เริ่ม 1 เม.ย.นี้! บีทีเอส “อ่อนนุช-สมุทรปราการ” เก็บ 15-21 บ.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ รถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายสายแบริ่ง-สมุทรปราการ จะเก็บอัตราค่าโดยสารใหม่เป็น 15 -21 บาท จากเดิมเหมาจ่าย 15 บาท ขณะที่ กรมบัญชีกลาง เพิ่มทางเลือกให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกประเภท ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้แล้วทุกสถานี นอกเหนือจากการใช้บริการรถเมล์ของ ขสมก. และรถไฟฟ้า MRT

เมื่อวันที่ (20 มี.ค. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้ง 1.46 ล้านราย ที่ลงทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานครฯ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีวงเงินในบัตรฯ เพื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ เดือนละ 500 บาท  สามารถนำบัตรฯ ไปซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ผ่านเครื่อง EDC ของธนาคารกรุงไทย ณ ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารฯ บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกสถานี จำนวน 43 สถานี  เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางให้แก่ผู้ถือบัตรฯ อีกช่องทางหนึ่ง นอกเหนือจากการใช้บัตรฯ ชำระค่าโดยสารรถเมล์ (ขสมก.) และรถไฟฟ้า (รฟม.) ทั้งสายสีม่วงและสีน้ำเงิน ที่ได้ให้บริการมาก่อนแล้ว

โดยในการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อการเดินทาง นั้น ผู้ถือบัตรฯ ที่ได้รับบัตรแมงมุม และบัตร Contactless จะได้รับวงเงินค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. , รถไฟฟ้า MRT,รถไฟฟ้าบีทีเอส จำนวนเงิน 500 บาท/คน/เดือน จะมีการใช้จ่ายหรือไม่ จำนวนเท่าใดก็ตาม ทุกสิ้นเดือนจะตัดวงเงินที่เหลือ และใส่วงเงินให้ใหม่ จำนวน 500 บาท ทุกเดือน

ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป กรุงเทพมหานครมีกำหนดจะเปลี่ยนแปลงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ในช่วงส่วนต่อขยายสายแบริ่ง-สมุทรปราการ จากเดิมที่เก็บแบบเหมาจ่าย 15 บาท จากอ่อนนุช-สมุทรปราการ เป็นเก็บตามระยะทาง จากอ่อนนุช-สมุทรปราการ ในอัตรา 15-21 บาท ทำให้ค่าโดยสารรวมของรถไฟฟ้าเส้นทาง ดังกล่าวมีอัตราสูงสุดเท่ากับ 65 บาท (จากหมอชิต-อ่อนนุช เริ่มต้นที่ 16-44 บาท และจากอ่อนนุช-สมุทรปราการ ที่เริ่มต้น 15-21 บาท)

นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ยอมรับว่า อัตราดังกล่าวเหมือนเป็นการเก็บค่าเข้าระบบ เนื่องจากสายสีเขียวขณะนี้เหมือนเป็นคนละเส้นทาง คือ 1.เส้นทางที่บีทีเอสเป็นผู้รับสัมปทาน 23 สถานี และ 2.เส้นทางส่วนต่อขยายที่ กทม.จ้างเดินรถ โดย กทม.เป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารเอง ช่วง อ่อนนุช-แบริ่ง, ช่วงตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ (เคหะฯ) และสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บค่าโดยสารจะนำมาใช้ในการจัดการเดินรถ ซึ่งมีต้นทุนค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน และโดยสารในราคาไม่สูงเกินไป จึงกำหนดให้จัดเก็บไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ