​เมื่อชาติตะวันตกดราม่า "โรฮิงญา" หรือแท้จริงหวังเจาะยะไข่ไว้ในกำมือ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ขณะนี้ปัญหา "โรฮิงญา" เรียกได้ว่าเป็นเรื่องระดับชาติที่หลายฝ่ายกำลังร่วมมือกันแก้ไข ซึ่งต่างก็เข้าใจว่าชาติพันธุ์พลัดถิ่นเหล่านี้หนีมาจากยะไข่ แต่ "ดร.ปิติ" ก็ตั้งข้อสังเกตว่าเมียนมาร์ปิดชายแดนประเทศไปนานถึง 30 ปี คนกลุ่มนี้จึงไม่ได้มาจากยะไข่ แต่ชาติตะวันตกพยายามชี้นำว่ามาจากเมียนมาร์และต้องการเข้าไปจัดการโดยมีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ


หลังจากที่ทีมข่าว PPTV HD เปิดข้อมูลอีกด้านของผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงที่ระบุว่าผู้หลบหนีเข้าเมืองที่กำลังเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกนั้น จริงๆ แล้วเป็นชาวโรฮิงญาที่หนีภัยการสู้รบจากรัฐยะไข่ หรืออาระกัน ประเทศเมียนมาร์ จำนวนไม่มากนัก แต่สัดส่วนที่มากกว่าคือผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงญาจากบังคลาเทศและคนพื้นเมืองบังคลาเทศเอง ซึ่งประสบปัญหาไม่มีงานทำ จากสถานะประเทศที่ยากจน มีประชากรมากถึงกว่า 80 ล้านคน ทั้งๆ ที่เป็นประเทศเล็กๆ เท่านั้น


ข้อมูลชุดนี้ได้รับการขานรับจากหลายภาคส่วน เช่น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ซึ่งปัจจุบันรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษาของจุฬาฯ อยู่ด้วย


ดร.ปิติ เขียนบทความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดชาติตะวันตกจึงมีความพยายามชี้ประเด็นว่า ชาวโรฮิงญาที่ล่องเรือไปยังประเทศต่างๆ ผ่านทางน่านน้ำของไทย เป็นผู้หนีภัยการสู้รบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเมียนมาร์ปิดชายแดนไม่ให้คนโรฮิงญาอยู่ในประเทศมานานถึง 30 ปี ฉะนั้นชาวโรฮิงญาและบังคลาเทศที่ตะวันตกหลายๆ ฝ่ายอ้างตัวเลขการเดินทางอพยพว่ามีมากกว่า 125,000 คนนั้น ส่วนใหญ่มาจากประเทศบังคลาเทศไม่ใช่เมียนมาร์


นอกจากนี้ การตีแผ่ข้อมูลข่าวสารว่าชาวโรฮิงญากำลังถูกทารุณกรรมถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นยุทธศาสตร์ของชาติตะวันตกที่ต้องการเข้าไปมีอิทธิพลในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมอินเดีย จีน และชาติอาเซียนหรือไม่ เพราะปัจจุบันทั้งอินเดียและจีนเข้าไปมีบทบาทอย่างสูงในรัฐยะไข่ ทั้งในแง่เศรษฐกิจและความมั่นคง มีการลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ การเชื่อมต่อการขนส่งระบบรางและการวางท่อก๊าซพาดผ่านรัฐชินและยะไข่ของเมียนมาร์จากเมืองคุนหมิงของจีน ปลายทางที่เมืองซิตตะเว หรือซิตต่วย ของรัฐยะไข่


จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาบทบาทของไทยในวงประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ในวันที่ 29 พ.ค. 58 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ ว่าทิศทางของการหารือจะออกมาอย่างไร เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าชาติเอเชียอาจจับมือกันจำกัดวงให้ปัญหาโรฮิงญาให้เป็นปัญหาระดับภูมิภาค ด้วยการกดดันให้ส่งกลับผู้อพยพสู่ประเทศต้นทาง โดยเฉพาะบังคลาเทศ ซึ่งมีศูนย์พักพิงขนาดใหญ่ของชาวโรฮิงญาที่คอกซ์บาซา

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ