“ปูติน” เคยให้คำมั่น จะไม่พยายามสังหาร “เซเลนสกี”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นาฟตาลี เบนเน็ตต์ อดีตนายกฯ อิสราเอลเผย ปูตินเคยสัญญากับตนว่า “ผมจะไม่ฆ่าเซเลนสกี”

นาฟตาลี เบนเน็ตต์ อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ไม่นานหลังรัสเซียรุกรานยูเครน เขาได้เดินทางอย่างลับ ๆ ไปเข้าพบประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เพื่อเป็นคนกลางในการพยายามไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง

ที่น่าสนใจคือ เบนเน็ตต์อ้างว่า บทสนทนาระหว่างสองผู้นำช่วงหนึ่งมีการพูดคุยกันถึงเรื่อง “การสังหารประธานาธิบดียูเครน” ด้วย

“อิสราเอล” และความสัมพันพันธ์ที่ซับซ้อนกับยูเครน-รัสเซีย

รัสเซียจวกอิสราเอล “สนับสนุนนาซี” คำพูดที่อาจเปลี่ยนจุดยืนของอิสราเอล

นาฟตาลี เบนเน็ตต์ นายกฯ อิสราเอล กับแผนวีรบุรุษกู้วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

อดีตนายกฯ อิสราเอลบอกว่า ปูตินได้ให้คำมั่นสัญญากับเขาว่า จะไม่พยายามสังหาร โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี และชีวิตของประธานาธิบดีไม่ได้ตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยงว่าจะถูกสังหารแต่อย่างใด

เบนเน็ตต์เปิดเผยบทสนทนาช่วงหนึ่งว่า “ผมถามปูตินว่า ‘คุณวางแผนที่จะฆ่าเซเลนสกีหรือไม่’ เขาตอบว่า ‘ผมจะไม่ฆ่าเซเลนสกี’ จากนั้นผมก็พูดกับเขาว่า ‘คุณให้คำมั่นใช่มั้ยว่าคุณจะไม่ฆ่าเซเลนสกี’ เขาก็พูดว่า ‘ผมจะไม่ฆ่าเซเลนสกี’”

เบ็นเน็ตต์เล่าต่อว่า จากนั้นเขาได้โทรหาผู้นำยูเครนระหว่างกำลังเดินทางไปสนามบิน “เขาถามผมว่า ‘คุณแน่ใจนะ’ และผมก็ตอบเขาว่า ‘ใช่ 100% เขาจะไม่ฆ่าคุณ’”

เบนเน็ตต์ยังอ้างอีกด้วยว่า ในระหว่างการพยายามไกล่เกลี่ย เซเลนสกีได้ตกลงที่จะล้มเลิกความคิดที่จะนำยูเครนเข้าร่วมกับนาโตแล้ว และปูตินก็ถอนคำปฏิญาณที่จะทำให้ยูเครนเป็นประเทศปลอดอาวุธ “ทุกสิ่งที่ผมทำได้รับการประสานงานกับสหรัฐฯ เยอรมนี และฝรั่งเศสด้วย”

เบ็นเน็ตต์กลายเป็นคนกลางที่ไม่น่าเป็นไปได้ในช่วงแรกของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เขาเป็นผู้นำที่มีแนวร่วมตะวันตกคนแรกที่เข้าพบปูตินในกรุงมอสโก เป็นผู้ไกล่เกลี่ยในนามของพันธมิตรตะวันตก

อย่างไรก็ดี ความพยายามของอดีตผู้นำอิสราเอลแทบไม่ได้หยุดการนองเลือดในยูเครน ซึ่งขณะนี้สงครามกำลังใกล้จะครบรอบหนึ่งปีแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามในช่วงแรกของสงครามเพื่อลดทอนความรุนแรงของสถานการณ์ที่บานปลาย

ทั้งนี้ อิสราเอลภายใต้การนำของเบนเน็ตต์ รวมถึงนายกฯ คนปัจจุบันอย่าง เบนจามิน เนทันยาฮู ยังคงยึดนโยบายไม่ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และระบบป้องกันภัยทางอากาศให้ยูเครนโดยตรง แต่เน้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการแพทย์แทน

อย่างไรก็ตาม จากรายงานล่าสุดว่ารัสเซียได้ใช้โดรนติดอาวุธของอิหร่านในยูเครนกลับสร้างความไม่พอใจให้กับอิสราเอล จึงได้แบ่งปันข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับโครงการพัฒนาโดรนของอิหร่านให้กับเจ้าหน้าที่ยูเครน และเสนอที่จะช่วยเหลือในการสร้าง “ระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับพลเรือน” เพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศด้วย

 

เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก AFP

คอนเทนต์แนะนำ
ราคาทองคำวันนี้ หลุด 1,900 ดอลลาร์ ทองแท่งไทยหล่นใต้ 30,000
เตรียมตัว! "เราเที่ยวด้วยกัน" เฟส 5 เริ่มเปิดใช้สิทธิ์ 8 มี.ค.
พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ฝนฟ้าคะนองบางแห่ง "ฤดูร้อน"มาเยือนปลายก.พ.นี้

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ