นักวิชาการฯ เผยถนนไทยไม่พร้อมรับแนวคิด 120 กม./ชม.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นโยบายใหม่ของกระทรวงคมนาคมที่ ระบุว่า จะนำร่อง 4 ถนนสายหลัก ปรับเพิ่มอัตราความเร็วการขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล ไม่เกิน 120 กม./ชม. จากเดิมที่ 90 กม./ชม. แม้ประชาชนบางส่วนโดยเฉพาะขาซิ่งจะเห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่นักวิชาการที่ทำงานด้านความปลอดภัยทางถนน ชี้นโยบายนี้อาจเอื้อให้เกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความสูญเสียมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถนนพหลโยธิน ที่มีมากกว่า 4 ช่องทางจราจร คือหนึ่งใน 4 ถนนสายหลักที่กระทรวงคมนาคม จะนำร่องปรับเพิ่มอัตราความเร็วรถยนต์ส่วนบุลคลให้วิ่งได้ไม่เกิน120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อเร่งระบายการจราจรที่แออัด

แม้เบื้องต้น ทางกระทรวงมีแผนจะอนุญาตให้ทำความเร็วในลักษณะนี้ได้ เฉพาะช่องทางขวาเท่านั้น เพื่อลดปัญหารถติดจากการขับช้าแช่ขวา แต่จากการสังเกต ผู้สื่อข่าวพบว่า การขับเร็วในช่องทางขวายังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่เอื้อต่อการเกิดอุบัติเหตุ

นักวิชาการ ค้าน คมนาคม สั่งเพิ่มความเร็วรถ 120 กม./ชม. ชี้ปรับขึ้นยิ่งเสี่ยงเพิ่ม

โดยข้อมูลนี้สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่ระบุว่าจุดกลับรถบริเวณเกาะกลาง นอกจากจะทำให้รถที่ขับมาด้วยความเร็วเสียจังหวะแล้ว หากรถที่ตามหลังมาเว้นระยะไม่เพียงพอก็อาจทำให้เกิดการชนได้ เช่นเดียวกับรถที่ยูเทิร์น ซึ่งบางครั้งก็รีบออกมาตัดกระแสการจราจรฝั่งตรงข้าม ไม่รอรถว่าง จนทำให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งถนนเส้นนี้ ต่างจากถนนของต่างประเทศ หรือถนนที่ออกแบบมาเพื่อรถเร็วอย่างเส้นทางมอเตอร์เวย์ ที่กำจัดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ เช่นทางเชื่อมริมทาง และจุดกลับรถเกาะกลางออกไปแล้ว

เล็งแก้กฎหมายเพิ่มความเร็วรถ 120 กม./ชม.

ทั้งนี้นอกจากจุดกลับรถที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มองว่า สิ่งแวดล้อมข้างทางอย่างต้นไม้ ป้ายบอกทาง และเสาไฟ ยังเป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ขับขี่ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุแล้วรถพุ่งไปปะทะกับต้นไม้อาจทำให้เกิดการสูญเสียรุนแรงกว่าเดิม ยกตัวอย่างคลิป ที่ทดลองเคลื่อนรถที่ความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อพุ่งชนต้นไม้โดยตรง ทำให้ตัวรถยุบมาถึงด้านในห้องโดยสาร ซึ่งการเพิ่มอัตราเร็วในการขับขี่ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนมองว่า เท่ากับการเพิ่มความรุนแรง และโอกาสการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น

ขณะเดียวกันนอกจากปัจจัยเสี่ยงรอบข้างของถนนแล้ว ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า การบังคับไม่ให้รถช้ามาวิ่งปะปนกับกระแสรถเร็ว และพฤติกรรมการขับขี่ของคนถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องเร่งแก้ เพราะหากเพิ่มความเร็วแต่พฤติกรรมการขับขี่ เช่นการเว้นช่วง และการกะระยะเหยียบเบรกและหลบหลีก ยังเหมือนเดิม ก็อาจอันตรายกว่าเก่า

 

นิวัต โหยหวล ถ่ายภาพ

ปรารถนา พรมพิทักษ์ รายงาน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ