สรุปเหตุการณ์ 1 เดือนรัสเซียบุกยูเครน ความหวังสงครามยุติยังริบหรี่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หลังรัสเซียเริ่มบุกยูเครน ตายหลายพัน ลี้ภัย 3.6 ล้านคน

สงครามยูเครน หรือที่รัสเซียเรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ได้ดำเนินมาเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว การโจมตีได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายพันคน ผู้ลี้ภัยหลายล้านคนต้องพลัดถิ่น และเมืองหลายเมืองถูกทำลายล้าง แต่ความขัดแย้งครั้งนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ

นิวมีเดีย พีพีทีวี สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้โลกทั้งโลกอกสั่นขวัญแขวนไปตาม ๆ กันว่า นี่จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่

กุมภาพันธ์ระอุ! ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน บานปลายเป็น “สงคราม”

ด่วน! ปูตินประกาศ “รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน” ชี้อาจต้องนองเลือด

24 ก.พ. หลังจากฮึ่มฮั่มกันมาตั้งแต่ปลายปี 2021 ในที่สุด ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ก็ได้แถลงผ่านโทรทัศน์ตั้งแต่ช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่นว่า ประกาศเริ่ม “ปฏิบัติการทางทหาร” ในยูเครน โดยอ้างว่ามีจุดประสงค์เพื่อปกป้องพลเรือน เป็นการเกิดฉากสงครามครั้งนี้

ปูตินกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเพื่อ “รับมือภัยคุกคามที่มาจากยูเครน” เขาเสริมว่า รัสเซียไม่มีเป้าหมายที่จะครอบครองยูเครน ซึ่งนี่นับเป็นการรุกรานครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

หลังประกาศ รัสเซียก็บุกเข้าโจมตียูเครนจาก 3 ทิศทาง คือ ทิศเหนือ จากรัสเซียและเบลารุส ทิศตะวันออก จากภูมิภาคดอนบาสที่ควบคุมโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลัง และทิศใต้จากคาบสมุทรไครเมียซึ่งรัสเซียผนวกไปได้เมื่อ 8 ปีก่อน

ในวันแรก กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน และอีกหลายเมืองถูกโจมตี มีรายงานผู้เสียชีวิตวันแรกราว 130 ราย นอกจากนี้ รัสเซียยังสามารถยึดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ “เชอร์โนบิล” ไว้ได้ด้วย จนหลายฝ่ายหวั่นว่าจะเกิดหายนะนิวเคลียร์ครั้งใหม่ ทำให้ตลาดหุ้น ทอง และน้ำมัน เกิดความปั่นป่วน

รัสเซียยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลสำเร็จ หวั่นหายนะครั้งใหม่

ในตอนแรกมีการคาดการณ์กันว่า ด้วยแสนยานุภาพของรัสเซีย อาจยึดยูเครนได้ในเวลาเพียง 3 วัน แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏคือ ยูเครนไม่ยอมจำนน และยังได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธจากนานาชาติ ทำให้ตอบโต้กับรัสเซ๊ยโดยไม่เพลี่ยงพล้ำมากนัก ยังมีกองกำลังป้องกันยูเครนที่มีพลเรือนหลายคนตัดสินใจเข้าร่วม เพื่อปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของตน

ในขณะเดียวกัน นานาชาติก็เริ่มมาตรการแซงก์ชัน (คว่ำบาตร) รัสเซียในด้านต่าง ๆ เช่น ห้ามการนำเข้าสินค้ารัสเซีย ตัดรัสเซียออกจากเครือข่าย SWIFT ให้แบรนด์สินค้าต่าง ๆ ถอนตัวจากการดำเนินงานในรัสเซีย ฯลฯ

ปธน.ยูเครน ขอบคุณชาติตะวันตก ตัดแบงก์รัสเซียจากเครือข่าย SWIFT

ปูตินสั่งหน่วยรบนิวเคลียร์ “เตรียมพร้อมต่อสู้” ส่อเค้าสงครามนิวเคลียร์

ต่อมาในวันที่ 27 ก.พ. ปูตินประกาศให้หน่วยรบนิวเคลียร์เตรียมพร้อม จนโลกเกิดความปั่นป่วนขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเกรงว่าจะเกิดการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการทำสงคราม ซึ่งจะสร้างความเสียหายมหาศาล จนหลายประเทศเร่งการส่งอาวุธให้ยูเครนและยกระดับการคว่ำบาตรรัสเซีย

ในวันถัดมา 28 ก.พ. ยูเครนและรัสเซียจัดให้มีการเจรจารอบแรก โดยมีเบลารุสเป็นคนกลาง แต่เป็นเพียงการยื่นข้อเสนอของแต่ละฝ่าย ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งระหว่างที่เจรจา ก็ยังคงมีการโจมตีเกิดขึ้นในหลายเมืองของยูเครน

เข้าเดือนใหม่วันที่ 2 มี.ค. มีรายงานว่าหอส่งสัญญาณโทรทัศน์ใจกลางกรุงเคียฟถูกโจมตีจนเสียหายและมีผู้เสียชีวิต รวมถึงอาคารบ้านเรือนของพลเรือนในละแวกใกล้เคียงก็โดนลูกหลงไปด้วย

ในช่วงเวลานี้ หลายเมืองทั่วยูเครน เช่น ลวีฟ มีการอนุมัติให้ประชาชนสามารถซื้อหาอาวุธปืนได้ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เพื่อใช้ในการป้องกันตนเองและประเทศ

ในวันเดียวกันนี้ รัสเซียยังอ้างว่าสามารถยึด “เคอร์ซอน” เมืองท่าทางตอนใต้ของยูเครนได้แล้ว ซึ่งนับเป็นเมืองใหญ่เมืองแรกและเมืองเดียวของยูเครนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย

รัสเซียอ้าง ยึด “เคอร์ซอน” เมืองท่าสำคัญทางใต้ของยูเครนได้แล้ว

ด้าน อิกอร์ โคนาเชนคอฟ โฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซีย เปิดเผยว่า หลังปฏิบัติการเกือบ 1 สัปดาห์ มีทหารรัสเซียเสียชีวิตจากการบุกยูเครนแล้ว 498 นาย และบาดเจ็บอีก 1,597 นาย ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวจนถึงตอนนี้ที่รัฐบาลรัสเซียเปิดเผยตัวเลขความสูญเสียของฝ่ายตนเอง

นอกจากนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ยังรับคำร้องของยูเครน เริ่มไต่สวนรัสเซียในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม จากการโจมตีพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้า

ขณะที่สมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ที่จัดการประชุมเร่งด่วน เพื่อหาทางออกวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน โดยประชุม 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ก็ได้มีการลงมติประณามรัสเซีย

โดยมีผู้แทน 141 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย โหวตเห็นชอบให้มีการประณามรัสเซีย

ทั้งนี้ มี 5 ประเทศโหวตคัดค้าน คือ รัสเซีย เบลารุส เกาหลีเหนือ ซีเรีย และเอริเทรีย ส่วนอีก 35 ประเทศ รวมถึงจีน เลือกงดออกเสียง ในจำนวนนี้มีเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างเวียดนามและ สปป.ลาว ด้วย

ท่าทีไทยในการกระชุม UN ร่วมโหวตประณามรัสเซีย-เรียกร้องหยุดยิงทันที

จากนั้นในวันที่ 3 มี.ค. มีการเจรจากันระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นครั้งที่ 2 ในเบลารุส ซึ่งมีความเห็นพ้องต้องกันในการเปิดเส้นทางมนุษยธรรม ให้พลเรือนที่ได้รับผลกระทบ อพยพออกจากพื้นที่การสู้รบได้อย่างปลอดภัย และจัดทำข้อตกลงหยุดยิงในบริเวณเส้นทางเหล่านี้

วันที่ 4 มี.ค. เกิดเรื่องระทึกอีกครั้ง เมื่อรัสเซียรายงานว่า กองกำลังรัสเซียได้โจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia)” ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป จนเกิดเพลิงไหม้ในโรงไฟฟ้า และทำให้เกิดความกังวลระลอกสองต่อจากเมื่อครั้งรัสเซียยึดเชอร์โนบิลว่า จะเกิดหายนะนิวเคลียร์หรือไม่

ด่วน! รัสเซียโจมตี “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป”

จากนั้นรัสเซียยังได้ออกกฎหมายใหม่ซึ่งเชื่อว่านำมาใช้ในช่วงวิกฤตนี้โดยเฉพาะ นั่นคือกฎหมายที่ว่า “การเผยแพร่ข้อมูลที่รัสเซียมองว่าเป็นข้อมูลปลอมโดยเจตนา” มีความผิดทางกฎหมาย โดยอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี และสั่งบล็อกเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ 5 สำนัก

วันที่ 5 มี.ค. สื่อรัสเซีย รายงานว่า รัสเซียจะดำเนินการ “หยุดยิง” ใน 2 พื้นที่ของยูเครน คือเมืองมาริอูโปล และเมืองโวลโนวากา เพื่อให้พลเรือนสามารถอพยพได้ ตามมติเจรจาเห็นชอบเปิดเส้นทางมนุษยธรรมก่อนหน้านี้

แต่ปรากฏว่าการอพยพไม่สามารถดำเนินการได้ โดยูเครนอ้างว่ารัสเซียไม่ยอมหยุดยิง ขณะที่รัสเซียอ้างว่ากลุ่มหัวรุนแรงของยูเครนต่างหากที่ไม่ยอมหยุดยิง จนต้องมีความพยายามในการเปิดเส้นทางอพยพใหม่อีกหลายครั้ง

ในวันที่ 7 มี.ค. ทางการรัสเซียได้ออกข้อเรียกร้องที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดต่อยูเครน เพื่อแลกกับการยุติปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย หรือที่พูดกันในโลกภายนอกรัสเซียว่า “ยุติสงคราม” ได้แก่

  1. เรียกร้องให้ยูเครนยุติปฏิบัติการทางทหาร หรือก็คือ ให้ยูเครนเลิกต่อสู้ เป็นฝ่ายวางอาวุธก่อน โดยนัยก็คือให้ยอมแพ้นั่นเอง
  2. เปลี่ยนรัฐธรรมนูญเพื่อประคับประคองความเป็นกลาง ไม่เข้าฝักฝ่ายใด และต้องไม่มีเป้าหมายที่จะเข้า “กลุ่ม” ใด ๆ ซึ่งในที่นี้คาดว่าหมายความถึงนาโต รวมถึงการรวมกลุ่มของชาติตะวันตกอื่น ๆ
  3. ยอมรับไครเมียเป็นดินแดนของรัสเซีย
  4. ยอมรับสาธารณรัฐโดเนตสค์และลูฮันสค์เป็นรัฐอิสระ

ซึ่งไม่มีการตอบกลับจากยูเครนว่ายอมรับเงื่อนไขเหล่านี้หรือไม่ แต่ได้มีการส่งสัญญาณถอดใจในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต

วันที่ 9 มี.ค. เกิดเหตุโรงพยาบาลเด็กและสูติกรรมในเมืองมาริอูโปลถูกถล่มด้วยการโจมตีทางอากาศ ทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 17 ราย บางรายเป็นหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งต่อมาเสียชีวิตทั้งแม่และเด็ก ทำให้ยูเครนและนานาชาติประณามการกระทำของรัสเซีย แม้รัสเซียจะอ้างว่าโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นแหล่งกบดานของกลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธในยูเครน

หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตพร้อมลูกในท้อง จากเหตุถล่ม รพ.เด็กสัปดาห์ก่อน

หลังจากนั้นยูเครนยังคงถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่กรุงเคียฟและเมืองมาริอูโปลซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่รัสเซียต้องการ ทำให้ในกรุงเคียฟต้องขยายเวลาการประกาศกฎอัยการศึก ส่วนการเจรจาหลายรอบหลังจากนั้นก็ยังคงไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนซึ่งจะนำไปสู่การยุติสงคราม แม้ผู้นำยูเครนเผยว่า “ใกล้ความจริง” แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีเมืองเล็กรอบ ๆ กรุงเคียฟหลายเมืองที่ถูกรัสเซียควบคุมไว้ชั่วคราว

และในวันที่ 16 มี.ค. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (ICJ) ในกรุงเฮก ได้สั่งให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครนโดยทันที โดยกล่าวว่า ศาลไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่สนับสนุนการอ้างเหตุผลของรัสเซียในการทำสงครามที่ว่า ยูเครนได้กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวรัสเซียในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน

ศาลฯ มีมติดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 13 ต่อ 2 เสียง สำหรับคำสั่งชั่วคราว “ให้สหพันธรัฐรัสเซียระงับการปฏิบัติการทางทหารในดินแดนยูเครนในทันที” ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นผล

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มีมติสั่งรัสเซียหยุดการบุกโจมตียูเครนโดยทันที

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ปูตินได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานเฉลิมฉลองครบรอบ 8 ปีที่ผนวกไครเมียได้สำเร็จ โดยพูดเกี่ยวกับ “ความชอบธรรม” ของการปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน

งานดังกล่าวจัดขึ้นที่สนามกีฬาแห่งชาติรัสเซีย มีประชาชนหลายหมื่นคนเข้าร่วม โดยต่างพากันโบกธงชาติรัสเซียเพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนปูติน ในงานยังมีป้ายขนาดใหญ่ที่เขียนว่า “เพื่อโลกที่ปราศจากลัทธินาซี”

ปูตินกล่าวว่า “รัสเซียจะดำเนินการตามแผนทั้งหมดของเราในยูเครน ... เพื่อช่วยให้ผู้คนพ้นจากความทุกข์ทรมานนี้ จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นี่คือเหตุผลหลัก นี่คือแรงจูงใจ และจุดประสงค์ของปฏิบัติการทางทหารที่เราดำเนินการในภูมิภาคดอนบาส (ยูเครนตะวันออก) และในยูเครน”

สัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่า ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนอาจยังไม่จบในเร็ววัน คือการให้สัมภาษณ์ของ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียที่ว่า รัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์หากอยู่ในจุดที่เป็นภัยคุกคาม พร้อมกับยอมรับว่า รัสเซียยังไม่บรรลุเป้าหมายทางทหารใด ๆ ในยูเครน และไม่ปฏิเสธว่ารัสเซียจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์

รัสเซียพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์ หากตกอยู่ในภัยคุกคาม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค. นายกเทศมนตรีของกรุงเคียฟยืนยันว่า แม้รัสเซียจะยังโจมตีอย่างหนัก แต่กองกำลังยูเครนก็สามารถยึดหลายเมืองที่ถูกรัสเซียยึดไปก่อนหน้านี้กลับคืนมาได้แล้ว อย่างเมืองมาคาริฟ และเมืองเออร์พิน

ยูเครนระบุว่า ได้สังหารทหารรัสเซียไปแล้ว 14,000 นาย และทำลายรถถัง รถหุ้มเกราะ ปืนใหญ่ และเครื่องบินหลายร้อยลำ แม้แต่การประเมินแบบกดตัวเลขของสหรัฐฯ ก็ยังประเมินว่า มีทหารรัสเซียเสียชีวิตอย่างน้อย 7,000 คน

ด้านองค์การสหประชาชาติระบุว่า ขณะนี้มีชาวยูเครนมากกว่า 3.6 ล้านคนหลบหนีออกนอกประเทศภายในเวลาเพียง 1 เดือนที่ผ่านมา และยังมีอีก 6.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่นอยู่ภายในยูเครน

นี่คือความเคลื่อนไหวโดยสังเขปตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาของสงครามยูเครน ซึ่งยากที่จะคาดการณ์ต่อไปว่า เรื่องนี้จะจบลงที่ตรงไหน และคำถามสำคัญที่ไม่มีใครทราบคำตอบคือ เมื่อไรสงครามนี้จึงจะยุติ

ยูเครนยึดบางเมืองรอบกรุงเคียฟคืนมาได้แล้ว

"ปูติน"โต้กลับตะวันตก เปลี่ยนสัญญาซื้อก๊าซต้องใช้เงินรูเบิล

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ