ผู้หญิงเสี่ยง “อัลไซเมอร์” มากกว่าผู้ชาย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผลการวิจัยใหม่ระบุ ปัจจัยด้านการเชื่อมโยงของสมองและยีนจำเพาะเพศ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงและผู้ชายเผชิญความเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมที่แตกต่างกัน โดยผู้หญิงมีภาวะอัลไซเมอร์มากกว่า

นักวิจัยจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลด์ของสหรัฐฯ ศึกษาผลการสแกนสมองของผู้ชายและผู้หญิงจำนวนหลายร้อยคน เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อม ผ่านหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญของการเกิดโรค ได้แก่ โปรตีน “เทา” (tau) และสารอะมีลอยด์ในสมอง เพราะหากโปรตีนดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีหรือจับตัวกันเป็นก้อนยุ่งเหยิง จะส่งผลทำให้เซลล์สมองตายและเกิดปัญหาด้านความทรงจำได้

งานวิจัยสหรัฐฯเผย ง่วงนอนกลางวันอาจเป็นสัญญาณ “อัลไซเมอร์”

นักวิจัยในสหรัฐฯผลิตสารประกอบชะลอโรคอัลไซเมอร์

นอกจากนี้ยังพบว่า การแพร่กระจายของโปรตีนเทาไปยังสมองส่วนต่าง ๆ ยังมีปัจจัยด้านความแตกต่างทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยโปรตีนเทาซึ่งเกาะอยู่ตามเส้นใยขนาดเล็กของเซลล์ประสาท สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ในสมองของผู้หญิงได้อย่างรวดเร็วกว่าในสมองของผู้ชาย เนื่องจากส่วนต่าง ๆ ของสมองผู้หญิงเชื่อมต่อกันได้ดีกว่าของผู้ชาย จึงทำให้ผู้หญิงเป็นอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมมากกว่าผู้ชาย แต่นักวิจัยย้ำว่า ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาแนวทางว่าสามารถใช้ข้อมูลนี้ในการรักษาผู้ป่วยและลดความเสี่ยงของการพัฒนาโรคได้หรือไม่

หมอเผย“ใบบัวบก” บำรุงสมองป้องกันอัลไซเมอร์

ส่วนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามีของสหรัฐฯ พบหลักฐานว่า ยีนจำเพาะเพศสำหรับผู้หญิงและผู้ชายอาจเชื่อมโยงกับความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ แต่เบื้องต้นยังไม่ทราบว่า เพราะเหตุใดยีนบางตัวถึงก่อให้เกิดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในเพศหนึ่ง แต่ไม่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคดังกล่าวในอีกเพศหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ผู้หญิงในสหราชอาณาจักรราว 500,000 คนมีภาวะสมองเสื่อม เมื่อเทียบกับภาวะสมองเสื่อมในผู้ชายซึ่งอยู่ที่ 350,000 คนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เริ่มเป็นโรคดังกล่าวเมื่อมีอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่อัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุน้อยได้เช่นกัน

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ