ผู้ป่วยโรคไตระวัง! ดื่มน้ำประปาเค็ม เสี่ยงไตวาย แนะวิธีเลี่ยงก่อนเข้าสู่ภาวะปกติ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมอนามัยเตือนผู้ป่วยโรคไต หลีกเลี่ยงบริโภคน้ำประปาช่วงภัยแล้ง เหตุความเค็มทำอาการรุนแรงไตวายได้ ชี้คนทั่วไปกินได้ไม่เกิน 1 ช้อนชา เครื่องกรองปกติ- ใช้ความร้อนต้มไม่ช่วยอะไร

วันที่ 4 ม.ค. 2563 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีน้ำประปากร่อยจนเค็มในช่วงภัยแล้ง ที่อาจกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ ว่า กรมอนามัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำอุปโภคบริโภคได้เตรียมแผนรองรับภาวะแล้งฉุกเฉิน ซึ่งคาดการณ์ตั้งแต่เดือนมกราคม–พฤษภาคม 2563 เกือบทุกภาคของประเทศไทยจะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับสภาพอากาศ     หนาวเย็นและความชื้นต่ำ ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น จากแนวโน้มภัยแล้งดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาวะ  น้ำทะเลหนุนสูงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อให้เกิดภาวะน้ำประปาเค็ม ผู้ที่บริโภคน้ำประปาเป็นประจำอาจจะรับรู้ถึงรสชาติที่เปลี่ยนไปจากปกติในบางครั้ง โดยความเค็มดังกล่าวมาจากเกลือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงที่ใช้ปรุงอาหาร

วิกฤตภัยแล้ง ทำน้ำประปาเค็ม กระทบกลุ่มเสี่ยง “ความดัน-ไต-หัวใจ”

เสรี แนะ ชาวกทม.ซื้อน้ำขวดกินแทนแก้ปัญหาประปาเค็ม

 

ทั้งนี้  องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดค่าแนะนำเพื่อความน่าดื่มและการยอมรับของผู้บริโภคไว้คือในน้ำประปา ควรมีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร             แต่ถ้าเจือปนในน้ำมากเกินไปจะทำให้น้ำมีรสกร่อยถึงเค็มได้ ซึ่งทางโภชนาการและการแพทย์แนะนำว่า   มนุษย์ควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือวันละไม่เกิน 1 ช้อนชา  โดยปัจจุบันน้ำประปามีโซเดียมประมาณ  100–150 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนปกติจะดื่มน้ำประปาจนได้รับโซเดียมเกินกว่าที่กำหนด

“จริงๆ คนปกติทั่วไปที่ไม่ได้ป่วยไม่น่ากังวล เพราะไตทำงานปกติ สามารถขับของเสียออกมาได้ แต่ที่ต้องกังวลคือ ผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากไตทำงานได้น้อยลง การกำจัดเกลือก็จะน้อยตามไปด้วย และมีความเสี่ยงภาวะไตวายได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรรับเกลือเข้าสู่ร่างกายอยู่แล้ว อย่างคนทั่วไปรับได้วันละไม่เกิน 1 ช้อนชา ผู้ป่วยไตต้องน้อยกว่านั้นมากๆ อย่างแพทย์จะแนะนำเลยว่า ไม่ควรกินของเค็ม ทั้งนี้ ก็จะขึ้นอยู่กับสภาพไตของแต่ละบุคคล” พญ.พรรณพิมล กล่าว

กปน.แนะวิธีบริโภคน้ำช่วงภัยแล้งสำหรับประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีวิธีแนะนำผู้ป่วยโรคไต ในการเลี่ยงบริโภคน้ำประปาช่วงนี้หรือไม่ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  จริงๆ ก็ควรต้องเลี่ยงดื่มน้ำประปา  หรือใช้เครื่องกรอง แต่เครื่องกรองที่ใช้ก็จะมีราคาแพง เนื่องจากเครื่องกรองน้ำปกติไม่สามารถกรองความเค็มพวกนี้ได้  เพราะเครื่องกรองทั่วไปส่วนใหญ่กรองตะกอน สิ่งปนเปื้อนอื่นๆ อันนี้ละลายในน้ำเหมือนเกลือแกง ต้องใช้เครื่องกรองน้ำ Reverse Osmosis (RO) ที่จะกรองเกลือได้  แต่มีราคาแพง ทางที่ดีที่สุด ณ ขณะนี้ คือ สำหรับผู้ป่วยโรคไต ควรซื้อน้ำขวดดื่มก่อน    

 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าแสดงว่าความร้อนไม่สามารถช่วยได้ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ใช่ เราไม่สามารถต้มน้ำประปา เพราะคิดว่าจะลดความเค็มลงได้  แต่ขอย้ำว่า คนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงก็ไม่ต้องกังวล ที่ต้องระวังคือ ผู้ป่วยโรคไต   ส่วนกลุ่มผู้ป่วยโรคไตที่รับบริการฟอกไตที่โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบการกรองแบบ Reverse Osmosis (RO) ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ มั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย และสำหรับคนปกติทั่วไป การดื่มน้ำกร่อยอาจได้รับโซเดียมเพิ่มเติมจากปกติ จึงควรลดปริมาณสารปรุงแต่งอาหารที่มีความเค็มลง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส ผงปรุงรส งดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด  

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ