“ช่วยช้างเท่ากับช่วยโลก” วิถีชีวิตช้างบรรเทาภาวะโลกร้อนได้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“ช้าง” ถือเป็นสัตว์ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาติไทย แต่รู้หรือไม่ว่า ช้างยังเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อทั้งโลกด้วย

“ช้าง” ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อชาติไทยในฐานะสัตว์คู่บุญคู่บารมี อยู่ในทั้งหน้าประวัติศาสตร์ บนธงชาติ หรือเพลงสำหรับเด็ก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่ช้างมีต่อสังคมวัฒนธรรมไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในแง่วิทยาศาสตร์ ช้างถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และท่ามกลางโลกที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า ช้างอาจมีความสำคัญมากกว่าที่เคย โดยเฉพาะช้างในแอฟริกา ในฐานะ “ผู้กอบกู้โลก”

คอนเทนต์แนะนำ
“น้องทีน” กะเพราอ้วนตรึ้ม เสียชีวิตแล้ว คาดติดเชื้อในกระแสเลือด
สภาพอากาศแปรปรวน ประกาศฉบับที่ 11 "พายุฝนฟ้าคะนอง ก่อนอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาฯ"
เปิดประวัติ “น้องทีน” กะเพราอ้วนตรึ้ม จากเด็กไร้บ้านสู่เจ้าของร้านอาหารชื่อดัง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ในสหรัฐฯ รายงานว่า ช้างมีบทบาทสำคัญในการ “สร้างป่า” ซึ่งจะช่วยกักเก็บคาร์บอนในชั้นบรรยากาศได้มากขึ้น และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในแอฟริกาเอาไว้ได้

ดร.สตีเฟน เบลค ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ หัวหน้าทีมวิจัย ผู้ซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ในอาชีพการงานของเขาเพื่อศึกษาช้าง ระบุว่า ระบบนิเวศวิทยาของสัตว์กินพืชขนาดใหญ่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการกักเก็บคาร์บอนในป่าฝนแอฟริกา

โดยภายในป่า จะมีต้นไม้อยู่ 2 ประเภท คือต้นไม้เนื้อเบา ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีความหนาแน่นของคาร์บอนต่ำ และอีกประเภทคือต้นไม้เนื้อหนัก หรือต้นไม้ที่มีความหนาแน่นของคาร์บอนสูง

ต้นไม้ที่มีความหนาแน่นของคาร์บอนสูงจะกักเก็บคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศไว้ในเนื้อไม้ได้มากกว่าต้นไม้ที่มีความหนาแน่นของคาร์บอนต่ำ จึงช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้

อย่างไรก็ดี โดยปกติแล้ว ต้นไม้ที่มีความหนาแน่นของคาร์บอนต่ำจะเติบโตอย่างรวดเร็ว สูงขึ้นเหนือพืชและต้นไม้อื่น ๆ เพื่อรับแสงแดด ในขณะที่ต้นไม้ที่มีความหนาแน่นของคาร์บอนสูงจะเติบโตช้า ต้องการแสงแดดน้อยและสามารถเติบโตในที่ร่มได้

นักวิจัยบอกว่า ช้างและสัตว์กินพืชขนาดใหญ่อื่น ๆ นิยมกินต้นไม้ที่มีความหนาแน่นของคาร์บอนต่ำเป็นอาหาร ทำให้ “ป่าบางลง” ซึ่งจะช่วยลดการแข่งขันระหว่างต้นไม้ และทำให้มีแสงสว่าง พื้นที่ว่าง และธาตุอาหารในดินมากขึ้น ช่วยให้ต้นไม้ที่มีคาร์บอนสูงเติบโตได้ดี

“ช้างป่าจะกินใบไม้จำนวนมากจากต้นไม้จำนวนมาก และมักสร้างความเสียหายอย่างมากเมื่อพวกมันกินอาหาร พวกมันจะลิดใบจากต้นไม้ ฉีกกิ่งก้านออกทั้งหมด หรือถอนต้นอ่อนเมื่อกินอาหาร” เบลคกล่าว

เขาเสริมว่า “ข้อมูลของเราแสดงให้เห็นว่า ความเสียหายส่วนใหญ่นี้เกิดขึ้นกับต้นไม้ที่มีความหนาแน่นของคาร์บอนต่ำ ซึ่งหากรอบ ๆ มีต้นไม้ที่มีความหนาแน่นของคาร์บอนสูงอยู่ ก็เท่ากับว่าช้างช่วยกำจัดคู่แข่งในการหาอาหารของต้นไม้คาร์บอนสูงไป”

ช้างยังเป็นผู้กระจายเมล็ดพืขของต้นไม้คาร์บอนหนาแน่นสูง ต้นไม้เหล่านี้มักออกผลขนาดใหญ่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการซึ่งช้างชอบกิน เมล็ดพืชเหล่านี้ผ่านเข้าไปในลำไส้ของช้างโดยไม่เสียหาย และเมื่อออกมาผ่านมูลสัตว์ พวกมันก็พร้อมงอกและเติบโตต่อไป

“ในป่า ช้างเป็นเหมือนชาวสวน พวกมันปลูกป่าด้วยต้นไม้ที่มีความหนาแน่นของคาร์บอนสูง และกำจัด 'วัชพืช' ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีความหนาแน่นของคาร์บอนต่ำ พวกมันทำงานเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของป่า” เบลคกล่าว

ด้วยเหตุนี้ ช้างจึงมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับอิทธิพลของระดับคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ ด้วยการทำให้ต้นไม้คาร์บอนสูงมีโอกาสเติบโต แพร่พันธุ์ และช่วยดักจับคาร์บอนได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันช้างป่าแอฟริกาถูกจัดให้อยู่ในสถานะ “สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต” ซึ่งนักวิจัยประเมินว่า หากพวกมันสูญพันธุ์ ป่าฝนในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นป่าฝนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จะสูญเสียความสามารถในการดักจับคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ 6-9% และจะทำให้โลกร้อนขึ้น

เบลคกล่าวว่า “ช้างถูกล่าโดยมนุษย์มานับพันปี ด้วยเหตุนี้ ช้างป่าแอฟริกาจึงอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง การอนุรักษ์ช้างไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอที่จะหยุดการฆ่าช้างได้”

เขาบอกว่า “ตอนนี้เรามีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า หากเราสูญเสียช้างป่าแอฟริกาไป เราจะสร้างความเสียหายให้กับโลกในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความสำคัญของช้างป่าในการแก้วิกฤตสภาพอากาศ จะต้องได้รับการดำเนินการอย่างจริงจังโดยผู้กำหนดนโยบาย เพื่อสร้างการสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับการอนุรักษ์ช้าง บทบาทของช้างป่าในสิ่งแวดล้อมโลกของเรานั้นสำคัญเกินกว่าจะเพิกเฉยได้”

เบลคเรียกร้องให้มีการปกป้องช้างป่ามากขึ้น “การฆ่าช้างอย่างผิดกฎหมายและการค้าอวัยวะช้างที่ผิดกฎหมายยังคงดำเนินอยู่ ... ครั้งหนึ่งช้าง 10 ล้านตัวเคยท่องไปทั่วแอฟริกา แต่ตอนนี้มีไม่ถึง 500,000 ตัวแล้ว ... จำนวนช้างลดลงกว่า 80% ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา”

เบลคกล่าวสรุปว่า “ตอนนี้เรามีทางเลือก เราจะล่าสัตว์เหล่านี้ต่อไปและเฝ้าดูพวกมันสูญพันธุ์ หรือเราจะหาวิธีหยุดกิจกรรมที่ผิดกฎหมายนี้ ช่วยช้าง และช่วยรักษาโลก”

 

เรียบเรียงจาก Saint Louis University

ภาพจาก AFP

คอนเทนต์แนะนำ
กลุ่มอาหารต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคที่พบมากในไทยเป็นอันดับที่ 4
“การระเบิดที่สมบูรณ์แบบ” ชมภาพ “กิโลโนวา” ทรงกลมสุดหายาก
ตรวจหวย - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ลอตเตอรี่ 16/2/66

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ