จับตา "สี จิ้นผิง" หวนเยือนซาอุฯครั้งแรกในรอบ 6 ปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เดินทางถึงกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบียในวันพุธ (7 ธ.ค.) โดยทางการซาอุฯ จัดพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่และสมเกียรติ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เกิดจากทั้งการผงาดของจีน และสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครน

การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในครั้งนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่ “น่าจับตา” เป็นอย่างยิ่ง  เพราะนี่เป็นการเดินทางออกนอกประเทศจีนครั้งที่ 3 ของปธน.สี นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 และนี่ยังเป็นการกลับมาเยือนซาอุดีอาระเบียของสีเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา 

ขณะเดียวกัน การเยือนครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในวันที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ยาวนานกว่า 80 ปี กำลังร้าวฉาน

เส้นทางประท้วงใหญ่ในจีน ความไม่พอใจที่ลุกลามเป็นการขับไล่ “สี จิ้นผิง”

จีนคลายท่าทีเข้มงวดหลังปชช.ประท้วงต้านโควิดเป็นศูนย์

เที่ยวบินพิเศษของจีนพาผู้นำของประเทศ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง วัย 69 ปีเดินทางถึงซาอุดีอาระเบียแล้วเมื่อวานนี้ โดยในช่วงของการบินเข้าน่านฟ้าซาอุดีอาระเบียนั้น เครื่องบินรบ 4 ลำจากกองทัพอากาศซาอุดีอาระเบียถูกส่งมาบินประกบ เพื่อให้การคุ้มครองเครื่องบินของผู้นำจีน ในทันที

และทันทีที่เครื่องบินลงจอดที่สนามบินนานาชาติคิงคาลิด ในกรุงริยาด ก็มีการต้อนรับการมาถึงของผู้นำจีนอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีเจ้าชายไฟซัล บิน บันดาร์ อัล ซาอัด ในฐานะผู้ว่าการกรุงริยาด ทรงให้การต้อนรับด้วยพระองค์เอง อีกทั้งยังมีการยิงปืนใหญ่ 21 นัดและเครื่องบินพ่นสีแดงและเหลืองบนท้องฟ้า ซึ่งเป็นสีของธงชาติจีน เพื่อเป็นการให้เกียรติการมาเยือนของผู้นำจีนอีกด้วย นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ประธานาธิบดีสีเยือนซาอุดีอาระเบีย โดยสี จะอยู่ที่นี่นาน 3 วัน คือระหว่างวันที่ 7-10 ธ.ค.

วาระที่สำคัญคือ การร่วมประชุมสุดยอดผู้นำจีนและผู้นำชาติอาหรับ

อีกเวทีหนึ่งที่ผู้นำจีนจะเข้าร่วมคือ การประชุมกับคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ  (Gulf Cooperation Council) หรือ GCC ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือของรัฐริมอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ ประกอบไปด้วย ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) กาตาร์ และบาห์เรน

และที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือการที่สีเข้าเฝ้าและพบกับกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอุด และมกุฏราชกุมาร เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ของซาอุดีอาระเบีย

แม้กระทรวงต่างประเทศจีนจะไม่ระบุถึงรายละเอียดของวาระที่จะมีการหารือกัน แต่ก็มีการส่งสัญญาณว่า การเยือนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นการยกระดับความร่วมมือในประเด็นที่ทั้งจีนและซาอุฯเห็นตรงกันหรือมีความกังวลร่วมกัน  และย้ำว่านี่เป็นการเยือนที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่ที่รัฐบาลทั้งสอง สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันเมื่อเดือน กรกฎาคม ค.ศ.1990

ล่าสุด  ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน  เดินทางมาถึงยังพระราชวังอัล-ยามามาห์ ในกรุงริยาด  เพื่อเข้าพบกับกษัตริย์ซัลมาน และมกุฏราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แล้วในช่วงค่ำวันนี้

รายงานข่าวระบุว่า มกุฏราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงรอให้การต้อนรับผู้นำจีนด้วยพระองค์เอง บริเวณด้านนอกพระราชวัง ก่อนจะมีการบรรเลงเพลงชาติทั้งของจีนและซาอุดีอาระเบีย  จากนั้น มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ ได้พาผู้นำจีนเข้าไปด้านในพระราชวัง   ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด

วาระสำคัญในการเยือนซาอุฯ ของผู้นำจีนคืออะไร? ก่อนหน้านี้จีนแถลงว่า การเยือนครั้งนี้จะเป็นการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศ GCC

โดยตลอด 41 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศ GCC คือหุ้นส่วนที่สำคัญในตะวันออกกลางของจีน ทั้งจีนและ GCC มีการร่วมมือในหลากหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การค้า พลังงาน การเงิน การลงทุน อวกาศ ภาษา วัฒนธรรมและอื่นๆ

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จีนเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ GCC มากขึ้นโดยเฉพาะในซาอุดีอาระเบียที่มีมูลค่าการลงทุนจากจีนมากที่สุดถึงประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าประเทศอื่นใดในภูมิภาค   

ขณะที่ในปัจจุบัน จีนมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียสูงกว่า 43 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณน้ำมันดิบทั้งหมดที่จีนนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุด ของจีน

การเยือนของสีครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดสานต่อความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างจีนกับซาอุดีอาระเบีย ต่อจากการเยือนปักกิ่งของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ซึ่งในครั้งนั้น ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงตั้งโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมีในจีนมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ก่อนหน้าการประชุมของผู้นำจีนและกลุ่มประเทศ GCC จะเริ่มขึ้น หลายชาติออกมาแสดงความหวังว่า การลงทุนจากจีน จะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีก

แต่คำถามคือ การมาเยือนซาอุฯครั้งนี้ ของผู้นำจีนมีอะไรมากไปกว่าการมาเพื่อสานความร่วมมือเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรมหรือไม่

เพราะนี่เป็นการเยือนซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นยาวนาน อยู่ในภาวะตกต่ำถึงขีดสุด

ก่อนที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะออกเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศจีนเปิดเผยเอกสารทางการที่มีชื่อว่า “รายงานเกี่ยวกับจีนและอาหรับยุคใหม่”

ส่วนหนึ่งของเอกสารฉบับนี้พูดถึงจุดยืนของจีนในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยระบุว่า จีนจะไม่แสวงหาผลประโยชน์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคแห่งนี้ เพราะคนที่นี่คือผู้ที่กำหนดอนาคตของตนเอง

ภูมิรัฐศาสตร์ของตะวันออกกลางมีความซับซ้อนมากโดยเฉพาะในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

หลักๆเกิดจากการแข่งขันแย่งชิงอำนาจกันระหว่าง 2 มหาอำนาจในภูมิภาคนั่นคือ อิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย  สองชาติผู้นำโลกมุสลิมฝ่ายชีอะห์และสุหนี่

การแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายเริ่มขึ้นในปี 1979 หรือเมื่อ 43 ปีที่แล้ว เมื่ออิหร่านซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชีอะห์เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ นั่นก็คือการปฎิวัติอิสลามพระเจ้าชาห์ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับซาอุดีอาระเบียถูกโค่นอำนาจ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

การปกครองจากระบอบกษัตริย์ถูกเปลี่ยนมาเป็นรัฐศาสนา ภายใต้การนำของอยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำศาสนาซึ่งลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการปฏิวัติอิสลาม

ซาอุดีอาระเบียซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่มองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอิหร่านอย่างไม่สบายใจ เพราะผู้นำคนใหม่ของอิหร่านแสดงความต้องการขยายขอบเขตการปฏิวัติอิสลามไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคซึ่งนั่นหมายถึงความต้องการล้มล้างราชวงศ์ต่างๆ  ซึ่งรวมถึงราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียด้วย

ทั้งสองชาติเข้าห้ำหั่นกันโดยผ่านการทำสงครามตัวแทนทั้งในเลบานอน อิรัก ซีเรีย เยเมน ไปจนถึงในอัฟกานิสถาน

ที่ผ่านมาจีนไม่ค่อยได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในแถบนี้ เพราะชาติที่มีบทบาทคือ สหรัฐอเมริกา ในฐานะพันธมิตรที่สำคัญของซาอุดีอาระเบีย โดยทั้งสองชาติ ตัดความสัมพันธ์กับอิหร่านหลังเกิดการปฏิวัติอิสลาม

สหรัฐฯกับซาอุดีอาระเบียคือ 2 ชาติที่มีความแตกต่างกันเกือบทุกมิติ แต่ทั้งคู่เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นเพราะไม่เพียงแต่จะมีอิหร่านเป็นศัตรูร่วมกัน แต่ทั้งคู่ยังต้องพึ่งพาอาศัยกัน

ในอดีตสหรัฐฯต้องพึ่งพาน้ำมันจากที่นี่เป็นหลัก ช่วงทศวรรษ 1940 เมื่อซาอุดีอาระเบียค้นพบน้ำมันจำนวนมหาศาล กษัตริย์อับดุล อาซิซ บิน ซาอุด แห่งซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดีลาโน รูสเวลต์ของสหรัฐฯ ทำข้อตกลงที่ซาอุดีอาระเบียต้องส่งน้ำมันให้กับสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯจะให้หลักประกันความมั่นคงกับซาอุดีอาระเบียผ่านการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยให้

ข้อตกลงนี้ได้กลายมาเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติต่อจากนั้นมา

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของ 2 ชาติตกต่ำอย่างหนักเมื่อสหรัฐฯโดยการนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตัดสินใจขึ้นโต๊ะเจรจากับอิหร่านเมื่อปี 2015 เพื่อให้อิหร่านยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

และนั่นทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจ ความสัมพันธ์เริ่มตกต่ำ และตกหนักที่สุดเมื่อจามาล คาชอกกี สื่อมวลชนชาวซาอุดีอาระเบียที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งมักวิจารณ์รัฐบาลและราชวงศ์ของซาอุดีอาระเบียในเชิงลบถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดในสถานกงสุลซาอุฯที่นครอิสตันบูลของตุรกี

ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชการกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียว่าเป็นผู้บงการฆ่า จะเห็นได้ว่าสหรัฐฯมีบทบาทในภูมิภาคโดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงสูงและยาวนานมาก

ที่ผ่านมาจีนไม่ใช่คู่แข่งสหรัฐฯในฐานะผู้ดูแลความมั่นคงในภูมิภาคนี้ แต่สิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หลังจากนี้เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางการค้าของจีนเริ่มขยับไปที่เรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น

โดยซาอุดีอาระเบียเลือกที่จะพัฒนาระบบสื่อสารความเร็วสูงแบบ 5G กับหัวเหว่ย ยักษ์ใหญ่ไอทีของจีนแทนที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ ซึ่งทำให้สหรัฐฯต้องจับตามองอย่างระแวดระวัง

เพราะอาจนำไปสู่การที่จีนได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในซาอุดีอาระเบีย ที่อาจนำไปสู่การค้าขายน้ำมันเป็นเงินสกุลหยวนแทนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และจะเป็นการหักหน้าสหรัฐฯซ้ำสอง ถัดจากการที่ซาอุฯ หนุนการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันในนามกลุ่มโอเปกพลัส ที่มีรัสเซียร่วมอยู่ด้วย โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯก่อนหน้านี้ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาของจีนถึงแม้ว่าจะมาในนามของความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุน แต่ก็มีนัยทางการเมืองและความมั่นคงแฝงอยู่

การเยือนซาอุดีอาระเบียของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในครั้งนี้ ยังถูกมองว่า อาจนำไปสู่การเชื่อมต่อการลงทุนของ 2 โครงการเมกะโปรเจคต์ขนาดใหญ่ ทั้งโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน เข้ากับโครงการวิสัยทัศน์ 2030 ที่ริเริ่มโดยเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย

ซึ่งการเชื่อมต่อประสานกันของโครงการทั้งสอง จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล ที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรเกือบ 2 พันล้านคนทั้งของจีนและในโลกอาหรับ ตลอดจนเพิ่มปริมาณการค้า การลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ