สุดขลัง!! ตาม อ.เผ่าทองไปเปิดตำนาน 1 วัน 3 วัด 1 พิพิธภัณฑ์ ณ พระนครศรีอยุธยา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีวัดและโบราณสถานท่ีมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมายที่ควรค่าแก่การไปชมและศึกษาประวัติศาสตร์ แต่การไปกับผู้มีองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์คนหนึ่งของเมืองไทย อย่าง อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ที่จัดกิจกรรม “THANKS FOR YOUR KINDNESS” รับรองว่าแต่ละที่ที่ได้ไปเยือนนั้นย่อมมีความพิเศษและเรื่องราวอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สมกับ รายการเปิดตำนานกับเผ่าทอง ทองเจือ

3 วัด 1 พิพิธภัณฑ์ ล้วนซ่อนรายละเอียดต่างๆ ไว้ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ซึ่งล้วนแต่ซ่อนไว้ในรายละเอียดที่เราไม่รู้ และเมื่อพอได้รู้แล้วยิ่งทำให้การท่องเที่ยวจังหวัดอยุธยาทั้งสนุกและมีคุณค่ามากขึ้นไปอีก

“พีพีทีวี” ร่วมกับรายการ “เปิดตำนาน กับเผ่าทอง ทองเจือ” จัดทริปสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ชวนเที่ยวอยุธยาแบบ Un...

รายการเปิดตำนานกับเผ่าทอง ทองเจือ พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 คว้า 2 รางวัล ทีวีสีขาว

ที่แรกคือ “วัดส้ม”  วัดขนาดเล็กแต่กลับเป็นวัดที่แสดงหลักฐานความเจริญรุ่งเรืองของแผ่นดินแห่งนี้ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาโดย พระเจ้าอู่ทอง เมื่อปี พ.ศ.1893  โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญคือ  พระปรางค์  มีบันไดแคบสำหรับขึ้นไปกราบพระพุทธรูปด้านใน รอบพระปรางค์มีลายปูนปั้น เป้นลายกรีบบัว ลายหน้ากระดาน ลายใบไม้ ลายบัวหงาย ลายบัวถลา (กรีบคว่ำ) ปั้นจากปูนขาว

อ. เผ่าทอง นำทัพผู้โชคดีประเดิมทริปแรกที่ จ. อยุธยา

ความพิเศษอีกอย่างของพระปรางค์วัดส้ม  คือ ทับหลังปรางค์ประธานวัดส้ม เป็นทับหลังประดับส่วนบนของซุ้มจระนำ ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงด้านทิศเหนือ ลักษณะรูปแบบศิลปะที่หลงเหลืออยู่แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนบนสุดของทับหลัง ประดับด้วยลายดอกและใบผักบุ้ง ส่วนกลางของทับหลัง มีลักษณะคล้ายทับหลังในสมัยบายนของศิลปะเขมร ประกอบด้วยรูปใบไม้ม้วน 4 วง และกึ่งกลางของทับหลังมีรูปบุคคลฟ้อนรำซึ่งมาแทนที่หน้ากาลในสมัยบายน ส่วนบนของลายไม้ม้วนประดับด้วยลายกนกหันปลายในออกด้านนอก ส่วนล่างสุดของทับหลัง ประดับด้วยลายกรวยเชิง

EP.106 อยุธยา "3 ศาสนา 1 ความเชื่อ ตอน2"

ลวปุระ 2

อาจารย์เผ่าทอง อธิบายว่า ด้วยสถาปัตยกรรมของพระปรางค์ ลายปูนปั้นต่างๆ บนองค์พระปรางค์ สัณนิษฐานว่าวัดส้มแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยที่คาบเกี่ยวระหว่าง 100 ปี อาณาจักรสุโขทัย กับช่วงที่มีการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และโดยรวมของลวดลายปูนปั้น มีวิวัฒนาการมาจากโครงสร้างและลวดลายในสถาปัตยกรรมเขมร อายุการสร้างอยู่ในช่วงปลายพุทธศวรรษที่ 18

EP.109 กรุมหาสมบัติ..พระนครศรีอยุธยา

“พระปรางค์วัดส้มนั้นน่าจะได้รับการสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อเทียบกับ พรปรางค์องค์เล็กที่วัดมหาธาตุ (พ.ศ.1917) และ วัดราชบูรณะ (พ.ศ.1967)” สำหรับวัดส้ม ตั้งอยู่ติดกับคลองท่อ (คลองฉะไกรใหญ่) ทางด้านทิศตะวันตก  และการเดินทางไปครั้งนี้ได้ร่วมกันปลูกต้นประดู่ เพื่อสร้างความร่มรื่นให้กับบริเวณของวัดส้มให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

จุดหมายต่อมา วัดแม่นางปลื้ม สิ่งที่ซ่อนอยู่ด้านหลังพระวิหารหลังจากที่ได้กราบพระประธานองค์ใหญ่ คือ พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ทรงระฆัง สร้างอยู่บนฐานสูง ที่สำคัญมีสิงห์ปูนปั้นล้อมรอบ (สิงห์แบก) ลักษณะเป็นฐานบัวประดับด้วยบัวลูกฝัก รูปแบบศิลปกรรมนี้สืบทอดมาจากศิลปะเขมร-ลพบุรี นิยมอยู่ในศิลปะสมัยอยุธยา แต่ก็มีลักษณะเดียวกับสิงห์หินทรายที่นครวัด และปราสาทบายน รวมถึงวัดธรรมิกราช สัณนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกัน  คือ ไม่หลังไปกว่ารัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งมีพระราชนิยมในสถาปัตยกรรมแบบเขมร  โดยสิงห์ทุกตัวปั้นด้วยมือแบบตัวต่อตัว ส่วนพระวิหารเป็นลักษณะศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ได้รับการปฏิสังขรณ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์หน้าบันประดับด้วยเครื่องถ้วยจีนโบราณ

วัดสุดท้าย ต่อมาเป็น วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร เดิมชื่อ วัดทอง ถือเป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี (ฝ่ายชาย) สืบเนื่องจากครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ณ ที่แห่งนี้เคยเป็นบ้านเกิดของทองด้วง  ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงรับเลี้ยงเด็กชาย 3 คน คือ สิน (พระเจ้าตากสิน) ทองด้วง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และ  บุนนาค  โดยเมื่อทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดนี้ทั้งหมด สถาปัตยกรรมของวัดนี้ตัวโบสถืจะตกท้องช้าง คล้ายท้องเรือสำเภา ซึ่งเปรียบพระพุทธศาสนาดั่งนาวาธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของโบสถ์สมัยอยุธยา  และจุดที่เป็นพระประธาน คือ จุดที่ทองด้วงถือกำเนิด ส่วนพระวิหารเป็นสถานที่ทองด้วงเติบโตขึ้นมาก่อนที่จะได้เข้าถวายตัวต่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

หากมีโอกาสไปเยี่ยมชม จุดสำคัญของวัดแห่งนี้อยู่ที่จิตรกรรมฝาผนังที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงรับสั่งให้พระยาอนุศาสน์จิตรกรจิตรกรเอกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 วาดเป็นพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมีภาพสำคัญคือ ยุทธหัตถี ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เหนือทางเข้าประตูพระวิหาร

ปิดท้ายก่อนกลับกรุงเทพมหานครด้วยหนึ่ง "พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน" อันทรงคุณค่า ตั้งอยู่บริเวณมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่รวบรวมผลงานของช่างไทยโบราณที่บ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นไทยซึ่งล้วนเป็นบุคลากรฝีมือเยี่ยมที่เป็นชาวบ้าน ครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารและด้วยพระวิสัยทัศน์และพระมหากรุณาธิคุณของทั้ง 2 พระองค์ ให้ชาวบ้านมาฝึกอาชีพงานศิลป์เพื่อทรงสืบสานงานศิลป์ชั้นสูงอันเป็นศิลปะไทยฝากไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน

ภายในอาคาร 2 ชั้นจัดแสดงงานศิลป์และงานช่างฝีมือหลายสาขา เช่น ถมทอง ศิลปหัตถกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่มานิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มจากการตีแผ่นเงินเพื่อขึ้นรูปให้เป็นรูปทรงต่างๆ และทำลดลายด้วยวิธีสลักให้พื้นผิวต่ำลงไปเป็นร่องเกิดเป็นลวดลาย หรืออาจใช้วิธีเขียนลายกัดกรด โดยเขียนลวดลายลงบนผิวเงินที่ขึ้นรูปไว้แล้ว และไปแช่น้ำกรดเพื่อกัด พื้นผิวเงินให้เป็นร่องทำให้เกิดลวดลายเหมือนการสลัก ต่อจากนั้นจึงนำยาถม ซึ่งมีสีดำได้จากการหลอมโลหะหลายๆ ชนิดตามสัดส่วน มารมด้วยความร้อน ถมตามร่องของลวดลายเดิมจนเต็มเสมอพื้นผิวเงิน เมื่อตะไบให้ผิวเรียบเสมอกันนำทองคำบริสุทธิ์ ที่ผสมเป็นเนื้อเดียวกับปรอทมาทาบนชิ้นงานให้ทั่ว แล้วใช้ความร้อนเพื่อให้ปรอทระเหิดออกไปเหลือแต่ทองคำติดอยู่สีดำของยาถม สีทองของทองคำ เรียกว่า ถมทอง

หรืองานปัก อย่างฉากปักไหมน้อยเรื่อง “อิเหนา” ใช้วิธีปักซอย ต้องใช้ความะลเอียดอ่อนและความอดทนสูงของช่างปักที่บรรจงปักเส้นไหมไล่ระดับสีและแสงเงา ให้เกิดมิติงดงามเส้นไหมที่ใช้ปักใช้ไหมน้อย เป็นไหมที่เส้นละเอียดชั้นในสุดของรังไหม หากมองไกลๆจะเหมือนภาพเขียน ทว่าเมื่อพิจารณาใกล้ๆ จะเป็นฝีมือปักละเอียดประณีตงดงาม นอกจากนี้ ยังมีเครื่องเงิน เครื่องทอง แกะสลักไม้และแกะสลักตุ๊กตาไม้ จักสานย่านลิเภา ตกแต่งปีกแมลงทับ คร่ำ ลงยาสี เป็นต้น

หมายเหตุ : การเข้าชม พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน เปิดทำการ : วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 10.00 น. - 15.30 น. (จำหน่ายบัตร 9.45 - 15.00 น.) โดยราคาบัตรผู้ใหญ่ 150 บาท นักเรียน/นักศึกษา/ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 75 บาท ส่วนชาวต่างชาติสามาถใช้บัตรที่เข้าชมพระบรมมหาราชวังได้หรือซื้อด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ได้เลย

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ