ครบรอบ 6 เดือนสงครามรัสเซีย-ยูเครน คาดเดาไม่ได้ลงเอยอย่างไร


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สรุปเหตุการณ์สำคัญตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งวิกฤตนี้ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะจบลงโดยง่าย

วันนี้ (24 ส.ค.) เป็นเวลา 6 เดือนแล้ว หลังจากที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย มีคำสั่งเริ่ม “ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน” เมื่อวันที่ 24 ก.พ. จนกลายเป็นการรุกรานดินแดนครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ปฏิบัติการพิเศษของรัสเซีย หรือที่ยูเครนและชาติตะวันตกเรียกว่าสงครามนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมหลายหมื่นคน มีประชาชนต้องลี้ภัยออกจากยูเครนมากกว่า 6 ล้านคน ซึ่งถือเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุด

อดีตพลร่มรัสเซียแฉ กองทัพรัสเซียในสงครามยูเครนขาดแคลนทุกอย่าง

คาร์บอมบ์สังหารลูกสาวของคนใกล้ชิดปูติน ยูเครนยันไม่มีเอี่ยว

นี่คือวิกฤตใหญ่ของโลกที่ไม่ได้กระทบกับแค่ชาวรัสเซียและชาวยูเครน แต่ทำให้ราคาพลังงานและราคาอาหารพุ่งสูงทั่วโลก รวมถึงกระทบกับระบบเศรษฐกิจของนานาประเทศด้วย

เรามาย้อนดูเหตุการณ์สำคัญในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานี้กันว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และความขัดแย้งครั้งนี้ จะไปจบลงที่ตรงไหน

สาเหตุ "รัสเซียบุกยูเครน” ไทม์ไลน์สรุปที่มาความขัดแย้ง

24 ก.พ. รัสเซียเริ่ม “ปฏิบัติการทางทหาร”

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนบ่มเพาะมานานหลายสิบปีตั้งแต่ครั้งนาโต (NATO) เริ่มขยายอิทธิพลมายังประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับรัสเซีย และเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และไปถึงจุดพีคในปี 2014 ที่รัสเซียผนวกเอาไครเมียไป

สถานการณ์ในปี 2021 คุกรุ่นอีกครั้ง เมื่อยูเครนแสดงความประสงค์ต้องการเข้าร่วมนาโต ซึ่งเป็นเรื่องที่รัสเซียยอมไม่ได้ เพราะเท่ากับจะมีศัตรูมาประชิดอยู่หน้าบ้าน จึงส่งกำลังรบไปขู่ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการรุกรานยูเครน

อย่างไรก็ตาม วันที่ 24 ก.พ. เวลา 06.00 น. ตามเวลากรุงมอสโก ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ได้แถลงผ่านโทรทัศน์ ประกาศเริ่ม “ปฏิบัติการทางทหาร” ในพื้นที่ดอนบาส หรือภูมิภาคตะวันออกของยูเครน โดยอ้างว่ามีจุดประสงค์เพื่อขจัดนาซี (Denazify) ปกป้องพลเรือน และ “รับมือภัยคุกคามที่มาจากยูเครน” โดยไม่มีเป้าหมายที่จะครอบครองยูเครน

นี่คือจุดเริ่มต้นของวิกฤตความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่และรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ด่วน! ปูตินประกาศ “รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน” ชี้อาจต้องนองเลือด

ปฏิบัติการเฟส 1 บุกเมืองหลวงยูเครน แต่ไม่สำเร็จ

รัสเซียบุกเข้าโจมตียูเครนจาก 3 ทิศทาง คือ ทิศเหนือจากรัสเซียและเบลารุส ทิศตะวันออก จากภูมิภาคดอนบาสที่ควบคุมโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซีย และทิศใต้จากคาบสมุทรไครเมียซึ่งรัสเซียผนวกไปได้

ในวันแรก กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน และอีกหลายเมือง เช่น คาร์คีฟ ถูกโจมตี นอกจากนี้ รัสเซียยังสามารถยึดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ “เชอร์โนบิล” ไว้ได้ด้วย

แม้มีการคาดการณ์ว่า ด้วยศักยภาพของกองทัพรัสเซียน่าจะสามารถยึดเมืองหลวงยูเครนได้ภายใน 72 ชม. หรือ 3 วัน แต่ความเป็นจริงที่ออกมาปรากฏว่า รัสเซียไม่สามารถทำได้ และเผชิญแรงต้านกับการตอบโต้อย่างหนักจากยูเครนและบรรดาชาติตะวันตก

สัปดาห์ต่อมา รัสเซียสามารถยึดเมือง “เคอร์ซอน” ของยูเครนได้เป็นเมืองแรก ซึ่งเมืองนี้ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของรัสเซียจนถึงวันนี้ และมีแนวโน้มว่าจะถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเช่นเดียวกับที่เคยเกิดกับไครเมีย

รัสเซียบุกยูเครนวันแรก คร่า 137 ชีวิต “เราถูกทิ้งให้สู้โดยลำพัง”

รัสเซียยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลสำเร็จ หวั่นหายนะครั้งใหม่

ปฏิบัติการเฟส 2 เปลี่ยนสมรภูมิ

หลังจากไม่สามารถยึดเมืองหลวงของยูเครนได้ ช่วงปลายเดือน มี.ค. จนถึงต้นเดือน เม.ย. กองทัพรัสเซียก็ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ตัดสินใจถอนกำลังจากพื้นที่ทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน เพื่อมุ่งเน้นการโจมตีไปยังพื้นที่ทางใต้และตะวันออกของยูเครนเท่านั้น

การถอยทัพนี้ทำให้เมืองเคียฟปลอดภัยจากการโจมตีมากขึ้น รวมถึงสามารถกลับมาควบคุมโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลได้ ทำให้ความกังวลเรื่องหายนะนิวเคลียร์ลดน้อยลง

รัสเซียเริ่มเปิดฉากปฏิบัติการเฟส 2 ในการยึดภูมิภาคดอนบาส (ยูเครนตะวันออก) ซึ่งปกครองโดยทางการยูเครนและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนนุรัสเซีย โดยมีการโจมตีไปยังเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในการควบคุมของยูเครนอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน เมื่อรัสเซียย้ายเป้าหมาย ก็ทำให้เมืองท่าที่สำคัญอย่างมาริอูโปลถูกโฟกัสการโจมตีอย่างหนัก เนื่องจากเมืองนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับรัสเซีย เพราะจะทำให้รัสเซียมีเส้นทางเชื่อมระหว่างแหลมไครเมียและภูมิภาคดอนบาสได้ รวมถึงเพื่อการโฆษณา เพราะที่มาริอูโปลมี “กองกำลังอาซอฟ (Azov Brigade)” ซึ่งเป็นกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรงและลัทธินีโอนาซี เป็นกองกำลังหลักของยูเครน หากกำจัดได้ จะทำให้ข้ออ้างของรัสเซียที่จะทำให้ยูเครนปลอดนาซีน่าเชื่อถือมากขึ้น

ความสำคัญภูมิภาค “ดอนบาส” ทำไมรัสเซียเบนเป้าจาก “เคียฟ” มาที่นี่

รัสเซียเปิดฉาก “สงครามเฟส 2” เริ่มบุกยูเครนตะวันออกตามคาด

ยูเครนเสียมาริอูโปล จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากต่อรัสเซีย

อย่างที่บอกไปว่าเมืองมาริอูโปลถือเป็นเป้าหมายทางุทธศาสตร์ที่สำคัญมากสำหรับรัสเซีย ทำให้ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. เป็นต้นมา เมืองท่าแห่งนี้ถูกโหมโจมตีอย่างหนัก จนทำให้กองกำลังอาซอฟและพลเรือนต้องถอยร่นไปยังโรงงานเหล็กอาซอฟสตาล (Azovstal) และใช้ที่นั่นเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายในการสู้ตาย

หลังจากที่ฝ่ายยูเครนเหลือเพียงกองกำลังในโรงงานเหล็ก รัสเซียก็ปรับกลยุทธ์เป็นการต่อสู้ยืดเยื้อ เพื่อทอนกำลัง อาวุธ และเสบียงของอาซอฟ

นับตั้งแต่สงครามเริ่ม กองกำลังอาซอฟปกป้องเมืองมาริอูโปลไว้ได้มากกว่า 2 เดือน กระทั่งในวันที่ 16 พ.ค. กองกำลังอาซอฟยอมถอนกำลังออกจากโรงงานเหล็ก เพื่อยอมจำนนต่อรัสเซีย โดยอ้างว่า ปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว

“กองกำลังอาซอฟในมาริอูปอล ในทะเลอาซอฟ ทางตะวันออกเฉียงใต้ ได้ต่อสู้เป็นเวลา 82 วัน เพื่อซื้อเวลาให้กองกำลังยูเครนที่เหลือ เพื่อสู้รบกับกองกำลังรัสเซียและรับการสนับสนุนอาวุธจากตะวันตกที่จำเป็นต่อการต่อต้านการโจมตีของรัสเซีย” กองกำลังอาซอฟกล่าว

นั่นทำให้เมืองมาริอูโปลอยู่ในความควบคุมของรัสเซียจนถึงตอนนี้ อย่างไรก็ตาม เมืองมาริอูโปลได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการโหมโจมตีของรัสเซีย จนมีการประเมินเบื้องต้นว่า เมืองน่าจะได้รับความเสียหายมากกว่า 90% เลยทีเดียว ถือเป็นหนึ่งในสมรภูมิที่รุนแรงที่สุดในความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ และรัสเซียเป้นฝ่ายกุมชัยไว้ได้

“เมืองมาริอูโปล” สำคัญอย่างไร ทำไมรัสเซียพยายามยึดมาให้ได้?

เสร็จภารกิจหรือต้านไม่ไหว? อพยพกองกำลังยูเครนจากโรงงานเหล็กในมาริอูปอล

ฟินแลนด์-สวีเดนสมัครเข้าร่วมนาโต

ต้นเดือน เม.ย.  หลังจากปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง ความเสียหายและวิกฤตี่เกิดขึ้นทำให้ประเทศที่อยู่ใกล้ชิดกับรัสเซียและยูเครนหวาดผวาไปตาม ๆ กันว่า ประเทศของพวกเขาจะถูกรุกรานหรือไม่ในอนาคต

ความกังวลดังกล่าวทำให้ประเทศนอร์ดิกที่คงสถานะเป็นกลางมาตลอดอย่างฟินแลนด์และสวีเดน ส่งสัญญาณต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มนาโต ซึ่งสวนทางอย่างยิ่งกับความต้องการของรัสเซียที่ไม่ต้องการให้นาโตขยายอิทธิพลไปมากกว่านี้ ทำให้เกิดแรงตึงเครียดในยุโรปอีกคำรบหนึ่ง ท่ามกลางคำขู่จากรัสเซียว่า หากทั้งสองประเทศเข้านาโต จะต้องเจอกับผลที่ตามมา

วันที่ 18 พ.ค. ฟินแลนด์และสวีเดนยื่นใบสมัครเข้าร่วมนาโตอย่างเป็นทางการ แต่ในช่วงแรก มีเสียงคัดค้านจากตุรกีที่ไม่ต้องการให้ทั้งสองประเทศเข้าร่วมนาโต โดยให้เหตุผลว่า ทั้งสองประเทศให้การพักพิงแก่องค์กรก่อการร้าย

แต่ในท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. การประชุมสุดยอดกลุ่มพันธมิตรนาโต ก็ได้มีการบรรลุข้อตกลงระหว่างตุรกี ฟินแลนด์ และสวีเดน เพื่ออนุญาตให้สองประเทศนอร์ดิกเข้าเป็นสมาชิกนาโตได้ แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องจัดการกับข้อกังวลของตุรกีเรื่ององค์กรก่อการร้าย

ขณะนี้ฟินแลนด์และสวีเดนมีสถานะเป็น “ผู้สมัครเข้าร่วมนาโต” โดยจะต้องได้รับการรับรองจาก 30 ประเทศสมาชิกเดิมทุกประเทศ จึงจะได้เป็นสมาชิกกลุ่มอย่างเป็นทางการ หลายประเทศขณะนี้ กำลังนำหัวเรื่องนี้เข้าที่ประชุมรัฐสภาภายในประเทศตนเอง เพื่อหารือว่า จะเห็นชอบให้ทั้งสองประเทศเข้านาโตหรือไม่ หากมีแม้แต่ประเทศเดียวที่ไม่เห็นชอบ การสมัครเข้านาโตของทั้งสองประเทศจะถูกยกเลิกทันที

ผู้นำตุรกีไม่เห็นด้วย ที่ฟินแลนด์-สวีเดนจะเข้าร่วมนาโต

ทางสะดวก! ตุรกียอมแล้ว เปิดทางฟินแลนด์-สวีเดนเข้าร่วมนาโต

รัสเซียยึดลูฮานสก์สำเร็จ เดินหน้ายึดโดเนตสก์

นับตั้งแต่รัสเซียประกาศเริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน 24 ก.พ. ก็ได้มีการประกาศรับรองเอกราชให้กับแคว้นลูฮานสก์ (Luhansk) และโดเนตสก์ (Donetsk) ในภูมอภาคดอนบาสของยูเครน ซึ่งพื้นที่บางส่วนอยู่ในการปกครองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซีย

หลังระหว่างปฏิบัติการในพื้นที่ต่าง ๆ รัสเซียก็ยังคงมุ่งเป้าโจมตีภูมิภาคดอนบาสอย่างต่อเนื่อง และค่อย ๆ รุกคืบยึดเมืองของยูเครนในแคว้นลูฮานสก์ได้ คือ ซีวีโรโดเนตสก์ และลีซีชานสก์

นั่นทำให้ในวันที่ 3 ก.ค. รัสเซียสามารถยึดแคว้นลูฮานสก์ได้ทั้งหมดแล้ว หากรัสเซียสามารถยึดแคว้นโดเนตสก์ได้เมื่อไร ก็จะเท่ากับว่าสามารถยึดภูมิภาคดอนบาสทั้งหมดได้ แต่คาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เพราะโดเนตสก์มีขนาดใหญ่กว่าแคว้นลูฮานสก์

รัสเซียยึด “ลูฮานสก์” สำเร็จ เข้าใกล้เป้าหมายยึด “ดอนบาส” ไปอีกก้าว

ยูเครนไม่ท้อแม้เสียลูฮานสก์ เตรียมสู้ต่อในโดเนตสก์

ส่งออกสินค้าอาหาร-การเกษตรสำเร็จ ป้องกันวิกฤตอาหารโลก

หนึ่งในวิกฤตระดับโลกที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน คือเรื่องของสินค้าอาหารและการเกษตรที่ราคาพุ่งสูงทั่วโลก เนื่องจากยูเครนนั้นได้ชื่อว่าเป็น “เตาอบอาหารของยุโรป” เป็นผู้ผลิตและส่งออกธัญพืช ข้าวสาลี ข้าวโพด เมล็ดทานตะวันและน้ำมันดอกทานตะวัน มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ละหลายประเทศ พึ่งพาอาหารจากยูเครนเกินครึ่ง

ขณะเดียวกัน รัสเซียเองก็เป็นผู้ผลิตสารอาหารที่จำเป็นต่อการผลิตปุ๋ยจำนวนมหาศาล เช่น โปแตชและฟอสเฟต ทำให้ราคาปุ๋ยอาจต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงราคาอาหารด้วย

โดยยูเครนรายงานว่า นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานเข้ามา ได้มีการปิดกั้นท่าเรือต่าง ๆ ทำให้ยูเครนไม่สามารถส่งออกสินค้าอาหารและการเกษตรได้ จนมีธัญพืชตกค้างอยู่ในคลังมากถึง 20 ล้านตัน

ยูเครนพยายามเจรจาหาทางออกในเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่สามารถส่งออกได้ตลอด 5 แรกของสงคราม จนกระทั่งตุรกีและองค์การสหประชาชาติเข้ามาร่วมในการเจรจาหารือ เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตอาหารโลกรุนแรงไปมากกว่านี้

ข่าวดีสำหรับทั้งโลกเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.ค. เมื่อยูเครนและรัสเซียได้ร่วมลงนามในข้อตกลงเปิดทางส่งออกธัญพืชหลายล้านตันจากท่าเรือทะเลดำที่ถูกปิดล้อม โดยมีองค์การสหประชาชาติและตุรกีเป็นคนกลาง ภายใต้ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ตอนแรกเกิดเหตุมีขีปนาวุธโจมตีท่าเรือโอเดสซาที่จะใช้ในการส่งออกธัญพืช โดยรัสเซียบอกว่า เพื่อทำลายเป้าหมายทางทหาร จนหลายฝ่ายกัลวลว่าข้อตกลงจะล่มหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดวันที่ 1 ส.ค. ก็มีเรือสินค้าลำแรกที่สามารถขนสินค้าอาหาร-การเกษตรไปยังต่างประเทศได้สำเร็จ และหลังจากนั้นก็มีเรือสินค้าหลายลำที่ส่งออกธัญพืชของยูเครนอีก

ยูเครนเผยว่า หากไม่มีข้อผิดพลาดหรือการโจมตีที่เป็นอุปสรรค คาดว่าจะสามารถส่งออกธัญพืชได้ราว 3 ล้านตันต่อเดือน

ส่งออกได้แล้ว! รัสเซีย-ยูเครนลงนามข้อตกลงส่งออกอาหาร-ธัญพืช

ลำแรกใน 5 เดือน เรือขนส่งธัญพืชออกจากท่าเรือยูเครนแล้ว

วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ความกังวลอีกอย่างหนึ่งของประชาคมโลกในสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน คือเรื่องของ “หายนะนิวเคลียร์” โดยนอกจากรัสเซียจะยึดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลไว้ในช่วงแรกของการรุกรานแล้ว ยังมีการโจมตีโรงไฟฟ้าซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) ของยูเครนเมื่อวันที่ 4 มี.ค.

ซาโปริซเซียเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก ซึ่งหากเกิดการระเบิดขึ้นมา อาจส่งผลร้ายแรงไม่ต่างหากหายนะเชอร์โนบิลที่เกิดขึ้นในปี 1986

หลังจากในเดือน มี.ค. ก็มีการว่างเว้นจากการโจมตีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ภายในยูเครนมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อราว 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการโจมตีบริเวณโรงไฟฟ้าซาโปริซเซียอีกครั้ง จนสายไฟฟ้าแรงสูงเกิดความเสียหาย แต่โชคดีที่ไม่มีการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี

เกิดการปะทะภายในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าซาโปริซเซียตลอดเกือบทั้งสัปดาห์นั้น จนสหประชาชาติต้องออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยุติกิจกรรมทางทหารในพื้นที่เสี่ยง

ล่าสุด รัสเซียยินยอมให้สหประชาชาติส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ไปตรวจสอบความเรียบร้อยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริซเซียได้แล้ว

ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็โทษกันไปกันมาว่า อีกฝ่ายเป็นผู้ที่โจมตีและเสี่ยงที่จะทำให้เกิดหายนะนิวเคลียร์แบบเดียวกับเชอร์โนบิลขึ้นมา โดยยูเครนกล่าวหารัสเซียว่า ได้เปลี่ยนโรงไฟฟ้าให้กลายเป็นฐานทัพ และใช้โรงไฟฟ้าเป็นเกราะกำบังเพื่อโจมตีเมืองอื่น ๆ ของยูเครนที่อยู่ละแวกใกล้เคียง ขณะที่รัสเซียก็กล่าวหายูเครนว่า เป็นฝ่ายพยายามโจมตีโรงไฟฟ้าเพื่อที่จะทำให้เกิด “อุบัติเหตุ” เช่น กัมมันตรังสีรั่วไหล แล้วใส่ร้ายว่ารัสเซียพยายามทำให้เกิดหายนะนิวเคลียร์

ด่วน! รัสเซียโจมตี “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป”

จะเกิดอะไรขึ้น? หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียของยูเครนระเบิด

ทิศทางสงครามในอนาคต เมื่ออาวุธ-กำลังพลรัสเซียถูกตั้งคำถาม

ทิศทางของความขัดแย้งหลังจากนี้ คาดว่ารัสเซียจะยังคงเน้นทำศึกในสมรภูมิดอนบาสเป็นหลัก แต่อาจต้องแบ่งความสนใจมยังพื้นที่ยูเครนตอนใต้ ซึ่งขณะนี้ยูเครนกำลังพยายามตอบโต้ด้วยการโจมตีเมืองเคอร์ซอนและภูมิภาคไครเมียเพื่อยึดพื้นที่คืนมา

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัสเซียถูกตั้งคำถามเรื่องความพร้อมในการต่อสู้มาโดยตลอด ทั้งจากอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เก่าและไม่แม่นยำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอาวุธตั้งแต่สมัยยุคสหภาพโซเวียต ยังไม่นับอาวุธที่ถูกยูเครนทำลายหรือยึดไว้ได้ ประกอบกับมีการรายงานเยงของทหารรัสเซียที่เหนื่อยล้า หรือไม่ได้เต็มใจที่จะมารุกรานยูเครน

เหตุระเบิดในไครเมียที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ก่อนซึ่งความความเสียหายให้กับโครงสร้างทางทหารของรัสเซีย รวมถึงเครื่องบินรบราว 10 ลำ ยังทำให้มีข้อสงสัยถึงระบบป้องกันภัยของรัสเซียด้วย

หลังจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ความขัดแย้งจะยังคงดำเนินไปอีกนานพอสมควร อาจเป็นหลักปีหรือหลายปี ภาพและข้อมูลที่ปรากฏตลอด 6 เดือนที่ผ่านมานี้ก็ทำให้เราเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายต่างมีด้านที่ขาดกันทั้งคู่ และยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะไปลงเอยในรูปแบบใด แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ ความขัดแย้งครั้งนี้ ได้นำความเสียหายและหายนะมาสู่ประเทศคู่กรณีและต่อประชาคมโลกทั้งหมด

 

ภาพจาก AFP / Shutterstock

คนสนิทปูติน ลั่น ความตายของลูกสาวตน ต้องไม่เสียเปล่า

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ