คมนาคมมั่นใจปลดล็อคประเด็นขนส่งวัตถุอันตรายกับ ICAO-ใช้ม.44 ปรับโครงสร้างการบินพลเรือน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กระทรวงคมนาคมมั่นใจสามารถปลดล็อคประเด็นการขนส่งวัตถุอันตรายด้านการบินได้ภายในสัปดาห์นี้ พร้อมเดินหน้าชี้แจงนานาประเทศ สร้างความเชื่อมั่น ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอนายกฯใช้มาตรา 44 ปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือน

รายงานข่าวจากทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เปิดเผยความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหามาตรฐานด้านการบินของประเทศไทยตามคำเตือนขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ว่า การแก้ไขปัญหาต่างๆมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะแผนแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบิน ในเรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งวัตถุอันตราย ขณะนี้สามารถสามารถปลดล็อคด้วยการแก้ไขในกระบวนการเอกสารได้แล้ว คาดว่าจะสามารถเสนอแผนได้ภายในสัปดาห์นี้

ส่วนการออกใบอนุญาตการบิน หรือ AOC ฉบับสมบูรณ์ ขณะนี้มีแผนดำเนินการที่ชัดเจนตามคำโปรแกรมที่ผู้เชี่ยวชาญทางการบินจากฮ่องกงวางไว้ แต่ยอมรับว่าการดำเนินการต่างๆในเรื่องนี้จะต้องดำเนินการหลายอย่างควบคู่กันไป เช่น การจัดหาเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการรับรองจาก ICAO การจัดหาคนฝึกอบรม การร่างกฎระเบียบต่างๆ บางเรื่องอาจทำได้เสร็จก่อนวันที่ 2 มิ.ย.นี้ แต่บางเรื่องอาจไม่ทัน ในระหว่างนี้กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าชี้แจงกับประเทศต่างๆให้รับทราบว่าประเทศไทยเรามีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

ด้านพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าแผนแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบิน ในเรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งวัตถุอันตราย และการออกใบอนุญาตการบิน จะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ พร้อมทั้งจะเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ปรับโครงสร้างองค์กรของกรมการบินพลเรือน ด้วยการแบ่งออกเป็น 2 หน่วยงานใหญ่ คือ 1. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติ และ2.กรมการท่าอากาศยาน และ 2 สำนักงานย่อยคือ สำนักงาน คณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย และ คณะกรรมการสอบสวนอากาศยานเกิดอุบัติเหตุ

แผนการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีการทบทวนโครงสร้างหมด เมื่อครบปีที่ 3 คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 โดยจะมีการเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่าจะให้ กรมการบินพลเรือนทำหน้าที่ต่อไปจนถึง 30 ก.ย. 58 เพื่อให้การถ่ายโอนการทำงานเพื่อให้โครงสร้างใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.58 เป็นต้นไป

ขณะที่ กรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอซีเอโอ ระบุว่ามีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบินนั้น เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับ 2 ประเทศในอาเซียนมาแล้ว คือ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

กรณีอินโดนีเซียเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2550 คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศห้ามสายการบินของอินโดนีเซียทั้ง 51 สายการบิน บินเข้าไปในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) พร้อมทั้งยังเตือนประชาชนและบริษัทท่องเที่ยวในประเทศอียูไม่ให้ใช้สายการบินเหล่านี้ โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย หลังจากเกิดเหตุเครื่องบินตกที่อินโดนีเซียบ่อยครั้ง ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)ได้เข้ามาตรวจสอบ ผลปรากฎว่า มาตรการรับประกันความปลอดภัยของอินโดนีเซียยังไม่เพียงพอ และขาดกลไกที่เหมาะสมในการลงโทษสายการบินที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและมาตรฐานการบิน ขณะที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ ของสหรัฐ หรือ เอฟเอเอ ประกาศลดระดับความปลอดภัยด้านการบินจากระดับ 1 สู่ระดับ 2 การสั่งแบนครั้งนี้ครอบคลุมถึงสายการบินการูดา ซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติของอินโดนีเซียด้วย

ต่อมา ประธานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้เรียกร้องให้อียูถอดชื่อสายการบินอินโดนีเซียออกจากบัญชีดำสายการบินอันตราย โดยยืนยันว่าทางการอินโดนีเซียได้ปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยในการบิน ฝึกฝนทักษะนักบิน และเพิ่มการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ อาทิ การเพิ่มบุคลากรที่ทำหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ

ในปี 2552 คณะกรรมาธิการยุโรปยกเลิกคำสั่งห้ามบินให้กับสายการบินการูดา แอร์ฟาสต์ อินโดนีเซีย แมนดาลา แอร์ไลน์ EkspresTransportasiAntarbenua

ในปี 2553 คณะกรรมาธิการยุโรปยกเลิกคำสั่งห้ามบินเพิ่มเติมให้กับสายการบิน อินโดนีเซีย แอร์ เอเชีย

ส่วนฟิลิปปินส์ ถูก ICAO ระบุว่ามีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญในเดือนพฤศจิกายน 2552 และถูกถอดออกจากบัญชี SSC ในเดือนมีนาคม ปี 2556 หลังจากสามารถแก้ปัญหา 2 ประเด็นหลักคือ การออกใบอนุญาตการบิน และการขึ้นเครื่องทะเบียนเป็นอากาศยานเพื่อการบินเชิงพาณิชย์ ซึ่งผลการประเมินของไอซีเอโอในปี 2556 พบว่าคณะกรรมการด้านการบินที่ฟิลิปปินส์ได้รับ อยู่เหนือกว่าระดับทั่วโลกเกือบทุกด้าน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ