ประชาชนเข้าถึงทีวีดิจิตอลน้อยทำผู้ประกอบการขาดทุน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. เตรียมพิจารณาลงมติการเลื่อนระยะเวลาจ่ายเงินค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอล งวดที่ 2 ออกไปอีกหนึ่งปีหรือไม่ โดยวันที่ 20 พ.ค.นี้ จะมีการลงมติครั้งสุดท้าย ก่อนถึงวันกำหนดชำระเงิน 24 พ.ค. จากข้อมูลพบประชาชนยังเข้าถึงทีวีดิจิตอลได้น้อย มีผลให้ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย


คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นัดหารือ เพื่อสรุปผลจะเลื่อนเวลาการจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอล รอบที่ 2 ออกไปอีกหนึ่งปีหรือไม่



หลังเคยมีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้เลื่อนเวลาชำระเงินได้ แต่แล้วล่าสุดเมื่อวันที่11พ.ค. คณะกรรมการ กสทช.ได้มีการเปลี่ยนแปลงและมีมติส่งเรื่องไปหารือกับสำนักอัยการสูงสุด เพราะเห็นว่า การใช้อำนาจ กสทช.เพื่อเลื่อนการชำระเงินอาจส่งผลให้กรรมการ กสทช.ถูกกล่าวหาเอื้อประโยชน์ให้เอกชน จึงต้องสรุปผลในวันที่ 20 พ.ค.นี้ ก่อนถึงวันกำหนดชำระเงินวันสุดท้าย 24 พ.ค.นี้



ข้อมูลจาก กสทช.เองระบุว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 กสทช.ดำเนินการแจกคูปองเพื่อแลกกล่องทีวีดิจิตอล ไปแล้ว 6 รอบ จำนวน 8,300,000 ใบ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยยังเหลือที่ต้องแจกรอบสุดท้าย ที่เริมแจกไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค. อีกจำนวน 5,800,000 ใบ



แต่น่าสนใจว่า คูปองที่ถูกแจกไปแล้ว ถูกนำมาแลกใช้สิทธิ์เพียง ร้อยละ 50 ของคูปองที่แจกทั้งหมดเท่านั้น ทำให้เห็นได้ว่า ประชาชน ยังไม่สามารถเข้าถึงทีวีดิจิตอลได้ตามเป้าหมายเดิมตามเจตนารมณ์ แม้จะเปิดให้บริการมาแล้วครบ 1 ปี




การไม่สามารถทำให้โครงข่ายทีวีดิจิตอลมีความพร้อม ส่งผลต่อโอกาสของประชาชนในการเข้าถึงทีวีดิจิตอล ตั้งแต่ความไม่เข้าใจกระบวนการแลกคูปอง การที่คูปองไม่สามารถนำไปใช้กับกล่องดาวเทียมอื่นๆ ทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการเปลี่ยนมาใช้กล่องดิจิตอล เพราะมีจำนวนช่องที่น้อยกว่าดาวเทียมที่มีอยู่แล้ว ปัญหาการติดตั้งยาก โครงข่ายไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ บางพื้นที่ไม่มีสิทธิ์รับคูปอง รวมถึงปัญหาความคมชัด ที่ช่องในระบบ SD และ HD ยังไม่มีความแตกต่าง


อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนไม่สามารถเข้าถึงทีวีดิจิตอลได้ตามเป้าหมาย จึงเป็นผลลูกโซ่มายังการใช้จ่ายเงินโฆษณา และการลงทุนของผู้ประกอบการ ทำให้มีการร้องขอให้เลื่อนระยะเวลาการจ่ายเงินงวดที่ 2 ไปก่อน ซึ่งความชัดเจนทั้งหมดที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. จะเปิดเผยในวันที่ 20 พ.ค.นี้


ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วน ยืนยันว่า การเลื่อนชำระเงิน ไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ เพราะผู้ประกอบการจ่ายเงินไปแล้วครึ่งหนึ่งของค่าสัมปทาน และเงินอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในระบบที่ธนาคารรับรองการเงิน ทำให้ กสทช.สามารถหักเงินจากธนาคารได้เลย ซึ่งผู้ประกอบการเพียงขอเลื่อนเวลาการจ่ายเงิน เพราะ เห็นว่า กิจการทีวีดิจิตอล ยังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ