สถาบันไฟฟ้าฯ จับมือ สสว.พัฒนาศักยภาพ SMEs ไทยสู่สากล


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จับมือ สสว. ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME ไทย ให้มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น สามารถปรับตัวอยู่ในธุรกิจ และก้าวทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.จัดงาน “คิดให้แกร่ง แรงให้ไกล SMEs ไทยสู่สากล” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มทั่วไป (Regular) โดยให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาด การจัดการนวัตกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การลดต้นทุน หรือได้รับมาตรฐานต่าง ๆ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งจะมีความสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริม SME ตามนโยบายรัฐบาล อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างสมรรถนะผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน สู่การสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น

นายณรัฐ  รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า การจัดงาน “คิดให้แกร่ง แรงให้ไกล SMEs ไทยสู่สากล” เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้รับความรู้และมีแนวทางไปปรับปรุง พัฒนา หรือต่อยอด ภายในองค์กรให้สามารถแข่งขันปรับตัวอยู่ในธุรกิจ ปัจจุบันสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป การรับจ้างผลิตของผู้ประกอบการแบบเดิมอาจไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคอีกต่อไป ผู้ประกอบการ จึงต้องปรับเปลี่ยนการผลิต เป็นการผลิตที่เน้นการพัฒนา และออกแบบสินค้า (Original Design Manufacturer : ODM) รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง (Original Brand Manufacturer : OBM) ตลอดจนการรักษา และขยายส่วนแบ่งทางการตลาดเดิม รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศ ตลาดภูมิภาคและตลาดโลก ด้านตลาดในประเทศควรสนับสนุนให้ใช้สินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทย ทั้งชิ้นส่วน และสินค้าสำเร็จรูป โดยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคด้วยการสร้างมาตรฐานสินค้า รวมถึงต้องสนับสนุน การจัดซื้อภาครัฐเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย ด้านตลาดภูมิภาคควรพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เพื่อขยายการผลิตและการค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น และด้านตลาดโลกมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain : GSC) โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในฐานะผู้รับจ้างผลิต ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญในการผลิตเฉพาะชิ้นส่วน รวมถึงการประกอบสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป

“เพื่อให้การเสริมสร้างศักยภาพพัฒนาผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และสสว. จึงดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ในปี 2562 เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการภาคการผลิต การค้า และบริการ ผ่านแนวทางการพัฒนาโดยการวินิจฉัย และให้คำปรึกษาเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทราบถึงจุดอ่อน-จุดแข็ง รวมไปถึงการให้คำปรึกษาและพัฒนาเชิงลึกในด้านต่าง ๆ เพื่อสามารถนำมาปรับใช้ในธุรกิจได้จริง ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าหรือบริการ ลดต้นทุน การประกอบธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าหรือการบริการ อันจะเป็นการเสริมสร้างสมรรถนะการประกอบการให้เข้มแข็งยั่งยืนอย่างเป็นระบบ” นายณรัฐ กล่าว

ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ณ สิ้นปี 2560 มี SME จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,046,793 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.78 ของจำนวนวิสาหกิจรวมทั้งประเทศ (โดยเป็นส่วนของวิสาหกิจขนาดย่อม (SE) 3,028,495 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.40 ของจำนวนวิสาหกิจรวมทั้งประเทศ) และเมื่อจำแนก SME ตามประเภทการจัดตั้ง สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ นิติบุคคล 675,633 ราย (ร้อยละ 22.18) วิสาหกิจชุมชน 85,429 ราย (ร้อยละ 2.80) และบุคคล/อื่น ๆ 2,285,731 ราย (ร้อยละ 75.02)

ขณะที่การจ้างงานของ SME อยู่ที่ 12,155,647 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 82.22 ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ และในส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของ SME มีมูลค่าร้อยละ 42.4 ของ GDP ประเทศ ดังนั้น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME จึงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ