Greenery PGS มาตรฐานเพื่อผู้บริโภค สร้างอาหารปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม


เผยแพร่




เกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาเห็นได้อย่างชัดว่าคนไทยมีพฤติกรรมใส่ใจและดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น จนทำให้มีกระแสหรือเทรนด์การดูแลสุขภาพในรูปแบบต่างๆ ให้เห็นบ่อยขึ้น

เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเอาเข้าปากและมีผลต่อร่างกาย จึงเกิดเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ อาหารคลีนในรูปแบบต่าง ๆ เกิดตลาดเขียว กรีน มาร์เก็ต ตลาดออร์แกนิก ตลาดผักปลอดสาร ฯลฯ มากมายหลายพื้นที่ หลายชุมชน ทั้งในเมืองและนอกเมืองตามต่างจังหวัดต่าง ๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค

ข้อมูลจากสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่สำรวจการดูแลสุขภาพของคนไทยในปี 2020 พบว่า คนไทยร้อยละ 68.52 ดูและเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ นั่นหมายถึงคนไทยให้ความสำคัญและใส่ใจต่อการเลือกอาหารการกินให้ตัวเอง เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น

Greenery Market ภายใต้การดูแลของ โครงการ Greenery หนึ่งในภาคีเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของตลาดสีเขียวที่ขับเคลื่อน และสื่อสารเพื่อให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับการดูแลสุขภาพและใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทุกครั้งที่เปิดตลาด สินค้าและร้านค้าที่เข้ามาจำหน่ายจึงเป็นสินค้าที่ปลอดภัยจะมีสินค้าเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ ได้แก่ สินค้าจากเกษตรกร สินค้าแปรรูป และ สินค้ากลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือ SE (Social Enterprise) ซึ่งตลอด 3 ปีที่ Greenery Market จัดมาแล้ว 24 ครั้ง ใน 4 พื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ และ แนวเส้นรถไฟฟ้า BTS ปรากฏว่า มีผู้บริโภคสนในเข้าร่วมมากกว่า 2,000 คนต่อครั้ง มีรายได้หมุนเวียนสู่ชุมชนแล้วไม่ต่ำกว่า 7 ล้านบาท

ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการ Greenery และ เจ้าของ Greenery Market กล่าวว่า ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มเกษตรกรเข้ามาร่วมจำหน่ายแล้ว 130 กลุ่ม จาก 32 จังหวัดทั่วประเทศ และจากจำนวนผู้บริโภคที่เข้าร่วมงาน นับว่าได้รับความสนใจ และ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ด้วยเป้าหมายหลักของ Greenery คือ Eat Good, Live Green หรือ “กินดี กรีนดี” การเปิดตลาดสีเขียว จึงเป็นการขับเคลื่อนการทำงานตามเป้าหมาย เป็นการเปิดพื้นที่กลางเพื่อให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมาพบกัน เพื่อให้ผู้บริโภคจะได้ทานอาหารปลอดภัย ได้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งของที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “ในปีนี้ Greenery มีงานใหญ่ที่ขับเคลื่อน 2 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องของการพัฒนามาตรฐาน Greenery PGS และการเปิดตัว Greenery Market Online เพื่อเป็นการขยายผลเชื่อมโยงกับคนกว่า 70,000 คน กับ 130 กลุ่ม ให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น ขณะนี้อยู่ในช่วงของการเตรียมการในเรื่องตลาดออนไลน์”

การสร้างมาตรฐาน  Greenery PGS นั้น ธนบูรณ์ อธิบายว่า เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในกับผู้บริโภคที่เข้ามาจับจ่ายในตลาดมากขึ้น เป็นการพัฒนาระบบมาตรฐาน PGS นำมาใช้คัดกรอง ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์จากกลุ่มผู้ค้าที่จะร่วมเข้าร่วมในตลาด Greenery Market อย่างเข้มข้นอีกขั้นหนึ่ง เป็นการนำมาตรฐานที่ใช้ในระดับสากล มาพัฒนาให้เป็นการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม โดยให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และ ผู้บริโภค เข้ามามีส่วนร่วมในออกแบบเกณฑ์การคัดกรองด้วยกัน เกิดกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม Participatory Guarantee System (PGS) โดยมาตรฐาน Greenery PGS จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 เมษายน 2564 นี้ 

แต่ก่อนหน้าที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการนั้น ธนบูรณ์พร้อมกับทีมงานได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมกลุ่มผู้ผลิตสินค้าและเป็นผู้ค้าในตลาด Greenery Market 2 แห่ง คือ ปันกันกรีน (PUNGUNGREEN) และ 141 STUDIO ซึ่งทั้งสองผู้ประกอบการนี้ก็เป็นสมาชิกที่จะเข้าร่วมกับ Greenery PGS ด้วย

ปันกันกรีน เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ในกลุ่มเครื่องใช้และเครื่องสำอาง โดยมีผลิตภัณฑ์อยู่ทั้งสิ้นมากกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์ล้างจาน สูตรมะกรูด ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ สเปรย์ขจัดคราบอเนกประสงค์ น้ำยาปรับผ้านุ่ม สูตรมะละกอ น้ำยาซักผ้า สูตรน้ำผลไม้ผสมด่าง ผลิตภัณฑ์ล้างผักและเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ล้างมือ สูตรมะกรูด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น สูตรขมิ้นชัน เป็นต้น

คุณเก๋ หรือ ชัฏศิญาณ์ พรหมมงคลกุล เจ้าของแบรนด์ ปันกันกรีน เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำผลิตภัณฑ์มาจากการทำให้ลูก ๆ ได้ใช้ ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเมื่อนำมาใช้เป็นหลัก วัตถุดิบทุกอย่างจึงผ่านการคัดเลือมาแล้วอย่างดี แม้ว่าวันนี้ผู้ที่ใช้ไม่ใช่เพียงคนในครอบครัว ขยายวงกว้างไปสู่ผู้บริโภคแต่ก็ยังคงใช้มาตรฐานผลิตที่ปลอดภัยเช่นเดิม

ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีอยู่ ทำมาจากวัตถุดิบตั้งต้นที่เป็นธรรมชาติทั้งสิ้น โดยรับมาจากเกษตรกรที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่มีสารเคมี เช่น สารตั้งต้นของน้ำด่าง มาจาก สัปปะรด มะละกอ รับมาจากลุ่มเครือข่าย , มะเฟือง มะกรูด รับมาจากแปลงเกษตรกรที่อยุธยาและราชบุรี  และ ขี้เถ้าก็เอามาจากเตาที่เผากล้วยมาใช้ นับได้ว่าวัตถุดิบทุกอย่างของปันกันกรีนผ่านการเลือกและสรรหามาแล้วอย่างดี

ขณะที่ 141 STUDIO  เป็นกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ SE และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็น STUDIO ที่ผลิตของเล่นต่าง ๆ ด้วยไม้ ปลอดภัย และงานที่ทำเป็นตัวถ่ายทอดเรื่องราว โดย คุณแพท หรือ กฤติยา ตระกูลทิวากร และ ครูอ้วน หรือ คมกฤช ตระกูลทิวากร เล่าว่า ทำงานมาถึงปีนี้ก็เป็นปีที่ 11 แล้ว จุดเริ่มต้นมาจากการเป็นดีไซน์เนอร์ ทำงานในภาคเอชน เกิดความคิดว่า อยากทำอะไรเพื่อสังคม จึงคิดมาทำธุรกิจ SE ประกอบกับมีลูก จึงได้โฟกัสกับเรื่องเด็ก และพบว่า งานหลักของเด็กวัยเล็ก คือ การเล่น จึงเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับการเล่นของเด็กในปัจจุบัน เมื่อได้ข้อมูลจากเพื่อนเล่าให้ฟังว่า ของเล่นที่บริจาคให้กับมูลนิธิฯ มีเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ที่พอเล่นได้ จึงเกิดไอเดียว่า อยากทำของเล่นเด็กเพื่อนำไปบริจาค จึงได้เกิดเป็นชิ้นงานออกมา และทำมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

“ของเล่นเด็กจะเป็นไม้ทั้งหมด และงานส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วน เพื่อให้เด็กประกอบเอง เป็นการถ่ายทอดเรื่องราว เสริมจิตนาการให้เด็ก” คุณแพท กล่าว

สำหรับการลงพื้นที่เพื่อดูผู้ประกอบการทั้ง 2 รายนี้ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการเข้าสู่มาตรฐาน Greenery PGS หลังจากที่ได้รับฟังข้อมูลก็มีการตรวจสอบรายละเอียดที่ทีมฯได้จัดเตรียมมาเป็นแบบสอบถาม เพื่อดูว่ามีจุดไหนที่ขัดต่อการเข้าหลักเกณฑ์การเข้าร่วม Greenery PGS หรือไม่ เพื่อจะได้ปรับหรือแก้ไขร่วมกันเพื่อให้ได้ตรงกับมาตรฐานที่กำหนด 

การทำงานของ Greenery ที่เปิดพื้นที่ตลาดให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมาเจอกันนั้น ถ้ามองถึงเส้นทางอาหาร เปรียบได้ดังนี้ พื้นที่ตลาด คือ กลางน้ำ และ ผู้บริโภค คือ ปลายน้ำ การสานต่อด้วยการทำ Greenery PGS ที่ลงลึกไปถึงผู้ผลิต จึงเป็นเหมือน ต้นน้ำ แม้จะไม่ได้ถึงขนาดเข้าไปควบคุม หรือดูแลถึงแปลงเกษตร หรือ ครัวเรือนการผลิตแบบเกาะขอบแปลง แต่มาตรฐานที่ถูกสร้างขึ้นมานี้จะใช้เป็นกฎเกณฑ์ หรือหลักการปฏิบัติ ที่คนต้นทางอย่างผู้ผลิตต้องเคารพกฎกติกาที่ตั้งขึ้น เนื่องจากกฎกติกาที่ออกมานี้ เป็นการร่วมออกแบบการคัดกรองอย่างมีส่วนร่วม คือ ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้า และ ผู้บริโภค ออกแบบร่วมกัน

ถ้ามองถึงการเดินทางของอาหาร จะพบว่าเส้นทางอาหารที่กำลังจะเกิดขึ้นใน Greenery Market และ Greenery  Market Online (ที่กำลังจะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้) กำลังสร้างขึ้น ได้เปิดเส้นทางอาหารปลอดภัยจากต้นน้ำ อย่าง ผู้ผลิต มาสู่ปลายน้ำ อย่าง ผู้บริโภค ให้ได้ทานอาหารปลอดภัย สมกับแนวคิดเรียบง่ายของ Greenery ที่ว่า “Eat Good, Live Green” หรือ “กินดี กรีนดี “ ซึ่งเป็นทำงานเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางอาหารปลอดภัยมาสู่ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประชาสัมพันธ์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ