“กระดาษขาว สมการฟรีดมันน์ และอัลปากา” สัญลักษณ์ในการประท้วงจีน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ถอดความหมายสัญลักษณ์ที่พบในเหตุประท้วงครั้งใหญ่ของประเทศจีน “กระดาษขาว สมการฟรีดมันน์ และอัลปากา”

ในทุกการประท้วงไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลก ล้วนมักมี “สัญลักษณ์” ที่ถูกนำมาใช้ เพื่อเป็นการแสดงออกโดยอ้อมและสร้างสรรค์โดยไม่พูดออกมาตรง ๆ ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็หนีไม่พ้นสัญลักษณ์ “ชูสามนิ้ว” ที่ถูกใช้ในประเทศไทยและเมียนมาเพื่อต่อต้านรัฐบาล

ซึ่งแม้แต่ในการประท้วงประเทศจีนที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้เอง ก็มีการใช้สัญลักษณ์เพื่อแทนความหมายที่ผู้ประท้วงต้องการสื่อสารโดยไม่พูดออกมาตรง ๆ เช่นกัน ซึ่งสัญลักษณ์ที่มีการพูดถึงมากที่สุดคือ กระดาษขาว สมการฟรีดมันน์ และอัลปากา

เส้นทางประท้วงใหญ่ในจีน ความไม่พอใจที่ลุกลามเป็นการขับไล่ “สี จิ้นผิง”

จีนประท้วงในหลายเมืองใหญ่ ไม่พอใจ "โควิด-19 เป็นศูนย์"

ตำรวจจีนจับกุม-ทำร้ายนักข่าวต่างชาติ ขณะทำข่าวประท้วงในเซี่ยงไฮ้

กระดาษขาว

สัญลักษณ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในการประท้วงจีนคือกระดาษขาวเปล่า ๆ เป็นสัญลักษณ์ของ “การถูกเซ็นเซอร์” ซึ่งเป็นเรื่องที่พบบ่อยในจีน โดยเฉพาะในช่วงที่มีโควิด-19 ระบาดและมีการล็อกดาวน์ ที่ความเห็นของประชาชนจำนวนมากในโซเชียลมีเดียมักถูกเซ็นเซอร์และถูกลบ หากเนื้อความบอกเล่าถึงการล็อกดาวน์ในแง่ลบ หรือวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจีน

กระแสการใช้กระดาษเปล่าในการประท้วงมีจุดเริ่มต้นมาจากการประท้วงในฮ่องกงปี 2020 ซึ่งผู้ประท้วงถือกระดาษเปล่าเพื่อประท้วงกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

นอกจากนี้ กระดาศขาวยังมีความนัยของการท้าทายเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายด้วยว่า “คุณจะจับเราเพียงเพราะเราถือกระดาษเปล่า ๆ จริงหรือ?”

ผู้ประท้วงรายหนึ่งกล่าวว่า “ไม่มีอะไรเขียนอยู่บนกระดาษ แต่เราทุกคนรู้ว่ามีอะไรอยู่บนนั้น”

ยังมีการตีความจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางรายด้วยว่า นี่อาจเป็นการเชื่อมโยงถึงการเสียชีวิตของประชาชน 10 รายในเมือง “อูหลู่มู่ฉี” ของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ที่ตายจากเหตุเพลิงไหม้ เพราะเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถฉีดน้ำเข้าไปดับเพลิงในอาคารได้ เนื่องจากมี “แบร์ริเออร์” กั้นเขตล็อกดาวน์ขวางทางอยู่ ซึ่งสีขาวเป็นสีของ “งานศพ” ตามธรรมเนียมจีนนั่นเอง

สมการฟรีดมันน์

ในการประท้วงในจีน มีผู้พบเห็นผู้ประท้วง โดยเฉาะนักศึกษามหาวิทยาลัย ชูกระดาษหรือป้ายที่เขียนชุดสมการหนึ่งที่ไม่คุ้นชิน

เมื่อผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบดูแล้ว พบว่านั่นคือ “สมการฟรีดมันน์ (Friedmann Equations)” ซึ่งเป็นสมการในการศึกษาจักรวาลวิทยาเชิงกายภาพที่ใช้อธิบายถึงการขยายตัวของอวกาศ

แน่นอนว่าการประท้วงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับจักรวาลและอวกาศ แต่เป็นเพียงวิธีการประท้วงด้วยการ “เล่นคำ” ง่าย ๆ เท่านั้น โดยฟรีดมันน์ เท่ากับ ฟรีแมน (Freeman) หรือ “เสรีชน” คือ บุคคลที่มีสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองอย่างเต็มที่ และไม่ใช่ทาสหรือข้าของใคร

 

คอนเทนต์แนะนำ
สตรีหมายเลข 1 สหรัฐฯ ตกแต่งทำเนียบขาวรับเทศกาลคริสต์มาส
"อันวาร์" เล็งฟื้นภาพลักษณ์ระบบราชการ-ไม่ใช้เบนซ์หรูเป็นรถประจำตำแหน่ง

 

อัลปากา

สัญลักษณ์นี้หากใครที่เคยชินกับโซเชียลมีเดียของจีนอาจเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะมันเป็นหนึ่งในมีมเพื่อการประท้วงและด่าที่เก่าแก่ของชาวเน็ตจีน ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นเพื่อหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ของอินเทอร์เน็ตจีน และเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ปี 2009

ทั้งนี้ ในปี 2009 ชาวเน็ตจีนเผชิญกับการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตของจีนที่เข้มงวดมากขึ้น ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจีนจึงมักโพสต์ภาพอัลปากาหรือม้าหญ้าโคลนเพื่อแสดงความไม่พอใจ

โดยชาวเน็ตจีนใช้อัลปากาในการสื่อสารข้อความว่า “ม้าหญ้าโคลน” ซึ่งเชื่อว่ามีหน้าตาคล้ายคลึงกัน แต่ชื่อม้าหญ้าโคลนในภาษาจีนคือ “เช่าหนี่มา (Cao Ni Ma)” ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงกับคำด่าหยาบคายในภาษาจีน ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินได้เห็นคำนี้ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง (แต่หากใครไม่ทราบความหมาย ก็สามารถลองเสิร์ชกันดูได้)

การประท้วงในจีนเกิดจากอะไร?

การประท้วงของชาวจีนในอย่างน้อย 16 เมืองทั่วประเทศ และในอีกหลายประเทศทั่วโลก เกิดจากความไม่พอใจในนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ “Zero COVID” ที่ดำเนินมาตลอดเกือบ 3 ปี ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ และชีวิตของประชาชน

ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ความไม่พอใจของชาวจีนระเบิดออกมาก็คือเหตุเพลิงไหม้ในเมืองอูหลู่มู่ฉีที่กล่าวไปข้างต้น โดยข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วงคือ ต้องการให้มีการยกเลิกนโยบายปลอดโควิด เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก เรียกร้องให้ สี จิ้นผิง ลาออก และเรียกร้องให้มีการยุบพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

คอนเทนต์แนะนำ
ตารางฟุตบอลโลก 2022 วันอังคารที่ 29 พ.ย. ช่องถ่ายทอดสดและอัปเดตผลบอลโลก
อั้นไว้ก่อน! พรุ่งนี้น้ำมันลง “โออาร์” ลดเบนซิน 40-60 สต./ลิตร ตลาดโลกพุ่งสวน

 

เรียบเรียงจาก BBC / The Guardian

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ