ทีดีอาร์ไอ ชี้ “ชิมช้อปใช้” ไม่ลงสู่ชุมชน เอื้อรายใหญ่ ดันเศรษฐกิจได้ 0.01%


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้” ประชาชนยังคงให้ความสนใจลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้วันนี้ การลงทะเบียนได้เต็มโควตา 1 ล้านคน ตั้งแต่เวลา 03.14 น. ขณะที่ ทีดีอาร์ไอ ชี้โครงการ “ชิมช้อปใช้” เกิดปัญหาเยอะ ไม่สามารถดันเม็ดเงินสู่ชุมชนได้จริง แต่กลับเอื้อให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมกว่า แนะหากรัฐจะทำเฟส 2 ไม่ควรให้สิทธิ์กับร้านค้ารายใหญ่

เมื่อวันที่ (1 ต.ค.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงทะเบียนเพื่อได้สิทธิ์โครงการ “ชิมช้อปใช้” ในวันที่ 9  เริ่มตั้งแต่วันใหม่ของวันนี้ หรือ วันที่ 1 ตุลาคม2562 โดยมีผู้สนใจเข้ามาลงทะเบียนจำนวนมากทำให้ยอดเต็ม 1 ล้านคน เต็มโควตาตั้งแต่เวลา 03.14 น. ขณะที่การขยายโครงการ “ชิมช้อปใช้” ในเฟสที่ 2 ยังต้องรอการประเมินผลในระยะแรกของกระทรวงการคลังก่อน เบื้องต้น ยังไม่มีการขยายสิทธิ์จาก 10 ล้านคน

สแกนใบหน้า “ชิมช้อปใช้” ไม่ผ่าน แนะ ปรับหน้าให้ตรงบัตรปชช.

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) กล่าวถึงโครงการ “ชิมช้อปใช้” ว่า พบปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น การยืนยันตัวตนที่ซับซ้อน ไม่รองรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมถึง การหาร้านค้าที่มีระบุไว้ในแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง”ไม่ตรงกับพื้นที่จริง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ ท้ายที่สุด ประชาชนที่รับสิทธิ์จะนำเงินไปใช้ในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีแหล่งที่ตั้งชัดเจน และเปิดให้บริการเป็นเวลา เพราะสะดวกมากกว่า ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ ที่รัฐต้องการให้เม็ดเงินลงสู่ชุมชน

โดยส่วนวงเงิน 1,000 บาท ที่รัฐบาลมอบให้กับประชาชน 10 ล้านคน ใช้ในการชิมช้อปใช้ เชื่อว่า ประชาชนจะใช้สิทธิ์ทั้งหมด ขณะที่วงเงินในส่วน G-Wallet ที่สามารถเติมเงินและใช้จ่ายเพื่อรับเงินคืน 15% ของยอดใช้จ่าย คาดว่าประชาชนจะไม่ได้ใช้สิทธิ์นำไปเที่ยวอย่างมีนัยยะ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ไม่นับวงเงินส่วนนี้ว่าจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะประชาชนจะนำสิทธิ์นี้ไปใช้จ่ายสินค้าจำเป็นเพื่อบริโภคมากกว่า จึงมองว่ามาตรการนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 0.01 % เท่านั้น ไม่สามารถดันเศรษฐกิจโตได้ 3% อย่างที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ พร้อมมองว่า หากรัฐบาล มีแนวคิดที่จะออกมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 2  ก็ควรจะมีการปรับวิธีการเพื่อรองรับผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยตรงให้ได้รับอานิสงค์จากโครงการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงให้สิทธิ์ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่

ด้านนางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “ชิมช้อปใช้” จะสามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ราว 0.02% ของจีดีพี พร้อมเสนอ รัฐบาลควรมีมาตรการการคลัง ที่ไม่ใช่การแจกเงิน แต่เป็นการดูแลแรงงานที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมรองรับ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ รวมถึงเอสเอ็มอีที่ยอดขายชะลอตัวลง เพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ส่วนแนวคิดการเสนอให้ต่อมาตรการเฟส 2 ต้องดูกันว่าวัตถุประสงค์ของโครงการคืออะไร ยังมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่อีกหรือไม่ กลุ่มไหนและใครจะได้ประโยชน์ ขณะที่เรื่องวินัยการคลังมองว่าไม่ได้เป็นปัญหา เพราะการที่ภาครัฐจะออกมาตรการใดๆ จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย กรอบงบประมาณอยู่แล้ว

“กสิกรไทย” หั่นจีดีพีเหลือ 2.8% คาดเศรษฐกิจไทยซบเซาถึงปีหน้า

“บิ๊กตู่” โว “ชิมช้อปใช้” ได้ผล แนะ อย่าใช้ฟุ่มเฟือย

ฉวยโอกาสจากช่องโหว่ "ชิม ช้อป ใช้" คิวอาร์โค้ดแลกเงินสดหักหัวคิว 15%

ห้างค้าปลีกตอบรับ "ชิม ช้อป ใช้" หวังกระตุ้นกำลังซื้อปลายปี

กรุงไทย ยันระบบ “ชิมช้อปใช้”ไม่ได้ล่ม แต่จุดชำระเงินของห้างมีจุดเดียว

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ