สะท้อนแง่มุมเมื่อระบบการศึกษา รับผลกระทบโควิด-19 จนเลื่อนเปิดเทอม..


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รายการเป็นเรื่องเป็นข่าววันนี้(8 เม.ย.) สะท้อนมุมมองความคิดของเด็กๆ ผ่านบรรณาธิการข่าวการศึกษา เว็บไซต์เด็กดีดอทคอม เลื่อนเปิดเทอม เรียนออนไลน์ช่วยน้องๆได้แค่ไหน

หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอการปรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 โดยให้สถานศึกษาเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563  แต่ใช่ว่า หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม เด็กๆจะได้กลับมาเรียนตามปกติ เนื่องจากยังไม่ทราบสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะนโยบายรักษาระยะห่างยังต้องคงไว้ ดังนั้น ในเรื่องการเรียนการสอนจะทำอย่างไร   รวมไปถึงการสอบออนไลน์ การวัดผลจะเป็นอย่างไร 

ตรวจหา “โควิด-19” วิธีไหนได้มาตรฐาน พร้อมเปิดรายชื่อ รพ. รับตรวจเชื้อกลุ่มเข้าข่าย

สธ. ลั่น กลับจากตปท.ต้องกักตัว 14 วันในสถานที่ที่รัฐกำหนด

ล่าสุดวันที่ 8 เม.ย. 2563 รายการเป็นเรื่องเป็นข่าว  ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ โดยได้เชิญ มนัส อ่อนสังข์ บรรณาธิการข่าวการศึกษา เว็บไซต์เด็กดีดอทคอม  ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับระบบการศึกษา และคลุกคลีกับนักเรียน นักศึกษา มาร่วมวิเคราะห์เรื่องนี้ด้วยกัน

มนัส อ่อนสังข์ ให้ข้อมูลว่า  จากการพูดคุยกับน้องๆ ก็จะมี 2 ประเด็น โดยน้องๆ ส่วนหนึ่งเข้าใจ เพียงแต่อาจมีคิดถึงโรงเรียน คิดถึงเพื่อน แต่อีกประเด็น คือ กังวลในเรื่องการเรียนการสอน โดยเฉพาะที่มีมติว่า แต่ละโรงเรียนต้องปรับการเรียนการสอนตามที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ เมื่อเลื่อนเปิดเทอมไป จะมีการลดปิดเทอมลงหรือไม่ หรือแต่ละเทอมจะถูกบีบให้สั้นลงหรือไม่ คุณครูจะสอนทันหรือไม่ หากครูสอนไม่ทัน การบ้านต้องเยอะแน่นอน นี่เป็นตัวอย่างเสียงที่น้องๆสะท้อนออกมา

“จริงๆ แต่ละกลุ่มได้รรับผลกระทบไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มที่ยังเคว้ง ไม่มีที่เรียน กลุ่มที่จบมาแล้ว กำลังจะสมัครเรียน แต่ถูกเลื่อน เช่น ม.3 ขึ้น ม.4 หรือ ม.6 จะเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งกลุ่มหลังเหมือนจะหลุดไปแล้ว แต่จริงๆ กลุ่มนี้โดนหนักพอสมควร เพราะช่วงเวลาของเด็กกลุ่มนี้ คือ เป็นช่วงที่คะแนนออกมาพอดี ปรากฏว่าคะแนนที่ออกมา ไม่สามารถตรวจสอบคะแนนตัวเองได้เลย เพราะติดสถานการณ์โควิด-19 อย่างเดิมเมื่อคะแนนได้น้อย แต่รู้สึกว่าเราทำได้ ก็สามารถยื่นคำร้องตรวจคำตอบได้ แต่ปัจจุบันยื่นไม่ได้ก็ต้องยอมรับ” มนัส กล่าว

การตรวจสอบคะแนนสอบ ประเด็นนี้ก็ละเอียดอ่อนเช่นกัน เพราะหลายคนอาจมองว่า คะแนนที่ประกาศแล้วต้องมั่นใจว่าตรวจถูก แต่ด้วยความปีนี้โชคสองชั้น เพราะเป็นปีที่ สทศ. มีการตรวจสอบแล้วพบว่า คะแนนผิด อย่างกรณีผลคะแนน gat pat  ประกาศมารอบแรก มีน้องๆติดแฮชแทกกันในทวิตเตอร์ ว่า เป็นไปได้อย่างไร ตอบแบบเดียวกับเพื่อน แต่เพื่อนได้คะแนนเต็ม ส่วนเรากลับไม่ได้คะแนน  จนต้องตรวจสอบคะแนนใหม่และพบว่าผิดพลาดจริงๆ จึงทำให้คิดว่าวิชาอื่นเราตรวจสอบได้หรือไม่ แต่ขณะนี้ตรวจสอบไม่ได้แล้ว

อีกกลุ่มหนึ่งที่จะขึ้นม.6 ปีนี้ เป็นกลุ่มที่ได้รับข้อมูลมาว่า เลื่อนเปิดเทอม 2 เดือน ก็มีการคำนวณว่า จะต้องจบตอนเดือนไหน เพราะถ้าเลื่อนเปิดเทอม การจบก็ต้องเลื่อน และจะมีผลต่อการเข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่ จึงสงสัยว่า ทุกอย่างจะไปเริ่มใหม่หลังเม.ย.ปี 2564 หรือไม่

ส่วนหากจะมีการยุบปิดเทอม ก็ต้องขยับอีก อาจเป็นเดือน มี.ค.เป็นอย่างต่ำ เพราะจบทันที ยังสมัครไม่ได้ ต้องคิดเกรด ต้องมีใบรับรองอื่นๆอีกมากมาย เป็นไปตามขั้นตอน  ดังนั้น จากเหตุการณ์แบบนี้ ตนคิดว่าต้องมีการปรับเพื่อให้สอดคล้องกันด้วย

สำหรับการเรียนออนไลน์นั้น มนัส มองว่า การเรียนออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกนำมาใช้ได้ แต่ด้วยรากฐานการเรียนของประเทศเรา จะปรับเป็นออนไลน์ 100% คงไม่ได้ เช่น การวัดผล หรืออย่างในเว็บเด็กดี ที่น้องๆมาสะท้อนกัน ก็ต้องเข้าใจว่า คนที่เข้ามาคุยในเว็บเด็กดี ต้องมีอุปกรณ์ มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่หลายพื้นที่ก็ไม่มีสัญญาณ แม้จะมีอุปกรณ์ก็ตาม

“หากปรับเรียนออนไลน์ 100% น้องๆในหลายพื้นที่ก็เข้าไม่ถึง หรือแม้แต่การสมัครสอบ บางคนเขาต้องเหมารถกัน มาสมัครในอำเภอก็มี  ส่วนกรณีเด็กเล็กๆ ก็มีผู้ปกครองเข้ามาแสดงความคิดเห็น และต่างติดตามว่า จะมีกำหนดการชัดเจนเมื่อไหร่ และผู้ปกครองหลายท่านก็ยังมองไม่ออก ว่า รูปแบบเรียนออนไลน์จะเป็นอย่างไร แต่ก็มีข้อเสนอว่า น่าจะมีการเรียนการสอนแบบระบบกลาง หรือสอนผ่านทางทีวี สำหรับพื้นที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ” มนัส กล่าว

ข่าวดี! หน้ากาก N95 เข้าไทย 2 แสนชิ้น 10 เม.ย. นี้ พร้อมส่งถึงบุคลากรทางการแพทย์

กรณีค่าเทอมต้องลดค่าใช้จ่ายหรือไม่นั้น มนัส มองว่า ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยจะสะท้อนประเด็น เพราะจะมีค่าบำรุงสถานที่ ก็มีการเรียกร้องว่า ต้องจ่ายหรือไม่ และปัจจุบันเรียนมากเรียนน้อย ก็จ่ายแบบเหมาจ่ายเป็นก้อน ตรงนี้หลายมหาวิทยาลัยอาจต้องทบทวน แต่ก็มีบางแห่งคืนค่าบำรุงสถานที่ให้นักศึกษาแล้ว

“สำหรับข้อเสนอแนะระหว่างรอความชัดเจนนั้น ก็อย่างที่กังวลคือ การเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค.นี้ ยังไม่ชัดเจน ตรงนี้ทุกคนเฝ้าติดตามอยู่ แต่ก็เข้าใจว่าผู้ใหญ่หลายท่านกำลังจัดการอยู่ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว อยากฝากน้องๆ ว่า  3 เดือนที่เราอยู่บ้าน เราต้องใช้ให้คุ้มในเรื่องของการพัฒนาทักษะ ตรงไหนทำได้เราต้องทำ การเรียนรู้ของเราต้องไม่หยุด อยู่บ้านมีอินเทอร์เน็ต ต้องเรียนรู้ได้เสมอ” มนัส กล่าวทิ้งท้าย

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ