฆษกสมาคมสวัสดิภาพสัตว์สาขามิวนิก กล่าวว่า “สัตว์ไม่ควรทำหน้าที่เป็นอะไหล่ของมนุษย์ ... ไม่ว่าจะสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ในฟาร์ม สัตว์ที่โคลนนิ่งขึ้นมา หรือสัตว์ที่เกิดตามธรรมชาติ ทั้งหมดล้วนมีความต้องการ ความกลัว และสิทธิเหมือน ๆ กัน”


เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ