“ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เปิดตัวอย่าง “กลุ่มเปราะบาง” ถูกกระทบหนักจาก โควิด-19 หาแนวทางช่วยเหลือ ไปต่อด้วยกันในยุค New Normal


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กล่มคนที่ถูกหลงลืม หรือ ตกหล่น จากมาตรการเยียวยาต่างๆของรัฐ ... กลุ่มอาชีพที่ไม่สามารถมีชีวิตวิถีใหม่ที่ต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19ได้ ... แรงงานนอกระบบ ผู้ซึ่งตกงงานทันที แต่อาศัยในเมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพสูงลิ่ว ... ผู้หญิงและเด็กจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวในช่วงของการกักตัวอยู่ที่บ้าน รวมถึงกลุ่มเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง (PUI)เพราะมีประวัติใกล้ชิดผู้ติดเชื้อจนถูกรังเกียจจากชุมชน

คนเหล่านี้เป็นตัวอย่าง “กลุ่มเปราะบาง” ที่ถูกยกขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า การช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ อาจยังตกหล่น อาจยังมีคนบางกลุ่มมีความเดือดร้อนที่ยังไม่ถูกมองเห็น ไม่มีศักยภาพที่จะเข้าถึงความช่วยเหลือ หรืออยู่ในรูปแบบปัญหาที่ซ่อนอยู่ในสังคม จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุมทางไกล ที่ใช้ชื่อตอนว่า “ฝ่าวิกฤตโควิด-19 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องภายใต้หัวข้อ Living with COVID-19  ผ่านเครือข่าย RoLD Virtual Forum ของ “สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย” หรือ TIJ จากแนวคิดว่า โควิด-19 จะยังอยู่กับมนุษย์ทุกคนไปจนกว่าจะมีวัคซีนที่เข้าถึงทุกคนได้จริง ซึ่งก็ทำให้จำเป็นต้องมองไปในอนาคตว่าจะกลับไปใช้ชีวิตในภาวะนี้ได้อย่างไร โดยการประชุมเมื่อคืนวันที่ 2 พฤษภาคม 2563

7 New Normal ที่อาจได้เห็นในสังคมไทยในวันที่ โควิด-19 หายไป

เสนอคู่มือ New Normal สำหรับ “ตำรวจ” ปฏิบัติงานช่วง โควิด-19 หวั่นตำรวจถูกกักตัวจำนวนมาก กระทบความปล...

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องพูดถึง “กลุ่มเปราะบาง” ในสังคม เพราะเมื่อสังคมจะก้าวสู่ยุค New Normal ก็ต้องมาดูด้วยว่า เราหลงลืมใครไว้ข้างหลังหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ คือ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย อ้างถึงข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจาก โควิด-19 จะมีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะนำไปสู่ความถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยธนาคารโลกประเมินว่า จะมี “คนจนใหม่” เพิ่มขึ้นทันที 11 ล้านคน จะมี 25 ล้านคนต้องตกงาน และมีเด็กกว่า 1000 ล้านคนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะไม่ได้รับการศึกษา ส่วนในประเทศไทย มีแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของแรงงานในประเทศและทั้งหมดนี้ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จึงต้องมาหารือเพื่อเอ็กซเรย์กันว่า มาตรการต่างๆของรัฐ เข้าถึงทุกคนอย่างทั่วถึงหรือไม่ ยังหลงลืมใครไปหรือไม่

“ภาวะไม่ปกติใหม่ คนกลัวอดตายมากกว่ากลัวไวรัส อาจต้องเปิด-ปิดเมือง ไปเรื่อยๆ”

“โลกหยุด แต่ละอาชีพไม่ได้โดนหยุดแบบเดียวกัน” คือ ประเด็นแรกในการนำเสนอของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea Group (เจ้าของ การีนา ช้อปปี้ แอร์เพย์) ซึ่งมองเห็นว่า มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากปัญหาการแพร่ระบาดของ โควิด-19 พร้อมนำเสนองานวิจัย ที่แยกกลุ่มอาชีพต่างๆออกเป็น 4 กลุ่ม โดยมีตัวชี้วัด 2 ด้าน คือ “ลักษณะงานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด” และ “ความง่าย หรือ ยาก ในการทำงานที่บ้าน”

จากงานวิจัยชิ้นนี้ จะพบว่า อาชีพที่ได้รับผลกระทบน้อย คืออาชีพที่ทำงานที่บ้านได้ ไม่ต้องพบคนจำนวนมาก เช่น นักสังคมวิทยา นักเศรษฐศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาเว็บไซต์ ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย จึงไม่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือใดๆ

ในทางกลับกัน อาชีพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก โควิด-19 และมาตรการปิดเมือง คือ อาชีพที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ และลักษณะงานต้องเสี่ยงออกมาพบคนจำนวนมากจึงจะมีรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานบริการและกลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น คนขับแท็กซี่ พนักงานขับรถสาธารณะ งานทำความสะอาด งานร้านอาหาร มัคคุเทศก์  ครูในโรงเรียนระดับประถมวัย รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมาตรการเยียวยา หากเป็นผู้มีรายได้น้อย หรือ ขาดรายได้ไปเลย จะต้องใช้ระบบสวัสดิการเข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการ “ให้เงิน” เพื่อให้ “อยู่บ้านได้โดยไม่อดอยาก” ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยก็ทำแล้ว แต่ยังพบว่ามีช่องโหว่ โดยเฉพาะข้อมูลอาชีพในระบบสวัสดิการของรัฐยังไม่ชัดเจน ทำให้ยังมีคนตกหล่น ไม่ได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือ รวมทั้งเสนอว่า “รัฐอาจต้องเข้าไปช่วยจ้างงานชั่วคราวแทนนายจ้างเอกชนที่ได้รับผลกระทบ” พร้อมยกตัวอย่างว่า หากรัฐต้องการแรงงานในการเข้าไปช่วยในการรักษาการเว้นระบยะห่างตามสถานที่ต่างๆ ตรามจุดแจกของ หรือตลาด เพื่อจัดตำแหน่งคนที่มาใช้บริการ ก็สามารถว่าจ้างคนกลุ่มนี้ไปเป็นแรงงานเพิ่มได้

ส่วนอาชีพที่ได้รับผลกระทบปานกลางในช่วงนี้ แต่จะมีผลกระทบในระยะยาว คือ อาชีพที่ทำงานที่บ้านได้ยาก แต่ลักษณะงานไม่ต้องพบเจอคนมาก เช่น ผู้ควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน ช่างทำแบบหล่อโลหะ คนงานปลูกพืช งานก่อสร้าง คนงานด้านสายการผลิต ช่างพ่นสีขัดเงา ซึ่งแม้จะยังพอทำงานได้ในช่วงนี้ แต่ในระยะยาวซึ่งเป็น “โลกยุคหลังโควิด” มีแนวโน้มสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและหุ่นยนต์ โดยเฉพาะเมื่อมีโรคระบาดเช่นนี้ ทำให้นายจ้างอาจหันไปสนใจที่จะใช้เครื่องจักรมาแทนแรงงานเร็วกว่าที่คาดไว้ จึงมีข้อเสนอว่า มาตรการการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพเหล่านี้ในระยะสั้น คือ การปลดล็อคให้กลับไปทำงานได้โดยเร็ว แต่ต้องคิดระยะยาวด้วย คือ การพัฒนาทักษะฝีมือ แนะแนวอาชีพ สร้างทักษะใหม่

กลุ่มอาชีพสุดท้าย คือ ลักษณะงานที่โดยปกติจะต้องเจอคนเยอะ แต่สามารถใช้อินเทอร์เน็ต ใช้โลกออนไลน์ในการทำงานได้ เช่น อาจารย์ระดับมัธยมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย งานค้าขาย ตัวแทนจัดหางาน แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า หากขาดทักษะการทำงานทางออนไลน์ ขาดอุปกรณ์ อยู่ในพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตหรืออินเทอร์เน็ตไม่เสถียร หรือ ค่าอินเทอร์เน็ตแพงเกินไป ก็จะทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับงานรูปแบบเดิม จึงเสนอมาตรการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ คือ ต้องทำให้อินเทอร์เน็ตทั่วถึงทุกพื้นที่ละมีค่าบริการถูกต้อง มีอุปกรณ์ให้ใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลน มีการฝึกอบรมทักษะการทำงานหรือค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์

จากงานวิจัยชิ้นนี้ ดร.สันติธาร จึงมองว่า เรากำลังอยู่ใน “ภาวะไม่ปกติใหม่” (New Abnormal) คือ อยู่ในช่วงที่ยังมี โควิด-19 เจ็บแล้วแต่ยังไม่จบ และยังไม่ใช่โลกหลังยุค โควิด-19 แต่เป็นช่วงเวลาที่ยังต้องอยู่ร่วมกับ โควิด-19 ไปจนกว่าจะมีวัคซีน ซึ่งเมื่อมีผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง คนก็จะกลัวอดตายมากกว่ากลัวไวรัส นั่นหมายความว่าในระหว่างนี้ แม้จะตัดสินใจเปิดเมือง แต่ก็มีโอกาสที่จะกลับมาปิดอีกได้เสมอ

“ตกงาน ถูกไล่ออก ไร้ที่อยู่ ตกหล่นจากการเยียวยา คนที่น่าเป็นห่วงทั้งภัยโควิด ทั้งสภาพเศรษฐกิจ”

เอด้า เทใจดอทคอม,เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม ชุมชนการให้เพื่อสังคมไทย
“เทใจดอทคอม” เป็นแพลตฟอร์มระดมทุน ที่ขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งในช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 และจากการระดมทุนเข้าไปช่วยเหลือผู้คนจำนวนมาก ทำให้ เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม ชุมชนการให้เพื่อสังคมไทย เห็นถึงกลุ่มเปราะบางที่ยังตกหล่นจากมาตรการเยียวยาต่างๆของรัฐ เธอกล่าวว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สามารถแยกกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบในระยะแรกออกเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ ลูกจ้าง รับจ้างรายวัน (Lower Middle Income)

กลุ่มที่สอง คือ ครอบครัวที่มีผู้สูงวัย มีโรคประจำตัว หรือมีผู้พิการอยู่ในครอบครัว ซึ่งการขาดรายได้ ตกงาน และยังถูกจำกัดพื้นที่ ถูกจำกัดการเดินทาง ทำให้เข้าถึงยารักษาโรคทำได้อย่างยากลำบาก 

กลุ่มที่สาม คือ คนจนเมือง ซึ่งหมายถึงเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพมหานคร กลุ่มนี้จึงถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบทันทีและเป็นผลกระทบที่หนักหน่วงจากการตกงานตามมตรการปิดเมือง เพราะการอาศัยในเมืองใหญ่มีค่าครองชีพสูง มีค่าอาหาร ค่าที่พัก ที่เป็นรายจ่ายประจำ แต่รายได้กลับหายไป กลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่เข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐได้ยากด้วย เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเมืองที่ทำงาน ส่วนระบบฐานข้อมูลของรัฐ เช่น ข้อมูลประชากรในชุมชนแออัดที่รัฐมีกับประชากรจริงมีความต่างกันมากพอสมควร รวมทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เพราะส่วนใหญ่อยู่ร่วมกันหลายคนในสถานที่พักอาศัยซึ่งไม่กว้างขวาง หากต้องกักตัวเองจะทำไม่ได้

กลุ่มสุดท้าย คือ ครอบครัวยากจนที่อยู่ในพื้นที่ที่ Lockdown ซึ่งมีผลทั้งต่อความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้นๆ และมีผลทำให้ความช่วยเหลือเข้าไปได้ยาก ดังนั้นกลุ่มคนที่น่ากังวลที่สุด คือ คนที่ถูกไล่ออก ตกงานทันที ไร้บ้าน ไม่มีที่อยู่ และตกหล่นจากมาตรการความช่วยเหลือของรัฐ ซึ่งเมื่อมีมาตรการปิดเมือง ยิ่งทำให้การหาตัวคนกลุ่มนี้เป็นไปได้ยาก และหากเปิดเมือง ก็จะเป็นกลุ่มที่พร้อมจะเคลื่อนที่ไปจุดต่างๆที่มีงานทำ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการได้รับหรือแพร่เชื้อ โควิด-19

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม แยกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ช่วยเหลือตามความต้องการพื้นฐานของชุมชน อาหาร ยารักษาโรค เครื่องใช้พื้นฐานในเรื่องสุขอนามัย ระยะกลาง ต้องปรับไปเป็นการช่วยสร้างรายได้และช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้คนกลุ่มเปราะบางรับมือได้หากผลกระทบจาก โควิด-19 จะยังอยู่นานกว่าที่คิด ส่วนในระยะยาว จะเน้นไปที่การเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาสังคมอื่นๆ ที่ตามมา ทั้งเรื่องการศึกษา คนไร้บ้าน สุขภาพจิต ปัญหา รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม

เอด้า กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ Taejai.com ทำหน้าที่หลักคือ รับบริจาคเงิน แต่ด้วยความต้องการของกลุ่มเปราะบางค่อนข้างจะเร่งด่วน มีหลายกรณีที่คนติดต่อเข้ามาแล้วอยากมีของเลย ซึ่งสอดคล้องกับคนที่อยากช่วยก็มีของแล้วเหมือนกัน จึงทำเว็บไซต์ Infoaid.org ขึ้นมา เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้น เช่น ข้อมูลโรงพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ ตำแหน่งพื้นที่ไหนขาดอะไรบ้าง นอกจากนี้ทางเทใจดอทคอมยังทำโครงการในลักษณะ Sandbox เพื่อจ้างงานชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น กรุงเทพฯ ยะลา ปัตตานี  โดยคำนึงถึงเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย ซึ่งผลที่ออกมาก็ถือว่าได้การตอบรับจากชุมชนค่อนข้างดี โดยเฉพาะงานที่มีความต้องการอยู่ในชุมชนอยู่แล้วจริงๆ เช่น ที่จังหวัดยะลา มีการจ้างคนทำอาหารแจกเด็กๆ ซึ่งตอบโจทย์สิ่งที่ชุมชนต้องการพร้อมทั้งช่วยเรื่องการจ้างงานด้วย

“ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ภัยเงียบยุคโควิด บ้าน ไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน”

“มีเด็กผู้หญิงที่ถูกพ่อข่มขืนตั้งแต่อายุ 12 ปี จนปัจจุบันอายุ 18 ปี เธออยู่บ้านกับพ่อที่ทำร้ายเธอและย่าที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงซึ่งเป็นคนเดียวที่รู้เรื่องนี้ ด้วยความเป็นห่วงย่า ทำให้เธอไม่กล้าบอกเรื่องนี้กับใคร จนเธอตัดสินใจบอกความจริงกับอา แต่ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้ต่อสู้เพื่อให้มีบาดแผลเป็นหลักฐาน จนวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เธอถูกข่มขืนอีก จนร้องไห้ เกิดอาการซึมเศร้าที่โรงเรียน จึงเล่าให้เพื่อนฟัง ... เพื่อนจึงไปเล่าให้ครูฟัง จนได้รับการช่วยเหลือ”

สันทนี ดิษยบุตร อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ตัวอย่างนี้ถูกเล่าโดย สันทนี ดิษยบุตร อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในบ้าน ภายในครอบครัว เป็นปัญหาที่ยากจะถูกบอกกล่าวออกมา และเมื่อมีมาตรการปิดเมือง อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ จึงกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ช่วยให้ไฟของความรุนแรงในครอบครัวปะทุขึ้นอย่างเงียบๆ แม้ว่าจากการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จะพบว่า สถิติของเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวในปีนี้ คือ 103 กรณี ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คือ 155 กรณี แต่ก็เชื่อกันว่า ตัวเลขที่ลดลง อาจไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริง เพราะเป็นไปได้มากว่า ผู้ที่ถูกกระทำ จะเข้าไม่ถึงช่องทางการแจ้งเหตุเพราะอยู่ในช่วงมาตรการปิดเมือง เช่น เด็กผู้หญิงคนนั้น ก็จะไม่สามารถส่งเรื่องราวของเธอไปถึงเพื่อนหรือครูได้เลยเมื่อไม่ได้ออกไปไหน

อัยการสันทนี อธิบายเพิ่มว่า ปัญหานี้ หากมองในมิติของผู้ถูกกระทำ จะเห็นว่าการกักตัว ตกงาน ขาดรายได้ มีผลต่อความเครียด เมื่อสามีเครียด ก็มีโอกาสที่จะทำร้ายภรรยามากขึ้น

ขณะเดียวกัน เมื่อมองในมิติของหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ก็จะพบปัญหาเช่นกัน เพราะเมื่อการได้ข้อมูลข่าวสารจากผู้ถูกกระทำยากขึ้น การลงพื้นที่ในช่วงที่มีไวรัสระบาดก็ยากขึ้น เจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อยลงจากการปิดเมือง หรือการทำงานเหลื่อมเวลา ซึ่งเมื่อเข้าถึงผู้ถูกกระทำได้ยาก การช่วยเหลือก็ล่าช้า การสืบข้อมูลจากผู้ถูกกระทำก็ยาก การใช้งานศูนย์พักพิงต่างๆก็มีข้อจำกัดเรื่องการกักตัว ซึ่งหมายถึงทำให้กระบวนการยุติธรรมทั้งหมดล่าช้าไปด้วย

ยิ่งหากมองในมิติของชุมชน ก็จะเห็นปัญหาชัดขึ้น เพราะมาตรการอยู่แต่ในบ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้การแจ้งข่าวจากผู้กระทำไปสู่คนในชุมชนยากขึ้นอย่างมาก

อัยการสันทนี เน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ยากขึ้นในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด เป็นเพราะผู้ถูกกระทำเข้าไม่ถึงช่องทางการแจ้งเหตุ ดังนั้นจึงต้องหาช่องทางให้เข้าถึงความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น เช่น มีสถานที่พักพิงเพิ่มขึ้น มีร้านค้าที่ยังเปิดขายได้อย่างร้านขายยา ถูกกำหนดให้เป็นจุดรับแจ้งเหตุ รวมทั้งยังยกตัวอย่างเทคโนโลยี ที่มีชื่อว่า My Sis ซึ่งเป็นเครื่องมือให้ผู้เสียหาย มีช่องทางในการแจ้งเหตุผ่านแชตบอท ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ถูกกระทำกล้าเปิดเผยข้อมูลง่ายขึ้น ยังเป็นประโยชน์ในกระบวนการสืบสวน เพราะจะทำให้หน่วยงานต่างๆเหมือนมี “กระดานชนวน” แผ่นเดียวกัน เป็นถังข้อมูลกลาง ไม่ต้องไปสอบถามผู้เสียหายซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบทางจิตใจมาก ดังนั้นนี่อาจเป็น New Normal ของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ใช้อย่างแพร่หลายนัก แต่เมื่อมีข้อจำกัดจาก โควิด-19 ก็อาจทำให้ถูกนำมาใช้เป็นช่องทางหลัก และอาจจะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวดีขึ้นในระยะยาว

“หาสถานที่รองรับกลุ่มเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง โควิด-19 กักตัวเองที่บ้านไม่ได้ ถูกรังเกียจจากสังคม”

“มันค่อนข้างอึดอัดนะฮะ เพราะว่าที่บ้าน แฟนเสียชีวิตด้วยโรค โควิด-19 และเขาก็กระจายข่าวกันที่บ้าน ผมก็อึดอัด ก็เลยโทรมาที่โรงพยาบาล ปรึกษาว่า มันอยู่ไม่ไหวอ่ะ เพราะว่าสภาพจิตใจผม มันก็เป็นผู้สูญเสียนะฮะ มันก็แย่พอควรแล้ว แล้วก็มาเจอชาวบ้านกดดัน ผมก็เลยแสดงความรับผิดชอบตัวเองดีกว่าว่าผมอยากไปอยู่ข้างนอก เพื่อจิตใจผมจะได้ดีขึ้นด้วย เพราะอยู่ที่บ้าน ผมไม่ไหว”

นี่คือส่วนหนึ่งจากการเปิดใจของผู้กักตัวเองที่ศูนย์กักแยกปทุมธานี ซึ่ง ดาวดี ชาญพานิชย์การ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์การพัฒนาความรู้ จำกัด และ ผู้จัดการสนามโครงการที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก ปทุมธานี ชี้ให้เห็นว่าการมีที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกของคนที่มีข้อจำกัดต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มรับจ้างที่มีรายได้จำกัดและอาศัยอยู่กับครอบครัวที่แออัด เมื่อเป็นผู้เข้าข่ายสอบสวนโรค (PUI) แต่ที่พักอาศัยไม่ตอบโจทย์ ไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ ทำให้ชุมชนไม่ตอบรับ จึงต้องมีศูนย์ที่พักเพื่อการกักแยกเพื่อแยกคนเหล่านี้ออกมาจากครอบครัวและชุมชน เมื่อมีสถานที่กักตัว พวกเขาก็กล้าแสดงตัว เพราะทำให้ชุมชนปลอดภัย และการลดความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อในชุมชน ก็เป็นการช่วยลดภาระของโรงพยาบาลด้วย

นอกจากที่ปทุมธานีแล้ว ดาวดี ยังยกตัวอย่าง Local Quarantine ของ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ที่ทางโรงพยาบาลอำเภอยะรังและสาธารณสุขอำเภอ จัดตั้งขึ้น โดยใช้โรงเรียนเป็นที่ตั้งศูนย์ เพื่อรับเคส PUI จากโรงพยาบาล รับกลุ่มคนกลับจากมาเลเซียแต่มีความซ้ำซ้อนในการดูแล และไม่พร้อมกลับไปกักตัวที่บ้าน โดยระบุว่า ความท้าทายของศูนย์แห่งนี้คือนอกจาก  โควิด-19 แล้ว ยังเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไข้มาลาเรียด้วย ซึ่งจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ของที่นี่ทำงานหนักมากขึ้น การมีศูนย์เพื่อการกักแยกแบบนี้จึงมีส่วนช่วยลดภาระเป็นอย่างมาก เมื่อผ่านการกักตัว 14 วันที่ศูนย์แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ยังได้รับถุงยังชีพ ปัจจัยดำรงชีพ ใบยกเลิกการสั่งกักตัวจากอำเภอ และใบรับรองอนุญาตให้เดินทางในจังหวัดปัตตานีได้ ถือเป็นการตอกย้ำว่า “ศูนย์จะต้องเป็นหน่วยพื้นฐานในการลดโอกาสการแพร่เชื้ออย่างเป็นรูปธรรมและมีมนุษยธรรม โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบางในสังคม”

“ความช่วยเหลือเข้าไม่ถึงทุกคน เพราะปัญหาการบริหารจัดการ ซึ่งออกแบบร่วมกันได้”

“ตัวอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างสะเทือนใจมาก คือ ข่าวที่เกษตรกรต้องทิ้งนมสดไปเนื่องจากโรงเรียนปิด รวมถึงการที่ต้องทิ้งไข่ไก่ไปเพราะว่าส่งออกไม่ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน เรายังมีเด็กๆในชุมชนมากมายที่ขาดอาหาร หรือ ขาดสารอาหารจากการปิดเมือง”

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ผู้ที่สร้าง "โครงการแบ่งปัน" ที่ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกษตรกรต้องทิ้งนมสดและไข่ไก่ไปในขณะที่ยังมีความต้องการอาหารจำนวนมาก ว่าสะท้อนให้เห็นการเชื่อมต่อข้อมูลที่ไม่มีความชัดเจน เป็นปัญหาจากการบริหารจัดการ ซึ่งหากเราทำให้ทั้งสองฝ่ายมาพบกันได้ก็จะแก้ปัญหาได้ จึงนำเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการจัดตั้งกลุ่มแชตบอท ที่ชื่อว่า “กลุ่มแบ่งปัน” ขึ้นมาเป็นจุดเชื่อมของคนที่เดือดร้อนและคนที่ต้องการบริจาค ซึ่งพบว่า มีผู้ต้องการที่จะแบ่งปันจำนวนมาก แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะไปแบ่งปันได้ที่ไหน

การทำงานของแชตบอท “กลุ่มแบ่งปัน” แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ แบ่งปัน-รับปัน-บอกต่อ ซึ่งจะช่วยในการแบ่งปันอาหารได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น สำหรับผู้บริจาคที่ไม่สะดวกจะลงไปในพื้นที่ เครือข่ายก็จะจัดหาร้านอาหารในชุมชนให้เป็นผู้ทำอาหารและนำไปบริจาคต่อให้ 

ทีมงานของ “กลุ่มแบ่งปัน” เป็นอาสาสมัครที่ส่วนใหญ่ไม่รู้จักกัน มีหลักการทำงาน ไม่จับเงิน ไม่จับของ ไม่มีรายรับใดๆจากการดำเนินการ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเมื่อ 18 เมษายน 2563 ได้ดำเนินการแบ่งปันอาหารไปแล้วถึง 10,000 ชุด ถูกบอกต่อมากกว่า 200 ครั้ง นั่นหมายถึงว่าในแต่ละจุดที่มีการแจกอาหารก็จะมีการแจกอาหารอยู่ที่ประมาณ 40 – 60 ชุด ซึ่งไม่ใช่จำนวนมากที่จะก่อให้เกิดความแออัดของคน ดังนั้น จึงมีข้อเสนอไปยังกลุ่มภาคเอกชนและมูลนิธิต่างๆ เพื่อให้ช่วยกันคิดกระบวนการช่วยเหลือต่อจากนี้ไป ว่าเราจะสามารถแจกอาหารอย่างไรให้ถูกต้อง ช่วยลดขั้นตอนการทำงานและส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และควรคิดร่วมกันว่าจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยอย่างไรทั้งจากคนที่ต้องการอาหาร คนที่อยากแบ่งปันและกรุงเทพมหานครเอง

ส่วนปัญหากลุ่มเปราะบาง ดร.สุทธาภา มองว่าจะมีกลุ่มเปราะบางเกิดขึ้นใหม่ใน 2 รูปแบบ ในสถานการณ์ โควิด-19

รูปแบบแรก เกิดจากแนวทางในการตรวจหาเชื้อการตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ และถูกมองว่า อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะมีแนวคิดที่จะปล่อยให้คนที่มีภูมิคุ้มกันสามารถออกไปร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือสังคมได้มากกว่าคนที่ไม่มี ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีคำตอบว่าถูกหรือผิด แต่จะเกิดสังคมสองระดับขึ้น เช่นเด็กที่มีภูมิคุ้มกัน จะกลับไปที่โรงเรียนได้ แต่เด็กที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันไปโรงเรียนไม่ได้  

รูปแบบที่สอง ดร.สุทธาภา นิยามว่าเป็น “กลุ่มเปราะบางทางดิจิทัล” ซึ่งถูกเร่งให้เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 เพราะการเปิดเมืองในแบบ New Normal จำเป็นที่จะต้องอาศัยเครื่องมือทางดิจิทัลมากขึ้นในการดำรงชีพ แต่นี่เป็น “อนาคตที่มาถึงเร็วเกินไป” สำหรับคนจำนวนมากซึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก และตัวอย่างในหลายประเทศ ก็พบว่า การปิดเมืองให้คนอยู่บ้าน ทำให้เกิดอาชญากรรมทางไซเบอร์สูงขึ้นมาก เพราะคนจำนวนมาก ไม่มีความเข้าใจโลกดิจิทัล

อัปเดตข่าว โควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 3 พ.ค. 63

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 3 พ.ค. 63

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ