เผยดัชนีไทยติดลำดับดีปกป้องนโยบายสาธารณะจากอุตสาหกรรมยาสูบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สมาพันธ์เพื่ออาเซียนปลอดบุหรี่ (SEATCA) เผยรายงานระดับอาเซียนและระดับโลกพบอุตสาหกรรมยาสูบยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางนโยบายและมาตรการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน   

สมาพันธ์เพื่ออาเซียนปลอดบุหรี่ (SEATCA) เผยรายงานระดับอาเซียนและระดับโลกที่วัดระดับการแทรกแซงนโยบายสาธารณะของอุตสาหกรรมยาสูบและวัดว่ารัฐบาลสามารถจัดการกับการแทรกแซงของพ่อค้าบุหรี่ได้มากน้อยแค่ไหน พบว่า ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดีในการปกป้องนโยบายสาธารณะและมาตรการในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ในขณะที่อินโดนีเซียและลาวยังไม่สามารถจัดการกับบริษัทบุหรี่ที่เข้ามาล้วงลูกได้ ส่วนฟิลิปปินส์และมาเลเซียเริ่มเดินถอยหลัง มีการอ่อนข้อให้บริษัทยาสูบในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่พม่าและเวียดนามมีแนวโน้มดีขึ้น

พ.ร.บ.ยาสูบ เริ่มใช้ 4 ก.ค.นี้ สูบบุหรี่ผิดที่ปรับ 5,000 บาท

ดร. แมรี อาซุนต้า ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ เปิดเผยว่า  การแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบนั้นมาจากทุกทิศทุกทางและในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายรัฐบาลทุกประเทศอย่างมาก อุตสาหกรรมยาสูบมักจะรุกเข้าหาหน่วยงานด้านภาษีและการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ดังนั้น เพื่อปกป้องประชาชน รัฐบาลจะต้องปิดช่องว่างนี้และดำเนินการตามมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาสากลในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เพื่อแก้ไขปัญหาการแทรกแซงอุตสาหกรรมยาสูบในทุกภาคส่วน โดยทุกหน่วยงานจำเป็นต้องร่วมมือกันกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและไปในทางเดียวกัน

รายงานนี้เริ่มทำในกลุ่มประเทศอาเซียน โดย SEATCA แต่ในปีนี้ได้ขยายไปครอบคลุม 33  ประเทศทั่วโลก ภายใต้โครงการ STOP ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิบลูมเบิร์ก รายงานระดับโลกพบว่าญี่ปุ่น จอร์แดน อียิปต์และบังคลาเทศ ยังมีการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบค่อนข้างสูง ขณะที่อังกฤษ ยูกานดาและอิหร่าน มีมาตรการที่สามารถปกป้องนโยบายสุขภาพจากการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ โดยการกำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมยาสูบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และไม่มีการให้สิทธิพิเศษใด ๆ แก่อุตสาหกรรมยาสูบ

ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยแม้อุตสาหกรรมยาสูบและเครือข่ายของเขาพยายามรุกหนักในการกดดันให้รัฐบาลปรับแก้กฎหมายยาสูบให้อ่อนลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า แต่เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้อ่อนข้อให้พ่อค้าบุหรี่ ประเทศไทยจึงอยู่ในกลุ่มประเทศที่อยู่ในระดับดี อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ไทยยังต้องแก้ไข คือ กรณีข้าราชการระดับสูงเป็นบอร์ดของการยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ในขณะเดียวกันไทยควรมีแนวปฏิบัติสำหรับข้าราชการทุกหน่วยงานในการมีปฏิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมยาสูบอย่างโปร่งใสและเท่าทีจำเป็นเท่านั้น ภายใต้จรรยาปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีแนวปฏิบัติดังกล่าวแล้ว แต่ไม่สามารถครอบคลุมถึงข้าราชการกระทรวงอื่น ๆ และข้าราชการการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของอุตสาหกรรมยาสูบในการแทรกแซงนโยบาย 

นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

นอกจากนี้ ยังควรยกเลิกบุหรี่ปลอดภาษีสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย เนื่องจากเป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทบุหรี่ ส่งเสริมการสูบบุหรี่และรัฐบาลสูญเสียภาษีที่พึงจะได้รับ การเฝ้าระวัง การให้ทุนอุปถัมภ์โดยบริษัทบุหรี่ แก่นักวิชาการ คอลัมน์นิสต์ และองค์กรบังหน้าอื่น ในการกระทำที่จะนำไปสู่การแทรกแซงนโยบาย

 

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ