ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต ทางรอดในสถานการณ์ “โควิด” ถล่มเมือง


เผยแพร่




แม้ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีจำนวนเกษตรกรถึง 40% แต่ก็ยังมีประชาชนอีกจำนวน 60% ที่ต้องใช้เงินซื้ออาหาร ซึ่งสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 โควิด ได้เผยให้เห็นความไม่มั่นคงทางอาหารมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจ ส่งผลต่อระบบอาหารมีความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมตามไปด้วย โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ต้องหารายได้เป็นรายวัน เมื่อหยุดกิจการก็ไม่มีรายได้ไปหาซื้ออาหาร

ปัญหาการเข้าถึงอาหารในช่วงวิกฤติโควิด19 จึงเป็นภาพสะท้อนหนึ่งของความไม่มั่นคงทางอาหาร เมื่อผู้คนไม่มีรายได้ จึงไม่มีเงินซื้ออาหาร เพราะสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนาน จนตกงาน ขาดรายได้ หรือเมื่อธุรกิจไปไม่ได้ ก็ถูกเลิกจ้าง คนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ต้องการการดูแลจากรัฐ

ไม่เพียงเฉพาะคนในเขตเมืองที่ต้องใช้แรงกายแลกเงินได้รายวันเท่านั้น ผู้คนในเขตชนบทก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แม้จะพึ่งพาตัวเองได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อตลาดถูกปิด ไม่ว่าจะเป็นตลาดสีเขียวหรือตลาดชุมชน ก็ทำให้ชาวบ้านขายของไม่ได้ รายได้จึงไม่พอจุนเจือครอบครัว

อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เล่าว่า วิกฤตนี้คนในชนบทต้องอุ้มชูคนที่อยู่ในเมืองให้อยู่รอดด้วย กรณีครอบครัวที่มีลูกมีหลานเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ อย่างเช่นกรุงเทพฯ แล้วพบกับวิกฤติลูกหลานไม่มีรายได้ ลูกหลานต้องพึ่งพาพ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด ให้ส่งข้าวสารอาหารแห้งไปให้ บางเดือนพ่อแม่ต้องส่งเงินค่างวดรถให้ลูกด้วย

หากถามว่าชุมชนท้องถิ่นจะอยู่ได้หรือไม่ในภาวะวิกฤต อุบล ตอบว่า ส่วนใหญ่อยู่ได้ แม้ว่าขณะนี้มีไม่ถึง 50% ที่ผลิตอย่างจริงจัง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพึ่งพาตัวเองอย่างแท้จริงก็สามารถอยู่ได้ หรือปลูกกินเองได้ภายใน 40-50 วัน 

“โควิดทำให้คนหันมาสนใจในการปลูกกินเองมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีวิธีใหม่ๆ เกิดขึ้นมา อย่างเช่นที่บ้านหนองอีตุ้ม ยโสธร มีไลน์ (LINE) ของหมู่บ้านใช้แลกเปลี่ยนสินค้ากัน เช่น โพสต์ลงไปบอกว่า “เย็นนี้แม่มีปลา 3 กก.ใครสนใจบ้าง ติดต่อมาเด้อ” ไม่นาน ก็ขายได้แล้ว เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” เขา เล่า


 

อุบล เชื่อว่า ความมั่นคงทางอาหารของไทยยังอยู่บนฐานที่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นฐานทรัพยากร ฐานการผลิต ฐานการเพาะปลูก ผู้คนในชนบทมีขาข้างหนึ่งอยู่บนวิถีเกษตร อีกข้างหนึ่งอาจต้องพึ่งพารถพุ่มพวง แต่เราต้องยอมรับว่าเกษตรไร้ต้นทุนยังเก็บกินได้ ยังคงมีการปลูกผักสวนครัว พืชผักริมรั้วต่างๆ ก็เก็บกินโดยไม่ต้องใช้เงิน

“สิ่งที่น่าเป็นกังวล คือความมั่นคงทางอาหารระดับประเทศ การที่รัฐบาลบอกว่าไทยเป็นครัวของโลก เป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ แต่ในภาวะอดอยาก เรากลับไม่เห็นรัฐบาลเอาข้าวออกมาแจก เพราะความจริงคือข้าวไม่ได้อยู่ในมือรัฐแม้แต่เม็ดเดียว ดังนั้นเพื่อตอบสนองหรือลดความขาดแคลนให้กับชีวิตผู้คนในยามวิกฤต รัฐต้องมีการจัดการสำรองอาหาร สร้างระบบให้ลื่นไหล เพื่อขจัดความขาดแคลนให้ได้” อุบล ให้ความเห็นและย้ำว่า “ที่สำคัญต้องจัดการในระดับท้องถิ่น มีการสำรองอาหารในชุมชน อย่างน้อยต้องรู้ว่าข้าวอยู่ตรงไหน ไข่ไก่อยู่ไหนบ้าง เราต้องกระตุ้นให้เกิดเรื่องนี้ในระดับตำบลเลย"

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเห็นตรงกันว่า “สิทธิในอาหาร” หรือสิทธิในการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการในทุกสถานการณ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในประเทศไทยที่ต้องได้รับการปกป้อง ดูแล และคุ้มครอง โดยเป็นหน้าที่ของรัฐและทุกภาคส่วนของสังคม 

ขณะเดียวกันได้กำหนดเป้าหมายว่า ใน 5 ปีข้างหน้า (ภายใน พ.ศ.2568) ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถจัดการอาหารในภาวะวิกฤต โดยขอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

มติสมัชชาสุขภาพ ยังระบุให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนให้ภาคีต้องสร้างรูปธรรมระบบสำรองอาหาร เช่น สวนผักคนเมือง ทำโครงการปันอาหาร ปันชีวิต ให้คนพึ่งตนเองด้านอาหารหารมากขึ้น ส่วนมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน หาทางออกถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบสำรองอาหารควบคู่ไปกับความมั่นคงทางอาหารในชุมชน
 

ทัศนีย์ วีระกันต์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า มติในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 13 เครือข่ายอยากให้หยุดระบบสงเคราะห์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคประชาชนด้วยกันเอง หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิในอาหาร ควรระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการในทุกสถานการณ์ พัฒนาระบบอาหารให้พร้อมรับภาวะวิกฤต ทั้งในด้านการผลิตอาหาร การสำรองอาหาร และการกระจาย การแลกเปลี่ยน หรือการแบ่งปันอาหาร การพัฒนาระบบดูแลประชากรเปราะบาง และประชาชนที่ขาดความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต

สำหรับการมีสิทธิในอาหารในภาวะวิกฤติ รัฐต้องให้ประชาชนได้รับสวัสดิการอาหารในรูปแบบต่างๆ เช่น แจกคูปอง ตั้งครัว หรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล ส่วนการมีระบบสำรองอาหาร เป็นส่วนของการวางแผนสร้างความ 4.วัฒนธรรมการเกื้อกูลกัน การแบ่งปันสวัสดิการในชุมชน ทำให้การแบ่งปันมีโครงสร้างชัดเจน และ 5.นโยบายท้องถิ่น อบต.หรือระดับชาติที่จะจัดหาสวัสดิการให้กับประชาชน

“ความไม่มั่นคงทางอาหารที่ปรากฏชัดในวิกฤติโควิด-19 กระทบกับประชาชน 2 ส่วน คือคนที่มีฐานะปานกลางขึ้นไปตื่นตูมไปเตรียมอาหารไว้กักตุนจนเกิดการขาดแคลนสินค้า และคนเปราะบางที่มีรายได้รายวัน เมื่อไม่มีเงิน ก็เข้าไม่ถึงอาหาร” ทัศนีย์ กล่าว

กลุ่มเปราะบางจึงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนที่สุด เมื่อพวกเขาออกไปทำงานไม่ได้ เมื่อเกิดการล็อกดาวน์ก็ไปไหนไม่ได้อีก กลับบ้านต่างจังหวัดก็ไม่ได้ ภาครัฐจึงต้องมีระบบการจัดการอาหารควบคู่กันไป เพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถหาอาหารเองได้ในภาวะแบบนี้

เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ลักษณะนี้ซ้ำๆ อีก จึงต้องมีการกำหนดนโยบายให้ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถจัดการอาหารในภาวะวิกฤตได้ในอนาคต


 

TOP ประชาสัมพันธ์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ