"ประยุทธ์" มีโอกาสสูงได้นั่งนายกฯต่อ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




มีการประกาศอย่างชัดเจนว่าวันที่ 4 มิถุนายนนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะประชุมร่วมกับ ส.ส.และกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่ โดยล่าสุดมีการตั้งข้อสังเกตุว่าการประชุมในวันดังกล่าวจะได้ข้อสรุปหรือไม่ก็ตาม แต่แนวโน้มที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อก็มีโอกาสสูงมากเช่นกัน

ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกันมากกว่า 376 เสียง ซึ่งหากพิจารณา ส.ส.ขณะนี้ พบว่าพรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.รวมทั้งสิ้น 117 เสียง  ทำให้เมื่อรวมกับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กอื่นๆ อีกประมาณ 20 เสียง และ ส.ว. 250 เสียง  จะเห็นได้ว่าขณะนี้พรรคพลังประชารัฐมีคะแนนเสียงรวมกันเกิน 376 เสียงแล้ว

นั่นหมายความว่าหากไม่นับคะแนนเสียงจากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ก็มีโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อก็มีสูงมาก แต่หากเป็นไปตามนี้ พรรคพลังประชารัฐ รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ อาจถูกวิจารณ์ว่าได้เป็นรัฐบาลที่มี ส.ส.สนับสนุนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นนี้ทำให้พรรคพลังประชารัฐพยายามทาบทามพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย เพื่อให้ประกาศจุดยืนร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะหากทั้ง 2 พรรคเข้าร่วมด้วยก็จะทำให้มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. รวมกันอย่างน้อย 240 คน

ขณะที่กระแสข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่า มีงูเห่าจากพรรคที่ประกาศตัวไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับจากเจรจาต่อรองให้ย้ายมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อีกอย่างน้อย 20 คน  หมายความว่าหากเป็นไปตามสูตรนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะมี ส.ส.ร่วมสนับสนุนเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หรือเกินกว่า 250 คน

ส่วนเกมการเมืองที่ยังมีการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีกันไม่เสร็จสิ้น ถูกมองว่าในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 5 มิถุนายนนี้  พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย อาจตัดสินใจไม่โหวต พล.อ.ประยุทธ์  แม้จะไม่กระทบกับผลการโหวตก็ตาม  แต่ก็อาจทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางกระแสข่าวว่าคนของพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่าต้องการตำแหน่งรัฐมนตรีที่ถูกเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยคืน

สำหรับพรรคภูมิใจไทย ขณะนี้รอว่าพรรคประชาธิปัตย์จะตัดสินใจร่วมกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่เท่านั้น เนื่องจากเคยประกาศไว้ว่าจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ก็จะทำให้พรรคภูมิใจไทยติดเงื่อนไขนี้  เนื่องจากว่าพรรคพลังประชารัฐจะไม่ใช่พรรคการเมืองเสียงข้างมาก

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ตามรายงานข่าวระบุว่า ยังรอการติดต่อกลับจากพรรคพลังประชารัฐว่าจะตกลงตามข้อเสนอหรือไม่  ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าต้องการผลักดันนโยบายดูแลเกษตรกรที่เคยหาเสียงไว้ ข้อเสนอนี้ถูกตีความว่าเป็นการต่อรองเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  แม้ว่าตัวแทนจากทั้ง 2 พรรคจะปฎิเสธว่าไม่ใช่การต่อรองตำแหน่งก็ตาม 

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า  การจะโหวตเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นอยู่กับมติพรรคและขึ้นอยู่กับสถานะของพรรคในวันโหวตเลือกนายกฯ  ดังนั้นคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวอาจตีความได้ว่า หากในวันดังกล่าวพรรคประชาธิปัตย์มีสถานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งแปลว่าตกลงกับพรรคพลังประชารัฐเรียบร้อยแล้ว ก็อาจมีมติให้ ส.ส.โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่หากสถานะในวันโหวตเลือกนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล ก็อาจมีมติไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หรือ อาจมีมติให้ ส.ส.  "ฟรีโหวต"  โดยใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจของแต่ละบุคคล

การคาดการณ์เรื่องฟรีโหวตถูกมองว่าถ้ามีมติเช่นนี้อาจเป็นการเปิดทางให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ลงมติงดออกเสียง เนื่องจากเคยประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเพียงกระแสข่าวเท่านั้น  ซึ่งต้องรอความชัดเจนหลังการประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ และคงต้องติดตามการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิดในวันที่ 5 มิถุนายนนี้  ว่าสุดท้ายแล้วใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ