เปิด 2 วิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่อยื่นตีความ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้จะยังไม่มีคำอธิบายจาก กกต. ว่าจะคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อย่างไร แต่สูตรคำนวณที่พูดถึงกันอยู่ขณะนี้นั้นมีหลักการเดียวกัน ต่างกันเพียงในรายละเอียดของวิธีการและตัวเลขที่นำมาใช้เท่านั้น ซึ่งก่อให้เกิดข้อถกเถียงใน 2 แนวทาง หรือ 2 วิธี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่จะไปถึงจุดที่เป็นข้อแตกต่าง หรือเป็นข้อถกเถียง เรามาทำความเข้าใจหลักการหา ส.ส.พึงมี กันก่อน ซึ่งส่วนนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันในวิธีการคิดคำนวณแล้ว คือ นำคะแนนเสียงของทุกพรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาบวกกัน (ไม่นับคะแนนเสียงของพรรครักท้องถิ่นไทย, พรรครักษ์ธรรม และพรรคอนาคตไทย เพราะไม่ส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ) รวมคะแนนเสียงทั้งหมดได้ 35,528,749 แล้วหารด้วย 500 คือ จำนวน ส.ส.ทั้งหมด เพื่อหาคะแนนเฉลี่ยของ ส.ส. 1 คน ผลลัพธ์จะได้เท่ากับ 71,057.498

จากนั้นนำคะแนนเสียงของแต่ละพรรค หารด้วยค่านี้ จะได้จำนวน ส.ส.พึงมี ของแต่ละพรรค เช่น พรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงสูงสุด 3 อันดับแรก

-พรรคพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.พึงมี 118.6805 คน 

-พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.พึงมี 111.4679 คน

-พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส.พึงมี 88.1814 คน

กกต.ยังบอกไม่ได้ ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบไหน

นำจำนวน ส.ส.พึงมี ตั้ง ลบด้วยจำนวน ส.ส.เขตของพรรคตัวเองก็จะได้ จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยพลังประชารัฐ จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 21.6804 คน, เพื่อไทย มีจำนวน ส.ส.เขต มากกว่า ส.ส.พึงมี กฎหมายระบุไว้ว่าจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว ส่วน อนาคตใหม่ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 58.1814 คน

ทั้งนี้เมื่อนำจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรคที่ส่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรวมกัน จะได้ 175.5321 ที่นั่ง เมื่อจำนวนเกิน 150 จึงต้องมาคำนวณตามสูตร overhang seats ปรับ จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้อยู่บนฐาน 150 ที่นั่ง ด้วยการเทียบบัญญัติไตรยางค์ นำยอด ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค คูณด้วย 150 (จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ) แล้วหารด้วย 175.5321 จะได้ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวนใหม่ ที่อยู่บนฐาน 150 ที่นั่ง ปรากฏว่า พลังประชารัฐ  ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 18.5269 ที่นั่ง และอนาคตใหม่ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่ากับ 49.7186 ที่นั่ง

หลังจากนั้นแยกให้ จำนวนเต็ม ออกจาก จำนวนที่เป็นทศนิยม แล้วนำยอดจำนวนเต็ม ส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรคมารวมกันได้ 129 คน ขาดไป 21 คนถึงจะครบ 150 คน โดยเกลี่ยไปให้พรรคที่มีจำนวนตัวเลขทศนิยมมากที่สุดไปหาน้อยจนกว่าจะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 150 คน โดยพลังประชารัฐ จะได้เพิ่ม 1 ที่นั่ง เป็น 19 ที่นั่ง และอนาคตใหม่ ก็จะได้เพิ่มอีก 1 ที่นั่ง รวมเป็น 50 ที่นั่ง แต่วิธีการคำนวณแบบนี้จะทำให้มีพรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวน 12 พรรคที่ได้ ส.ส.พรรคละ 1 ที่นั่ง

อนค.ชี้ ข้อกฎหมายชัด น้อยกว่า 7 หมื่น ไม่มีที่นั่ง

“สมชัย” เตือน กกต. คิดส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ผิด อาจติดคุก

สำหรับวิธีการที่ 2 การคำนวณหา ส.ส.พึงมี เหมือนกับวิธีการแรกทั้งหมดแต่เมื่อได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้วให้นำเฉพาะจำนวนเต็มมารวมกัน โดยไม่รวมจุดทศนิยม

-พลังประชารัฐ มี ส.ส.พึงมี 118.6805 ลบ ส.ส.เขต 97 คน ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 21.6675 ที่นั่ง แต่ให้นับเฉพาะจำนวนเต็ม ดังนั้น พลังประชารัฐจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  21 คน

-เพื่อไทย เหมือนเดิม ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ

-อนาคตใหม่ ได้ ส.ส.พึงมี 88.1814 ลบ ส.ส.เขต 30 คน ที่เหลือเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 58.1717 นับเฉพาะจำนวนเต็มจะได้ 58 คน

 

ส่วนพรรคเล็ก ที่ได้ ส.ส.พึงมี ต่ำกว่า 1 คน เมื่อตัดจำนวนเต็มแล้วจะเท่ากับ 0 คือ ไม่มีจำนวน ส.ส.พึงมี เมื่อรวมจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับจะได้ 152 คน เกินไปจากจำนวนที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย คือ 150 คน จำนวนที่เกินมานั้นให้นำไปเทียบบัญญัติไตรยางค์

โดยผลลัพธ์ที่ได้ก็จะถูกแยกจำนวนเต็มกับจำนวนทศนิยมออกจากกันอีกครั้ง จำนวนเต็มคือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคจะได้รับ ส่วนเศษที่เป็นทศนิยมจะเก็บไว้กรณีที่แบ่ง ส.ส.บัญชีให้แต่ละพรรคแล้วปรากฏว่ายังมีจำนวนไม่ครบ 150 ก็จะนำไปจัดสรรให้พรรคที่มีเศษทศนิยมมากไปหาน้อยจนครบ 150 คน

เมื่อรวมจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรแล้วจะได้ 138 ที่นั่ง ขาดไป 12 ที่นั่ง จึงต้องจัดสรรให้พรรคที่มีเศษทศนิยมมากที่สุดไล่ไปหาน้อย ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้พลังประชารัฐได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 21 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ได้ 87 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากวิธีการแรก

อย่างไรก็ตามหากนำผลลัพธ์ของทั้งสองวิธีมาเปรียบเทียบกัน หากคำนวณด้วยวิธีการแรก (หารด้วยจำนวนที่มีจุดทศนิยม) พลังประชารัฐจะได้ ส.ส.ทั้งสองแบบ 116 คน อนาคตใหม่ 80 คน ประชาธิปัตย์ 52 คน ภูมิใจไทย 51 คน เสรีรวมไทย 10 คน แต่ถ้าคำนวณด้วยวิธีการที่สอง (หารด้วยจำนวนเต็ม) พลังประชารัฐได้ ส.ส.118 คน อนาคตใหม่ 87 คน ประชาธิปัตย์ 54 คน ภูมิใจไทย 52 คน เสรีรวมไทย 11 คน พรรคที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนวิธีการคำนวณมากที่สุดคือ พรรคอนาคตใหม่ที่มีจำนวน ส.ส.จากการคำนวณด้วยสองวิธีการต่างกันถึง 7 คน

ขณะที่หากใช้สูตรหลังนี้ ยังไม่แน่ชัดว่า พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้ส.ส.พึงมีต่ำกว่า 1 ที่นั่ง จะมีความเคลื่อนไหวอย่างไร แต่หากใช้วิธีคิดแบบที่ 1 ซึ่งเป็นวิธีที่พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ไม่คิดว่าจะคำนวณแบบนั้น ก็อาจมีการยื่นตีความกฎหมายตามมา เพราะทั้ง 2 พรรคนี้ อ้างถึง มาตรา 128 วงเล็ก 5  ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง  ที่กำหนดว่า ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เท่ากับหรือสูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับ การจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่ำกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้อง ไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ตาม (2) โดยหมายความว่า พรรคการเมืองที่มีส.ส.พึงมีไม่ถึง 1 ที่นั่ง ไม่ควรได้ ส.ส. เพราะได้เท่ากับ พรรคนั้นจะมีส.ส.ส.เกินจำนวนส.ส.พึงมีของตัวเอง

“ไพบูลย์” ชี้จบนานแล้ว คิดส.สใช้สูตรกระจายพรรคเล็ก

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ