เปิดปูมอัจฉริยะผู้พลิกโลก "จอห์น แนช" บิดาแห่งทฤษฎีเกม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"จอห์น แนช" อัจฉริยะสติเฟื่องผู้พลิกโลก นักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันและบิดาแห่งเกมเจ้าของรางวัลโนเบลปี 1994 แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาคือผู้ที่ต้องเผชิญกับอาการป่วยเหมือนฝัน


จอห์น ฟอร์บส แนช จูเนียร์ (John Forbes Nash, Jr.) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ "จอห์น แนช" นักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันที่สร้างผลงานต่อโลกมากมาย โดยคิดทฤษฎีดุลยภาพซึ่งสำคัญกับเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ มีผลต่อการค้าและการทหารซึ่งเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติ ขณะที่ชีวิตของเขาก็ได้สอนให้เรารู้จักคุณค่าของการฉกฉวยการใช้ความคิดในขณะที่ยังเป็นหนุ่มสาว


"แนช" เกิดวันที่ 13 มิ.ย. ปี 1928 เขาเป็นเด็กอัจฉริยะในเมืองบูลฟีลด์ มลรัฐเวอร์จิเนีย เขาไม่ชอบเข้าห้องเรียน ไม่ชอบแก้โจทย์คณิตศาสตร์ในวิธีของคนอื่นๆ เพราะเขาถือว่าห้องเรียนเป็นกรอบความคิด เขาชอบค้นคว้าและคิดเองเสมอ เขามีนักวิทยาศาสตร์ในดวงใจคือ "อัลเบอร์ต ไอสไตน์"


"แนช" เป็นเด็กที่ฉายแววอัจฉริยะมาแต่เด็ก ชอบคลุกอยู่กับหนังสือ มีความสุขตามลำพัง ไม่ชอบเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ไม่พูดคุยกับใคร ไม่เป็นที่รักของครูเพราะไม่สนใจฟังคำสอน พ่อแม่ของเขากลุ้มใจมากและพยายามทำทุกวิถีทางที่จะแก้ปัญหานี้ เช่น ส่งแนชไปเข้าค่ายฤดูร้อน สั่งให้พี่สาวพาแนชออกสังคมด้วย แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ


เมื่อ "แนช" อายุได้ 12 ปีเขาได้ใช้ห้องของเขาเป็นห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ จนเมื่ออายุ 14 ปีเขาได้ทดลองทำระเบิดและเกิดระเบิดขึ้นจริงๆ แนชมักพยายามหาวิธีทำโจทย์เลขด้วยตัวเองไม่เหมือนกับที่ครูสอน คะแนนวิชาเลขของแนชในระดับประถม-มัธยมไม่ดีนักเพราะเขาไม่สนใจวิธีที่ครูสอน บ่อยครั้งที่แนชแสดงวิธีพิสูจน์คณิตศาสตร์สั้นๆ ง่ายๆ ในขณะที่ครูแสดงวิธียืดยาวสลับซับซ้อน


ความเป็นอัจฉริยะของแนชไม่เพียงเพราะเขาคิดเร็ว จำแม่น และมีสมาธิสูงเท่านั้น แต่เขายังสามารถมองไกลและเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อนยากที่ผู้อื่นจะเข้าใจทันได้ ในช่วงที่เขาเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เขามักไม่เข้าห้องเรียน แต่จะเลือกเข้าก็แต่เฉพาะเรื่องที่ตนเองสนใจ การที่แนชไม่เข้าห้องเรียนมีผลอย่างมากต่อนวัตกรรมที่เขาสร้างขึ้นเพราะการฟังความคิดหรือเชื่อในสิ่งที่คนอื่นสอนมากเกินไปอาจเป็นการปิดกั้นจินตนาการและจำกัดความคิด


แนชใช้เวลาส่วนใหญ่คิดหาคำตอบด้วยตัวเอง ทฤษฎีเกมของเขาก็มาจากการคิดค้นส่วนตัวของเขาด้วยเช่นกัน แนชเป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิชาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และเรียนจบได้อย่างรวดเร็วด้วยอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น และวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับทฤษฎีเกมของเขามีความหนาเพียง 27 หน้า และงานนี้เองที่ทำให้เขาได้รางวัลโนเบลในปี 1994


หลังจากจบปริญญาเอกแล้ว แนชได้ทำงานที่ RAND หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการคิดค้นวิจัยเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศที่นักวิชาการสาขาต่างๆ ใฝ่ฝันที่จะเข้าไปทำ เพื่อนร่วมงานรู้สึกถึงความแปลกของแนชเช่นกัน เวลาเดินสวนกันแนชไม่เคยหยุดทักโดยทำเหมือนกับว่ามองไม่เห็น ถึงกระนั้นก็ตามแนชก็พร้อมที่จะเดินเข้าไปในห้องทำงานของคนอื่นเมื่อถูกขอให้ช่วยแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่มักเขียนไว้บนกระดาน


"แนช" ได้พบรักกับ "อลิเซีย ลาร์ด" นักศึกษาปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ ของ M.I.T จากนั้นทั้งคู่ได้แต่งงานกันในปี 1953 และมีลูกชายชื่อ "จอห์นนี่"


ต่อมา "แนช" ย้ายมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน จุดหักเหในชีวิตของแนชเกิดขึ้นเมื่อเขามีอายุได้ 30 ปี เขามีอาการป่วยทางจิตที่เรียกว่า Schizophrenia เขาเริ่มที่จะเชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาว เห็นภาพต่างๆ มีลักษณะเหมือนหลับอยู่และกำลังฝัน สาเหตุของโรคยากที่จะทราบได้ แต่คาดกันว่าน่าจะเกิดจากความเชื่ออย่างมุ่งมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีเหตุมีผล (ซึ่งความเชื่อนี้เป็นต้นกำเนิดของทฤษฎีเกมของเขาด้วย) สิ่งนี้ทำให้แนชเชื่อว่าการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลจะทำให้เขาเข้าถึงความจริงทั้งปวงและนำมาซึ่งความเป็น


สัพพัญญูในที่สุด ความพยายามที่จะแสวงหาเหตุผลและคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่างนี้ทำให้เขาหลุดไปสู่โลกของความฝันเป็นเวลากว่า 30 ปี แต่แล้วก็เหมือนสวรรค์มาโปรดเมื่ออาการของแนชเริ่มดีขึ้น เขาเริ่มตื่นจากฝันเมื่อเขาอายุประมาณ 60 ปี หลังจากนั้นอีก 6 ปีข่าวดีและรางวัลเกียรติยศก็มาถึง เมื่อแนชได้รับโทรศัพท์จากสต๊อกโฮมในตอนเช้าว่าเขาได้รับรางวัลโนเบลในปี 1994 จากทฤษฎีเกมที่เขาคิดค้น


ทฤษฎีเกมของแนชมีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบันในสาขาวิชาต่างๆ มากมาย อาทิ ในสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ทฤษฎีเกมถูกใช้ในการสร้างเกมคอมพิวเตอร์ เช่น เกมหมากรุก ในสาขาคณิตศาสตร์ที่ทฤษฎีเกมได้กลายเป็นแขนงวิชาใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างสูง ในสาขาสังคมศาสตร์ที่ทฤษฎีเกมถูกนำไปใช้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคมและการเกิดของสังคม ในสาขาชีววิทยาที่ทฤษฎีเกมถูกนำไปใช้ในการอธิบายความสัมพันธ์สิ่งมีชีวิตในรูปแบบต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน (อย่างเช่นความสัมพันธ์ระหว่างนกเอี้ยงกับควายเฒ่า) และพฤติกรรมของสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นฝูง ในทางเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีเกมถูกใช้ในการอธิบายตลาดที่มีผู้ขายน้อยรายและการค้าระหว่างประเทศ และเป็นที่เชื่อกันว่าทฤษฎีเกมอาจจะทวีความสำคัญมากขึ้นจนสามารถทดแทนเศรษฐศาสตร์จุลภาคแบบเก่าไปในที่สุด


แม้ว่าแนชจะมีพฤติกรรมแปลกๆ มากมาย แต่สิ่งเหล่านี้มาจากจิตใจที่ใสบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งปรุงแต่งใดๆ และไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร เหมือนกับชื่อหนังสือ A Beautiful

Mind ที่ถ่ายทอดชีวิตของแนช ก่อนจะถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่แสดงนำโดย "รัสเซล โครว์" และคว้า 4 รางวัลออสการ์มาครอง


แนชอยู่ในโลกแห่งความฝันกว่าครึ่งชีวิตของเขา ก่อนที่จะตื่นจากฝันเหมือนกับว่าถูกปลุกขึ้นมาเพื่อรับรางวัลจากคุณประโยชน์ที่เขาได้สร้างไว้ให้กับพิภพนี้


แต่เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ปี 2015 มัจจุราชก็ได้พรากบิดาแห่งเกมไปพร้อมกับภรรยาด้วยอุบัติเหตุ ทั้งคู่โดยสารรถแท็กซี่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ แต่รถเกิดเสียการควบคุมจนพุ่งชนเข้ากับที่กั้นทางก่อนพุ่งชนกับรถยนต์คันอื่น ส่งผลให้ทั้งคู่กระเด็นออกมานอกตัวรถและเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ


โลกต้องเสียบุคคลสำคัญไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งทั้งชีวิตของเขาได้คิดและทำเพื่อส่วนร่วมมาโดยตลอด แม้ว่าช่วงชีวิตหนึ่งของเขาที่ควรจะมีความสุขกลับหายไป


ตัวตนของ "จอห์น แนช"


1. ระหว่างที่แนชศึกษาอยู่ที่ Princeton University คำตอบที่เขาให้กับเพื่อนๆ ถึงสาเหตุที่ไม่ฟังการบรรยายของอาจารย์เพราะประเทศกำลังต้องการความคิดและทฤษฏีใหม่ๆ เพื่อนำไปแข่งขันกับรัสเซีย การเข้าฟังการบรรยายของอาจารย์เกรงว่าความคิดของอาจารย์จะครอบงำความคิดของเขา กระทั่งเป็นอุปสรรคต่อการค้นพบทฤษฏีใหม่ๆ ที่เป็นโยชน์ต่อประเทศ


2. ระหว่างศึกษาแนชมีความใฝ่ฝันที่จะได้พบ "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์อยู่ที่ Princeton เขาพยายามหลายครั้งในที่สุดก็ได้พบขณะที่ไอน์สไตน์เดินออกจากบ้านพักในมหาวิทยาลัย


3. ผลงานของแนชไม่สามารถสอบผ่านในระดับปริญญาตรีได้ แต่เมื่อผลงานของเขาถูกส่งไปพิจารณาในระดับกรรมการบริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย แนชกลับได้รับเกียรติว่าวิธีคิดของแนชนั้นแท้จริงควรที่ก้าวข้ามไปศึกษาในระดับปริญญาเอก ในเวลาต่อมาแนชก็สามารถสร้างผลงานทางคณิตศาสตร์ Nash Equilibrium ของเขาและจบปริญญาเอกที่ Princeton University


4. ทฤษฏี Non-cooperative game theory ของแนชแตกต่างจากทฤษฏีเกมที่เคยมีมาก่อนหน้า ซึ่งในเกมการแข่งขันนั้นจะต้องมีผู้แพ้และชนะ ซึ่งการแข่งขันอยากที่จะสิ้นสุดจะพบเกมที่เริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ หากแต่ทฤษฏีเกมของแนชกลับพบความสมดุลสมบูรณ์อย่างแท้จริงและเป็นไปแบบธรรมชาติที่สุด


5. ทฤษฏีเกมของแนชทุกฝ่ายจะถูกดึงเข้ามาเล่นโดยธรรมชาติและต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด เมื่อสิ้นสุดเกมจะไม่มีผู้แพ้ ดุลยภาพในทฤษฏีเกมของแนชจะทำให้ผู้ร่วมในเกมจะรักษาดุลยภาพของตนให้สูญเสียน้อยที่สุด ผู้ที่ไม่เข้าร่วมในเกมจะเป็นผู้สูญเสียผลประโยชน์สูงสุด


6. หลังจากแนชสำเร็จการศึกษาและทำงานได้เพียง 3 ปี แนชกลับโชคร้ายป่วยด้วยโรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งแนชกล่าวถึงชีวิตของเขาระหว่างการรับรางวัลโนเบลว่า "สิ่งที่เขาสงสารตัวตนชีวิตของเขามากที่สุดก็คือการที่เขาไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดชั่วชีวิตของเขามันเป็นภาพหลอนหรือความจริง แม้กระทั่งการได้รับรางวัลนี้"


7. เแนชแต่งงานกับสาวงามระดับดาวของมหาวิทยาลัยและเป็นนักศึกษาระดับอัจฉริยะซึ่งเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของเขา แต่ความสุขและความงดงามในชีวิตครอบครัวของแนชอยู่ได้ไม่นานเพียงลูกยังแบเบาะ แนชต้องเป็นฝ่ายขอร้องภรรยาของเขาเพื่อแยกทางกัน เมื่อแนชพบว่าขณะที่ภาวะจิตเภทครอบงำตัวตนของเขาอยู่นั้น เขามักทำร้ายลูกและภรรยาอยู่เสมอ


8. หลังแยกทางกับภรรยา แนชใช้ชีวิตของเขาแบบคนบ้าทั่วๆ ไป แนชเดินตะรอนเรื่อยเปื่อยอย่างไร้ตัวตนและเป้าหมาย เดินไปบนถนนอยู่ตามตรอกซอกซอยราว 10 ปี


9. ในความโชคร้ายของแนชก็มีความสวยงามอยู่อย่างสมบูรณ์ เมื่อภรรยาของเขาออกตามหาและนำแนชมาอยู่ด้วยเพื่อรักษาโรคร้ายแม้ไม่ได้เป็นสามี-ภรรยากันก็ตาม เมื่ออาการของแนชเริ่มดีขึ้น แนชได้ขอร้องให้ภรรยานำเขากลับไป Princeton University อีกครั้ง แนชจะได้รับเชิญให้บรรยายแก่นักศึกษาระดับอัจฉริยะ ทุกครั้งเมื่อตัวตนของแนชหลุดพ้นจากสภาพจิตเภทครอบงำ (ชั่วคราว) และอยู่ในสภาวะปกติ


10. ระหว่างปี 1980 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำและเกิดปัญหาความขัดแย้งด้านแรงงานอย่างรุนแรง ระหว่างเกษตรกรในประเทศกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไปลงทุนด้านการเกษตรในลาตินและนำผลผลิตกลับมาทุ่มใส่ตลาดในสหรัฐฯ รัฐบาลพบทางตันหาทางออกไม่ได้ ทฤษฏีเกมของแนชที่ถูกทิ้งผุเปื่อยไร้ความสนใจอยู่นาถึง 30 ปี (1951 - 1980) ได้ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ นำมาปัดฝุ่นใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งลุล่วงประสบความสำเร็จยอดเยี่ยม รวมถึงสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองสหรัฐไปพร้อมๆ กัน นอกจากนั้นแล้วปัญหาสงครามเย็นระหว่างสหรัฐ-รัสเซีย-จีน ก็เชื่อกันว่าความสำเร็จมาจากทฤษฏีเกมของแนชด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัว


11. ปัจจุบันทฤษฏีเกมของแนชถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในด้านเศรษฐกิจ-การเมือง ทั้งภายในและระหว่างประเทศ รวมถึงการใช้ในการแข่งขันทางธุรกิจต่างๆ


12. รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เสนอผลงานของแนชเข้าชิงรางวัลโนเบลและได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1994 (Nobel Prize in Economics) แนชกล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ ขณะขึ้นรับรางวัลโนเบล "ตลอดชั่วชีวิตของผมเชื่อในตรรกะและคณิตศาสตร์ ชีวิตของผมต้องเผชิญกับสิ่งที่รบกวนตัวตนของผมมาตลอด และที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของผมก็คือสภาพที่ผมไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดชั่วชีวิตของผมมันเป็นภาพหลอนหรือความจริง แม้กระทั่งการขึ้นรับรางวัลนี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดในชีวิตของผมคือภรรยาของผม"

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ