นักวิชาการชี้ “แบริเออร์ยางพารา” ใช้ได้เฉพาะถนนความเร็วไม่สูง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิชาการ มองนโยบายใช้แบริเออร์ยางพารา เพื่อลดอุบัติเหตุ และเพิ่มความคล่องตัวของรถ จะใช้ได้เฉพาะบางพื้นที่ระยะสั้นที่ใช้ความเร็วไม่สูงเท่านั้น รวมถึงต้องดูส่วนผสมคุณสมบัติทางวิศวกรรมให้ได้มาตรฐาน เพราะตัววัสดุยางพาราไม่สามารถรองรับแรงอัดหากเกิดอุบัติเหตุกับรถใช้ความเร็ว 110-120 กิโลเมตรขึ้นไปได้

เมื่อวันที่ (20 ส.ค.62) นายเอกชัย สุมาลี อดีตผู้อำนวยการ Smart City Research Center และอาจารย์ด้านระบบขนส่ง ประจำมหาวิทยาลัยฮ่องกงโพลีเทคนิค เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวพีพีทีวี ถึงแนวคิดการเลิกสร้างเกาะกลางถนน โดยใช้แบริเออร์ที่ทำจากยางพารามาทดแทน ว่า ถนนแต่ละประเภทมีหลักการในการออกแบบลำดับขั้นของถนน ในเมือง ในหัวเมือง ก็จะมีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานของถนนในแต่ละระดับ อย่างเกาะกลางถนนระหว่างจังหวัด เช่น ถนนมิตรภาพ ที่ใช้ความเร็วสูง ก็ย่อมต้องเป็นแบริเออร์ที่สามารถรองรับแรงกระแทกจากรถที่ใช้ความเร็วสูงได้ แต่หากเป็นรูปแบบในเมืองก็จะใช้เพียงแบบริเออร์ที่แบ่งช่องจราจรเท่านั้น จึงต้องรอดูศักยภาพของแบริเออร์ที่จะนำมาใช้ว่าผ่านมาตรฐานวิศวกรรมที่รองรับหรือไม่ หากเป็นรูปแบบในเมืองขอบถนนสูง 20-30 เซนติเมตร ที่ใช้เพื่อแบ่งช่องการจราจรก็ทำได้ แต่หากจะนำมาทดแทนในถนนที่ใช้ความเร็ว 120 ต่อชั่วโมง ยังเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากทางในประเทศไทยมีประเภทรถที่หลากหลาย หากเป็นรถบรรทุก รถทัวร์ รถตู้ ที่มาด้วยความเร็วก็ถือเป็นความเสี่ยง

“ศักดิ์สยาม” สั่ง ใช้แบริเออร์ แทน เกาะกลางถนน

นักวิชาการ ค้าน คมนาคม สั่งเพิ่มความเร็วรถ 120 กม./ชม. ชี้ปรับขึ้นยิ่งเสี่ยงเพิ่ม

อาจารย์ด้านระบบขนส่ง กล่าวต่อว่า คุณสมบัติของยางพารา สามารถยึดเชื่อมวัสดุต่าง ๆได้ มีความยืดหยุ่นในแง่ของวิศวกรรมอยู่บ้าง แต่ต้องผสมกับรูปแบบอื่น อย่างการนำมาสร้างถนนก็ใช้ทดแทนได้เพียง 3-4% เท่านั้น แต่หากต้องการสนับสนุนการใช้ยางพารา สามารถนำมาทำเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยบนถนน หรือ Street Furniture ที่ไม่ต้องรับแรงกระแทก เช่น แท่งโคนบนถนน หากจะนำมาใช้จริงต้องผ่านการทดสอบการชนกับรถที่หลากหลายชนิด ผ่านมาตรฐานทางวิศวกรรมให้ดี เพราะเมื่อใดที่เกิดอุบัติเหตุแล้ว อุปกรณ์เหล่านี้ถือเป็นชิ้นส่วนสุดท้ายที่จะลดผลกระทบที่รักษาชีวิตผู้ใช้รถใช้ถนนได้

ส่วนแนวคิดที่บอกว่าการเพิ่มจุดกลับรถแล้วจะลดปัญหาการจราจรนั้น ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะจุดกลับรถ ไม่ได้ช่วยให้การจราจรติดขัดน้อยลง ซึ่งยิ่งเป็นการทำให้รถติดมากขึ้น เพราะเป็นจุดที่เพิ่มความขัดของจราจร ทั้งยังถือเป็นจุดที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ทั้งการชนท้าย การชนด้านข้าง การชนแบบประสานงา แต่หากนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉินสามารถใช้ได้จริง เพราะเมื่อเกิดเหตุสามารถปรับเส้นทางการเดินรถให้ใช้ถนนฝั่งตรงข้ามได้ง่ายขึ้น

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ